ข้ามไปเนื้อหา

วารสารวิชาการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก บทความวิชาการ)
วารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์นับเป็นวาสารวิชาการสาขาหนึ่ง

วารสารวิชาการ (อังกฤษ: academic / scientific / scholarly journal) หมายถึงวารสารที่ตีพิมพ์เป็นระยะอย่างสม่ำเสมอและจะต้องผ่านการตรวจคุณภาพบทความโดยผู้รู้ในสาขาวิชานั้นๆ หรือที่เรียกวารสารประเภทนี้เป็นการเฉพาะว่าวารสารผ่านการทบทวน (peer-reviewed periodical) วารสารวิชาการเป็นเวทีสำหรับการแนะนำและนำเสนอผลงานค้นคว้าวิจัยใหม่หรือความเห็นทางวิชาการใหม่ๆ เพื่อรับการตรวจสอบและการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้รู้ด้วยกัน ปกติเนื้อหาสาระในวารสารจะอยู่ในรูปของบทความเสนอ งานวิจัยที่มีความเริ่มแรก บทปริทัศน์ และการวิจารณ์หนังสือ งานตีพิมพ์ทางวิชาการและวิชาชีพที่ไม่มีการตรวจรับคุณภาพเรียกโดยทั่วไปว่า นิตยสารวิชาชีพ (professional magazine)

คำ วารสารวิชาการ ใช้กับสิ่งตีพิมพ์วิชาการทุกสาขา วารสารเหล่านี้อภิปรายถึงแง่มุมต่างๆ ในเชิงวิชาการของสาขานั้นๆ

บทความวิชาการ

[แก้]

ในวงวิชาการ นักวิชาการและนักวิชาชีพจะยื่นเสนอบทความของตนที่ไม่ได้รับการเชื้อเชิญโดยตรงจากบรรณาธิการ เพื่อลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เมื่อได้รับต้นฉบับบทความแล้ว บรรณาธิการหรือคณะบรรณาธิการจะพิจารณาตรวจบทความว่าสมควรรับหรือไม่รับไว้ในทันทีก็ได้ หรืออาจเริ่มกระบวนการตรวจแก้คุณภาพโดยผู้รู้ในสาขาวิชา ในกรณีหลัง บทความยื่นเสนอจะกลายเป็นเอกสารลับที่ปกปิดชื่อผู้เขียนเพื่อดำเนิน การทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน (peer-review) ซึ่งเป็นบุคคลผู้รู้ภายนอกที่บรรณาธิการเป็นผู้เลือก จำนวนผู้ตรวจแก้ หรือ "กรรมการ" ผู้ตรวจแก้ไม่ตายตัว โดยทั่วไปมีจำนวน 3 คน แต่จะต้องไม่น้อยกว่า 2 คน บรรณาธิการอาศัยความเห็นของคณะผู้ตรวจแก้เป็นเครื่องตัดสินว่าบทความที่บุคคลผู้นั้นเสนอมาสมควรได้รับการตีพิมพ์หรือไม่ (ดูกระบวนการนี้ในบทความหลักเรื่อง "การทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน")

ในบางกรณี บทความที่ผ่านการตรวจแก้และได้รับการยอมรับให้ลงพิมพ์ได้ยังต้องผ่านขั้นตอนการตรวจแก้อย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่งโดยคณะบรรณาธิการก่อนส่งแท่นพิมพ์ เนื่องจากกระบวนการตรวจแก้และยอมรับบทความใช้เวลายาวนาน บทความที่เสนอและได้รับการตีพิมพ์จึงใช้เวลานานนับเดือน หรืออาจถึงปีนับจากวันที่ บรรณาธิการได้รับบทความ

กระบวนการทบทวนโดยผู้รู้เสมอกันนับเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับผลงานวิจัยและความรู้ใหม่ในสาขาวิชานั้นๆ นักปราชญ์หรือผู้รู้ย่อมเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งเฉพาะในสาขาวิชาของตน ดังนั้น นักวิชาการจึงต้องอาศัยวารสารวิชาการที่ผ่านกระบวนการทบทวนโดยผู้รู้เสมอกันเท่านั้นเพื่อเป็นการพิสูจน์ความถูกต้อง สร้างความเชื่อถือและความเลื่อมใสให้เกิดแก่งานวิจัยนั้นๆ และความรู้ใหม่ นอกจากนี้ วารสารวิชาการยังช่วยสร้างความต่อเนื่องหรือการต่อยอดสืบจากงานค้นคว้าวิจัยหรือความรู้ใหม่จากบุคคลในวงวิชาการนั้นๆ ต่อไป

บทปริทัศน์

[แก้]

องค์ประกอบสำคัญของวารสารวิชาการอีกองค์หนึ่งได้แก่ "บทปริทัศน์" ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า "บทปริทัศน์ก้าวหน้า" (rewiews of progress) ถือเป็นการตรวจสอบบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างๆ วารสารวิชาการบางฉบับอุทิศเนื้อที่เกือบทั้งหมดในวารสารสำหรับบทปริทัศน์ บางฉบับก็มีบทปริทัศน์เป็นส่วนน้อย แต่วารสารวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีบทปริทัศน์ บทปริทัศน์ส่วนใหญ่ทบทวนงานวิจัยที่เพิ่งลงในวารสารฉบับก่อนๆ บางฉบับอาจทบทวนบทความวิจัยที่ลงเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ได้ บางฉบับจะลงบทปริทัศน์เฉพาะเรื่อง บางฉบับลงอย่างกว้างๆ มีหลายฉบับที่ตีพิมพ์บทปริทัศน์เป็นชุด แต่ละชุดลงบทปริทัศน์ของวิชาหนึ่งๆ เป็นรายปี บางฉบับมากกว่า 1 ปี

บทปริทัศน์แตกต่างกับบทความวิจัยที่มักเป็นการเชื้อเชิญผู้เขียนให้เขียนมาลงในวารสาร บางบางฉบับมีการเตรียมการวางแผนการลงบทปริทัศน์ล่วงหน้าเป็นรายปี ผู้เขียนบทปริทัศน์อาจได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินก็ได้

บทวิจารณ์หนังสือ

[แก้]

บทวิจารณ์หนังสือวิชาการเป็นการตรวจสอบหนังสือเกี่ยวกับงานวิจัยที่นักวิชาการตีพิมพ์ สิ่งที่แตกต่างจากบทความวิชาการได้แก่การที่ผู้เขียนมักได้รับการเชิญจากบรรณาธิการ ปกติวารสารวิชาการจะมีบรรณาธิการเฉพาะบทวิจารณ์หนังสือแยกจากบรรณาธิการบทความวิชาการเพื่อพิจารณาโดยเฉพาะว่าหนังสือวิชาการหรือหนังสือตำราเล่มใดควรได้รับการวิจารณ์ และจะให้ใครเป็นผู้วิจารณ์ ผู้วิจารณ์จะได้รับหนังสือที่จะวิจารณ์ฟรีจากวารสารวิชาการที่เป็นผู้ขอมา ความยาวและความลึกของบทวิจารณ์หนังสือวิจัยหรือตำราของแต่ละวารสารมีความแตกต่างกันไปไม่เท่ากัน

เกียรติภูมิ

[แก้]
วารสารวิจัยประเภทต่างของต่างประเทศที่มีการทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน

เกียรติภูมิ หรือชื่อเสียงของวารสารวิชาการแต่ละวารสารได้มาด้วยเวลาที่ยาวนานและด้วยปัจจัยสะท้อนหลายอย่าง บางวารสาร แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่สามารถสะท้อนเกียรติภูมิได้ด้วยเชิงปริมาณ ในแต่ละสาขาวิชาการมักจะมีวารสารที่โดดเด่นอยู่ท่ามกลางวารสารวิชาการอื่นๆ ในสาขาเดียวกัน ซึ่งบ่งชี้โดยจำนวนผู้ยื่นบทความเพื่อขอให้พิจารณาตีพิมพ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลทำให้วารสารฉบับนี้มีบทความดีๆ มาให้ตรวจสอบและคัดสรรเชิงคุณภาพได้มากกว่าวารสารฉบับอื่น แต่ไม่แน่เสมอไปที่วารสารวิชาการขนาดใหญ่ที่สุดดังกล่าวจะได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด ตัวอย่างเช่นในวงการวิชาการประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งมีวารสารขนาดใหญ่ที่โดดเด่นอยู่ 2 ฉบับ คือ "ประวัติศาสตร์อเมริกันปริทัศน์" (en:American Historical Review American Historical Review) และ "วารสารประวัติศาสตร์อเมริกัน" (Journal of American History) และมีวารสารวิชาการประวัติศาสตร์เฉพาะเรื่องที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้รู้เสมออีกนับสิบฉบับที่เจาะลึกเน้นตามช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ เน้นตามลักษณะเนื้อหา เช่น เฉพาะประวัติศาสตร์สงคราม หรือเน้นตามภูมิภาค ซึ่งวารสารวิชาการเหล่านี้ แม้จะเล็กและแคบ แต่ก็ได้รับการยอมรับในคุณภาพว่าอยู่ในระดับสูงมากไม่แพ้วารสารประวัติศาสตร์โดยรวมขนาดใหญ่ดังกล่าว

ในสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและสาขาสังคมศาสตร์ที่ลงลึก มักยึด "ปัจจัยผลกระทบ" (impact factor) เป็นตัวชี้วัดหรือเป็นตัวสะท้อนเกียรติภูมิที่แจงนับได้ โดยการนับจำนวนผู้อ้างอิงบทความวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนั้น นอกจากนี้ยังมีวิธีแจงนับเชิงปริมาณแบบอื่น เช่นการได้รับการอ้างอิงโดยรวม จากความรวดเร็วที่บทความในวารสารได้รับการอ้างอิง หรือจาก "เวลาครึ่งชีวิต" โดยเฉลี่ยของบทความ เช่น เมื่อบทความของวารสารไม่ได้รับการอ้างอิงอีกต่อไป มีการตั้งคำถามว่าปัจจัยผลกระทบที่นำมาใช้ชี้วัดเชิงปริมาณดังกล่าวนี้สามารถสะท้อนให้เห็นเกียรติภูมิที่แท้จริงของสารสารได้หรือไม่ วารสารสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้รับการยอมรับและจัดระดับโดย "ดัชนีอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์" (Science Citation Index) และวารสารวิชาการสาขาสังคมศาสตร์ใช้ "ดัชนีอ้างอิงสังคมศาสตร์" (Social Science Citation Index)

ในสาขามนุษยศาสตร์ (humanities) โดยเฉพาะแนวอังกฤษ-อเมริกันไม่มีวิธีการตายตัวที่ใช้ในการแจงนับ "ปัจจัยผลกระทบ" เพื่อนำมาใช้ในการจัดระดับวารสารดังที่ใช้กับสาขาวิทยาศาสตร์ เหตุผลอาจเป็นเพราะว่าวารสารวิชาการไม่ใช่ตัวชี้วัดสำคัญเพียงอย่างเดียวที่สามารถนำมาใช้ได้ในการจัดระดับชื่อเสียงหรือเกียรติภูมิของวารสารวิชาการสาขามนุษยศาสตร์

การบริหารการเงิน

[แก้]

วารสารวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นวารสารที่ไม่แสวงกำไร [ต้องการอ้างอิง] จึงมักได้รับเงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยหรือจากองค์การวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งวารสารวิชาการก็สามารถมีรายได้จากการโฆษณาหรือจากการแจ้งความ เพื่อแปลงร่างเป็นซุปเปิร์ไซย่า [ต้องการอ้างอิง] นำรายได้มาใช้เป็นค่าจัดพิมพ์ ปกติสำนักพิมพ์วารสารวิชาการจะคิดค่าบอกรับเป็นสมาชิกวารสารจากห้องสมุดสูงกว่าจากการบอกรับของสมาชิกทั่วไป การบอกรับของสถาบันจะสูงหลายพันบาทถึงหลายหมื่นบาท บรรณาธิการของวารสารวิชาการโดยทั่วไปมักมีความรับผิดชอบด้านวิชาชีพของตนอยู่ด้วย เช่น เป็นศาสตราจารย์สอนหนังสืออยู่ด้วย สำหรับวารสารวิชาการขนาดใหญ่มักต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นลูกจ้างประจำเต็มเวลาช่วยทำหน้าที่ตรวจบทความในกองบรรณาธิการ ส่วนการจัดพิมพ์เกือบทั้งหมดทำโดยพนักงานประจำที่กินเงินเดือน ผู้พิมพ์และโฆษณาวารสารวิชาการโดยทั่วไปคือสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัย เช่น สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University Press) หรือ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นต้น

พัฒนาการใหม่ๆ

[แก้]

ความก้าวหน้าทางอินเทอร์เน็ตได้ปฏิรูปทั้งตัวบทความและหนทางเข้าถึงบทความด้วยการเอื้อให้สามารถสืบค้นวารสารวิชาการออนไลน์ของห้องสมุดวิชาการต่างๆ ที่ผู้สืบค้นเป็นสมาชิกโดยเข้าสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต บทความวิชาการแต่ละบทความจะมีดัชนี

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ:

  • การเข้าถึงออนไลน์: ห้องสมุดวิชาการต่างๆ เสนอวารสารวิชาการออนไลน์ ทำให้ผู้ใช้สามารถสืบค้นบทความผ่านอินเทอร์เน็ตได้สะดวก โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ห้องสมุด
  • การสืบค้นที่สะดวก: บทความวิชาการแต่ละบทความจะมีดัชนี ทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาบทความที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่สนใจได้ง่ายขึ้น
  • รูปแบบบทความ: บทความวิชาการในรูปแบบดิจิทัลสามารถนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น มัลติมีเดีย กราฟิก และอินเทอร์แอกทีฟ
  • การเผยแพร่แบบ Open Access: วารสารวิชาการบางฉบับเปิดให้นักวิจัยสามารถเผยแพร่ผลงานวิจัยได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าตีพิมพ์

ตัวอย่างการพัฒนาใหม่ ๆ:

  • แพลตฟอร์มออนไลน์: มีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับเผยแพร่และสืบค้นวารสารวิชาการ เช่น ResearchGate, Academia.edu และ Sci-Hub
  • เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล: เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Altmetric ช่วยให้นักวิจัยสามารถติดตามผลกระทบของงานวิจัย
  • การตรวจสอบบทความแบบออนไลน์: มีการพัฒนาระบบการตรวจสอบบทความแบบออนไลน์ เช่น ScholarOne Manuscripts ช่วยให้กระบวนการตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การแปลภาษา: มีการแปลบทความวิชาการเป็นภาษาต่างๆ เพื่อขยายการเข้าถึงผลงานวิจัย

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]