ข้ามไปเนื้อหา

นีล บาร์ตเลตต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นีล บาร์ตเลตต์
เกิด15 กันยายน ค.ศ. 1932(1932-09-15)
นิวคาสเซิลอะพอนไทน์ สหราชอาณาจักร
เสียชีวิต5 สิงหาคม ค.ศ. 2008(2008-08-05) (75 ปี)
วอลนัตครีก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ
สัญชาติสหราชอาณาจักร
พลเมืองสหรัฐ
ศิษย์เก่าวิทยาลัยคิงส์ มหาวิทยาลัยเดอรัม (มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในปัจจุบัน)
มีชื่อเสียงจากการสังเคราะห์สารประกอบของแก๊สมีสกุลชนิดแรก
รางวัลCorday–Morgan Prize (1962)
Steacie Prize (1965)
Elliott Cresson Medal (1968)
Welch Award in Chemistry (1976)
Davy Medal (2002)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาเคมี
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย
มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์

นีล บาร์ตเลตต์ (อังกฤษ: Neil Bartlett; 15 กันยายน ค.ศ. 1932 – 5 สิงหาคม ค.ศ. 2008) เป็นนักเคมีที่ศึกษาเกี่ยวกับธาตุฟลูออรีนและสารประกอบของธาตุฟลูออรีน และเป็นที่รู้จักจากการสังเคราะห์สารประกอบของแก๊สมีสกุลได้เป็นคนแรก เขาเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์

ประวัติ

[แก้]

บาร์ตเลตต์เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1932 ในเมืองนิวคาสเซิลอะพอนไทน์ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร[1] เขาเริ่มสนใจวิชาเคมีตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนไวยากรณ์ฮีตัน (Heaton Grammar School) จากการทดลองหนึ่งในชั้นเรียนซึ่งเขาสังเคราะห์ผลึกที่ "ก่อตัวอย่างดีและสวยงาม" จากสารประกอบระหว่างสารละลายแอมโมเนียและคอปเปอร์(II) ซัลเฟต ซึ่งในขณะนั้นบาร์ตเลตต์มีอายุเพียง 11 ปี[2] เขาสร้างห้องทดลองที่บ้านของเขาเองโดยใช้สารเคมีและเครื่องแก้วที่หาซื้อได้จากร้านขายเครื่องมืออุปกรณ์ในละแวกบ้าน บาร์ตเลตต์เข้าศึกษาระดับปริญญาที่วิทยาลัยคิงส์ มหาวิทยาลัยเดอรัม (ซึ่งต่อมาแยกตัวออกไปเป็นมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล[3]) บาร์ตเลตต์สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิตใน ค.ศ. 1954 และดุษฎีบัณฑิตใน ค.ศ. 1958[4]

หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก บาร์ตเลตต์เข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียในเมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ก่อนจะเลื่อนขึ้นเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน[4] ที่บริติชโคลัมเบียนี้เองที่บาร์ตเลตต์ค้นพบว่าแก๊สมีสกุลนั้นสามารถเกิดพันธะเคมีได้ เขาสอนที่บริติชโคลัมเบียก่อนจะย้ายไปที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันใน ค.ศ. 1966 โดยดำรงตำแหน่งนักวิจัยในเบลล์แลบอราทอรีส์ควบคู่ไปด้วย ต่อมาใน ค.ศ. 1969 เขาย้ายไปที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (ยูซีเบิร์กลีย์) จนกระทั่งเกษียณอายุใน ค.ศ. 1993 ซึ่งระหว่างที่บาร์ตเลตต์อยู่ที่ยูซีเบิร์กลีย์นั้น เขายังเป็นนักวิจัยที่สถาบันทดลองแห่งชาติลอว์เรนซ์ เบิร์กลีย์ระหว่าง ค.ศ. 1969 ถึง ค.ศ. 1999[4] บาร์ตเลตต์ได้สถานะพลเมืองสหรัฐใน ค.ศ. 2000[1]

นีล บาร์ตเลตต์สมรสกับคริสตินา บาร์ตเลตต์และมีบุตรด้วยกันสี่คน[5] เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 2008 จากภาวะท่อเลือดแดงโป่งพอง[5]

งานวิจัย

[แก้]

ผลงานหลักของบาร์ตเลตต์ได้แก่การศึกษาสมบัติทางเคมีของธาตุฟลูออรีนและสารประกอบของธาตุฟลูออรีน ใน ค.ศ. 1962 บาร์ตเลตต์สังเคราะห์สารประกอบของแก๊สมีสกุลชนิดแรกได้แก่ซีนอนเฮกซะฟลูออโรแพลทิเนต[6][7] (Xe+[PtF6]) ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดเดิมที่ว่าแก๊สมีสกุลไม่สามารถเกิดสารประกอบเคมีชนิดใดได้ หลังจากนั้นบาร์ตเลตต์ค้นคว้าต่อและสามารถสังเคราะห์สารประกอบฟลูออไรด์ของซีนอนชนิดอื่น ๆ ได้แก่ซีนอนไดฟลูออไรด์ (XeF2) ซีนอนเตตระฟลูออไรด์ (XeF4) และซีนอนเฮกซะฟลูออไรด์ (XeF6)[8] นอกจากนี้เขายังสังเคราะห์สารประกอบของทองคำที่มีเลขออกซิเดชัน +5 ได้เป็นครั้งแรกได้แก่อูนเดคะฟลูออโรซีนอนเฮกซะฟลูออโรออเรต(V) (Xe2F11+AuF6) โดยใช้สมบัติทางเคมีของซีนอนเฮกซะฟลูออไรด์[9]

การยกย่อง

[แก้]

ใน ค.ศ. 1968 บาร์ตเลตต์ได้รับเหรียญเอลเลียตต์ เครสสันจากสถาบันแฟรงคลิน ใน ค.ศ. 1973 เขาได้รับเลือกเป็นภาคีสมาชิกแห่งราชสมาคม ต่อมาใน ค.ศ. 1976 เขาได้รับรางวัลเวลช์จากการสังเคราะห์สารประกอบของแก๊สมีสกุลซึ่งนำไปสู่งานวิจัยด้านเคมีอนินทรีย์สาขาใหม่ และได้รับเลือกเป็นภาคีสมาชิกสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกันใน ค.ศ. 1977[10] และภาคีสมาชิกชาวต่างชาติของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ใน ค.ศ. 1979 ต่อมาใน ค.ศ. 2002 เขาได้รับรางวัลเหรียญเดวีจากการค้นพบสารประกอบของแก๊สมีสกุล

ใน ค.ศ. 2006 สมาคมเคมีแห่งสหรัฐและสถาบันเคมีแห่งประเทศแคนาดาได้เลือกให้การค้นพบสารประกอบของแก๊สมีสกุลที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียเป็นหมุดหมายที่สำคัญทางประวัติศาสตร์วิชาเคมีแห่งชาติ (National Historic Chemical Landmarks) ว่าเป็น "พื้นฐานความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพันธะเคมี"[1]

บาร์ตเลตต์ได้รับเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาเคมีตั้งแต่ ค.ศ. 1963 จนถึง ค.ศ. 1966 แต่ไม่เคยได้รับรางวัล[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Neil Bartlett and the Reactive Noble Gases". American Chemical Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 มกราคม 2013. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2012.
  2. Jolly, William L. "Neil Bartlett, In Memoriam". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2014.
  3. "Universities of Durham and Newcastle upon Tyne Act 1963" (PDF). Newcastle University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 5 July 2010. สืบค้นเมื่อ 7 October 2010.
  4. 4.0 4.1 4.2 Henderson, Project Editor, Andrea Kovacs (2009). American Men & Women of Science – 26th Edition. Farmington Hills, MI: Gale. p. 397. ISBN 978-1-4144-3301-1. {{cite book}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  5. 5.0 5.1 Barnes, Michael (8 December 2008). "Neil Bartlett, emeritus professor of chemistry, dies at 75". Neil Bartlett, emeritus professor of chemistry, dies at 75. UC Berkeley News. สืบค้นเมื่อ 12 July 2014.
  6. Bartlett, Neil (1962). "Xenon hexafluoroplatinate(V) Xe+[PtF6]". Proceedings of the Chemical Society. 1962 (6): 218. doi:10.1039/PS9620000197.
  7. Hargittai, Istvan (2009). "Neil Bartlett and the first noble-gas compound" (PDF). Structural Chemistry. 20 (December): 953–959. doi:10.1007/s11224-009-9526-9. S2CID 94962566. สืบค้นเมื่อ 27 August 2018.
  8. Bartlett, Neil (2000). Forty Years of Fluorine Chemistry: King's College, Newcastle, The University of British Columbia, Princeton University, and The University of California at Berkeley. University of Manchester Institute of Science and Technology.
  9. Banks, R. E. (2000). Fluorine Chemistry at the Millennium: Fascinated by Fluorine. Elsevier Science. p. 60. ISBN 978-0-08-043405-6.
  10. "Book of Members, 1780–2010: Chapter B" (PDF). American Academy of Arts and Sciences. สืบค้นเมื่อ 19 May 2011.
  11. https://old.nobelprize.org/nomination/archive/show_people.php?id=13013 เก็บถาวร 2022-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Nobel Prize nomination database

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]