การนวดแผนไทย
นวดไทย การนวดแผนไทย * | |
---|---|
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก | |
ท่ากดสะโพกในการนวดแผนไทย | |
ประเทศ | ไทย |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
สาขา | แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล, ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล |
เกณฑ์พิจารณา | R.1, R.2, R.4, R.5 |
อ้างอิง | 01384 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2562 (คณะกรรมการสมัยที่ 14) |
รายการ | ตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาที่ดี ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
นวดไทย การนวดแผนไทย หรือ การนวดแผนโบราณ เป็นการนวดชนิดหนึ่งในแบบไทย ซึ่งเป็นศาสตร์บำบัดและรักษาโรคแขนงหนึ่งของการแพทย์แผนไทย โดยจะเน้นในลักษณะการกด การคลึง การบีบ การดัด การดึง และการอบ ประคบ ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ "นวดแผนโบราณ" โดยมีหลักฐานว่านวดแผนไทยนั้นมีประวัติมาจากประเทศอินเดีย โดยเชื่อว่าน่าจะมีการนำการนวดเข้ามาพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และมีการนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน [1] จากนั้นได้ถูกพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากันกับวัฒนธรรมของสังคมไทย จนเป็นรูปแบบแผนที่เป็นมาตรฐานของไทยและส่งทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ในปัจจุบันผู้คนมักจะสับสนระหว่างการนวดแบบรักษา และการนวดเพื่อสุขภาพ(นวดผ่อนคลาย) ซึ่งทั้งสองรูปแบบมีการนวดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
การนวดแบบรักษา เป็นการกระทำเพื่อการตรวจ วินิจฉัย บำบัด รักษา ป้องกันโรค และส่งเสริมฟื้นฟูร่างกายโดยใช้ศิลปะการนวดไทย รวมไปถึงกรรมวิธีการแพทย์แผนไทยด้วย และเป็นผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย ประเภทการนวดไทย (พท.น.) หรือใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย ประเภทเวชกรรมไทย (พท.ว.) ที่ออกโดยสภาการแพทย์แผนไทยเท่านั้น
การนวดรักษาแบ่งเป็น 2 สาย คือ สายราชสำนักและสายเชลยศักดิ์
- การนวดแบบราชสำนัก เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของการนวดนี้คือ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ที่อยู่ในรั้วในวัง ฉะนั้นการนวดจึงถูกออกแบบที่เน้นการใช้นิ้วมือและมือเท่านั้น และท่วงท่าที่ใช้ในการนวดมีความสุภาพเรียบร้อย มีข้อกำหนดในการเรียนมากมาย ผู้ที่เชี่ยวชาญทางวิชาชีพด้านนี้ จะได้ทำงานอยู่ในรั้วในวังเป็นหมอหลวง มีเงินเดือนมียศมีตำแหน่ง[2][3]
- การนวดแบบเชลยศักดิ์ เป็นการนวดที่ใช้ในระดับชาวบ้านด้วยท่าทางทั่วไป ไม่มีแบบแผนหรือพิธีรีตองในการนวดมากนัก อีกทั้งยังสามารถใช้อวัยวะอื่น ๆ เช่น เข่า ศอก เท้า เพื่อช่วยทุ่นแรงในการนวดได้ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากการนวดแบบราชสำนักที่เน้นการใช้มือเพียงอย่างเดียว[4]
การนวดเพื่อสุขภาพ รู้จักการในชื่อ นวดผ่อนคลาย หรือมักเรียกติดปากกันว่า นวดแผนไทย เป็นการนวดเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพเท่านั้น ไม่มีผลกับการบำบัดหรือรักษาโรค โดยผู้นวดอาจจะจบจากการอบรมนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง หรือสถาบันอื่น ๆ ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
การนวดไทยเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะที่มีมาแต่โบราณ เกิดจากสัญชาตญาณเบื้องต้นของการอยู่รอด เมื่อมีอาการปวดเมื่อยหรือเจ็บป่วยตนเองหรือผู้ที่อยู่ใกล้เคียงมักจะลูบไล้บีบนวดบริเวณดังกล่าว ทำให้อาการปวดเมื่อยลดลง เริ่มแรก ๆ ก็เป็นไปโดยมิได้ตั้งใจ ต่อมาเริ่มสังเกตเห็นผลของการบีบนวดในบางจุด หรือบางวิธีที่ได้ผลจึงเก็บไว้เป็นประสบการณ์ และกลายเป็นความรู้ที่สืบทอดกันต่อ ๆ มา จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ความรู้ที่ได้จึงสะสมจากลักษณะง่าย ๆ ไปสู่ความสลับซับซ้อน จนสามารถสร้างเป็นทฤษฎีการนวด จึงกลายมาเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีบทบาทบำบัดรักษาอาการและโรคบางอย่าง[5]
ประวัติการนวดแผนโบราณ
[แก้]จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการนวดแผนไทยที่เก่าแก่ที่สุด คือ ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยที่ขุดพบในป่ามะม่วง ซึ่งตรงกับสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งได้จารึกรูปการรักษาโรคด้วยการนวดไว้[6]
ต่อมาในสมัยอยุธยามีหลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการนวดแผนไทยในปี พ.ศ. 1998 ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งหน้าที่ของแพทย์ตามความชำนาญเฉพาะทาง โดยแยกเป็นกรมต่าง ๆ เช่น กรมแพทยา กรมหมอยา กรมหมอกุมาร กรมหมอนวด กรมหมอตา กรมหมอวัณโรค โรงพระโอสถ นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดศักดินาและดำรงยศตำแหน่งเป็น หลวง ขุนหมื่น พัน และครอบครองที่นาตามยศและศักดินาที่ดำรง ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมาย "นาพลเรือน" ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นยุคที่การนวดแผนไทยรุ่งเรืองมาก โดยปรากฏในจดหมายเหตุของราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสชื่อ ลา ลู แบร์ ในปีพ.ศ. 2230 ว่า[4][7]
ในกรุงสยามนั้น ถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มทำเส้นสายยืด โดยให้ผู้ชำนาญทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้ แล้วใช้เท้าเหยียบ กล่าวกันว่าหญิงมีครรภ์มักใช้ให้เด็กเหยียบเพื่อให้คลอดบุตรง่ายไม่พักเจ็บปวดมาก
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ราว พ.ศ. 2375 ทรงให้วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ในปัจจุบัน) เป็นมหาวิทยาลัยของปวงชน ทรงให้เลือกสรรและปรับปรุง ตำรายาสมุนไพรรอบพระอาราม และทรงโปรดให้ปั้นรูปฤๅษีดัดตนซึ่งเป็นรูปหล่อด้วยสังกะสีผสมดีบุกเพิ่มเติม จนครบ 80 ท่า พร้อมโปรดให้เขียนโคลงอธิบายท่าเหล่านั้น แก้โรคนั้น จนครบ 80 ท่า และจารึกสรรพวิชาการนวดแผนไทยลงบนแผ่นหินอ่อน 60 ภาพ แสดงถึงจุดนวดอย่างละเอียดประดับบนผนังศาลาราย และบนเสาภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ถือได้ว่าเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการนวดแผนไทยไว้อย่างเป็นระบบ
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ราว พ.ศ. 2449 ทรงให้กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย กรมหมื่นอักษรสาสน์โสภณและหลวงสารประเสริฐ ได้ชำระตำราการนวดแผนไทย และเรียกตำราฉบับนี้ว่า “ตำราแผนนวดฉบับหลวง” ตำรานวดนี้ใช้เรียนในหมู่แพทย์หลวง หรือแพทย์ในพระราชสำนัก และในในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ผู้ที่มีชื่อเสียงมากในการนวดในขณะนั้นคือ หมออินเทวดา ซึ่งเป็นหมอนวดในราชสำนัก ได้ถ่ายทอดวิชานวดทั้งหมดให้แก่บุตรชายคือ หมอชิต เดชพันธ์ ซึ่งต่อมาได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ ความรู้เกี่ยวกับการนวดแผนโบราณนั้นเริ่มแพร่หลายและเปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไปเมื่อประมาณ 30 ปีมานี้ [8]
มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
[แก้]เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลาประมาณ 1.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 14 ที่กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนการนวดแผนไทย ภายใต้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Nuad Thai, traditional Thai massage" เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในประเภท "รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity" นับเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้รายการที่สองของประเทศไทย [9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไปของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข
- ↑ ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย, คู่มืออบรม การนวดไทยแบบเชลยศักดิ์, มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา,พิมพ์ที่ บริษัท สามเจริญพาณิชย์(กรุงเทพ) จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2548, หน้า 4,14 ISBN 974-93017-0-6
- ↑ มานพ ประภาษานนท์, นวดไทย สัมผัสบำบัดเพื่อสุขภาพ, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4 มีนาคม 2549, หน้า 22, ISBN 974-323-642-2
- ↑ 4.0 4.1 ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย, คู่มืออบรม การนวดไทยแบบเชลยศักดิ์, มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา, พิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2548, หน้า 14 ISBN 974-93017-0-6
- ↑ ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไปของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข
- ↑ ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย, คู่มืออบรม การนวดไทยแบบเชลยศักดิ์, มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา,พิมพ์ที่ บริษัท สามเจริญพาณิชย์(กรุงเทพ) จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2548, หน้า 11 ISBN 974-93017-0-6
- ↑ Jan Chaithavuthi & Kanchanoo Muangsiri, Thai Massage the Thai Way: Healing Body and Mind, พิมพ์ที่ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2550, หน้า 30 ISBN 978-974-88159-2-3
- ↑ ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไปของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข
- ↑ Nuad Thai, traditional Thai massage
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ความเป็นมานวดแผนไทย เก็บถาวร 2009-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2018-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- thai massage[ลิงก์เสีย]