นกแต้วแร้วป่าโกงกาง
นกแต้วแร้วป่าโกงกาง | |
---|---|
รูปวาดนกแต้วแร้วป่าโกงกาง | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Passeriformes |
วงศ์: | Pittidae |
สกุล: | Pitta |
สปีชีส์: | P. megarhyncha |
ชื่อทวินาม | |
Pitta megarhyncha Schlegel, 1863[1] |
นกแต้วแร้วป่าโกงกาง หรือ นกแต้วแร้วป่าชายเลน (อังกฤษ: Mangrove pitta; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pitta megarhyncha) เป็นนกแต้วแร้วชนิดหนึ่ง
เดิมเคยถูกจัดให้เป็นชนิดย่อยของนกแต้วแร้วธรรมดา (P. moluccensis) แต่ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นชนิดต่างหากแยกออกมา ซึ่งชื่อวิทยาศาสตร์มาจากภาษาละตินโดยคำว่า "megas" แปลว่า "ใหญ่" และ "rhynch" หรือ "rhunkhos" แปลว่า "ปาก" รวมความหมายคือ "นกที่มีปากใหญ่"
ลักษณะ
[แก้]นกแต้วแร้วป่าโกงกางเป็นนกขนาดเล็ก ความยาวจากปลายปากจดหาง 18-21 เซนติเมตร ลักษณะทั่วไปคล้ายนกแต้วแร้วธรรมดามาก เพียงแต่ว่านกแต้วแร้วป่าโกงกางบริเวณกระหม่อมเป็นสีน้ำตาลเข้มแทนที่จะเป็นสีดำเหมือนนกแต้วแร้วธรรมดา นอกจากนี้นกแต้วแร้วป่าโกงกาง จะมีปากที่ใหญ่และยาวกว่าโดยยาวประมาณ 4.0 เซนติเมตร ในขณะที่นกแต้วแร้วธรรมดามีปากยาว 3.0 เซนติเมตร ใต้ท้องสีคล้ำกว่า คางสีออกขาว การจำแนกชนิดให้ดูจากลักษณะสีของลำตัวประกอบกับพื้นที่หากิน อันเป็นอุปนิสัยเฉพาะของนกชนิดนี้เป็นส่วนสำคัญในการจำแนกชนิด [2]
พฤติกรรมและถิ่นอาศัย
[แก้]มีพฤติกรรมมักหากินตัวเดียวโดดเดี่ยว ด้วยการกระโดดหากินตามพื้นชายเลนที่น้ำทะเลลดลงแล้ว ชอบร้องตลอดเวลาที่หากิน เสียงคล้ายนกแต้วแร้วธรรมดาแต่เบาไม่ก้องกังวาน โดยร้องว่า "วิ๊วว วิ๊วว" เมื่อตกใจจะบินขึ้นต้นไม้ แต่ไม่สูงมากนัก บินเร็วและตรงแหล่งอาศัยหากิน อาศัยอยู่เฉพาะในป่าชายเลนซึ่งมีไม้ประเภทโกงกาง, เสม็ดขาว, เสม็ดแดง, ตะบูน, ทองหลางป่า หากินตามพุ่มไม้และพื้นดิน ในช่วงน้ำทะเลลดจะลงมาหากินแถวหาดเลน จับกุ้ง, ปู, หอย, ปูเปี้ยว และสัตว์ชายเลนหน้าดินชนิดมีและไม่มีเปลือกกิน นอกจากนี้ก็ขุดรังปลวก หากินปลวก ตัวอ่อนและไข่ของปลวก และแมลงตามพื้นดินหรือโคนไม้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะพบหากินตามที่ดอนที่เป็นโคกหรือเนินสูงในป่าชายเลนมากกว่าตามพื้นที่มีรากหายใจของต้นโกงกางขึ้น เมื่ออิ่มจะขึ้นพักเกาะนอนตามกิ่งไม้ที่ทอดเอนเหนือน้ำหรือในที่รกทึบใกล้น้ำ ฤดูผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ จับคู่ทำรังในเดือนมีนาคม-สิงหาคม รังคล้ายรังนกแต้วแร้วธรรมดา คือ เป็นรูปทรงกลมมีทางเข้าออกอยู่ด้านข้าง ภายนอกใช้กิ่งไม้เล็ก ๆ เป็นโครงแบบหลวม ๆ ปิดภายนอกด้วยใบไม้แห้ง, เส้นใยพืช หรือเถาวัลย์เส้นเล็ก ๆ ภายในเป็นแอ่งวางไข่ ปูพื้นรังด้วยรากฝอยของพืชหรือเส้นโครงใบที่พื้นใบย่อยสลายแล้วการแพร่กระจายพันธุ์ เป็นนกประจำถิ่นของบังคลาเทศ, สุมาตรา สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบยาก หรืออาจพบบ่อยในบางท้องที่ตามชายฝั่งทะเลของพม่า, ชายฝั่งทะเลทางใต้ด้านตะวันตกของไทย, คาบสมุทรมลายู, มาเลเซียและสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทยพบตามชายฝั่งทะเลในภาคใต้ด้านตะวันตก โดยแหล่งที่พบเห็นได้ง่ายและพบบ่อย คือ ป่าชายเลนในตัวอำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่[3] [4]
จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 จาก IUCN
- ↑ Pittas in Thailand
- ↑ Robson, Craig (2005). New Holland field guide to the birds of South-East Asia. Kenthurst, New South Wales: New Holland Publishers. p. 76. ISBN 1-84330-746-4.
- ↑ Strange, Morten (2000). Photographic Guide to the Birds of Southeast Asia. Singapore: Periplus. p. 219. ISBN 962-593-403-0.
- ↑ สัตว์ป่าคุ้มครอง
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pitta megarhyncha ที่วิกิสปีชีส์