เสม็ดแดง
เสม็ดแดง | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Rosids |
อันดับ: | Myrtales |
วงศ์: | Myrtaceae |
สกุล: | Syzygium |
สปีชีส์: | S. antisepticum |
ชื่อทวินาม | |
Syzygium antisepticum | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
เสม็ดแดง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Syzygium antisepticum ชื่อพ้อง: Syzygium gratum)[2] หรือ เสม็ดชุน เหม็ดชุน ผักเม็ก ผักเสม็ด ไคร้เม็ด เม็ก เม็ดชุน เสม็ด เสม็ดเขา ยีมือแล เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางมีความสูงโดยทั่วไป 7 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบอ่อนสีแดง เปลือกสีน้ำตาลแดง แตกสะเก็ดแผ่นบางๆ โคนต้นที่มีอายุมากมักเป็นพูพอน ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบรูปหอกแกมรูปไข่สีเขียว ใบด้านบนเป็นมัน ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ดอกสีขาว ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ออกดอกเดือน มีนาคม-เมษายน ผลสีขาวทรงกลมขนาดเล็ก มีเนื้อเมล็ดเดี่ยว ออกผลเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
เป็นพืชที่สามารถพบในป่าดิบแล้งโดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร ได้แก่ หมู่เกาะสุมาตรา ชวา และเกาะบอร์เนียว พบขึ้นตามป่าธรรมชาติทุกภาคของประเทศไทย[3] สันนิษฐานว่าใช้ในการอ้างอิงเป็นชื่อของเกาะเสม็ด ปัจจุบันหาได้ยากในลักษณะที่เป็นผักสด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]เสม็ดแดง หรือ Syzygium antisepticum จัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (Myrtaceae) ชื่ออื่น: ผักเสม็ด, ผักเม็ก (นครราชสีมา); ไคร้เม็ด (เชียงใหม่); เม็ก (ปราจีนบุรี); เม็ดชุน (นครศรีธรรมราช); เสม็ด (สกลนคร, สตูล); เสม็ดเขา, เสม็ดแดง (ตราด); เสม็ดชุน (ภาคกลาง); ยีมือแล (มลายู – ภาคใต้)
เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางมีความสูงโดยทั่วไป 7 เมตร สามารถสูงได้ 10-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกสีน้ำตาลแดง แตกสะเก็ดแผ่นบางๆ โคนต้นที่มีอายุมากมักเป็นพูพอน
กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ใบอ่อนสีแดง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบรูปหอกแกมรูปไข่สีเขียว ใบด้านบนเป็นมัน ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม
ดอกสีขาว ถึง สีเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนงตามปลายกิ่งและซอกใบ ช่อดอกยาว 8-12 ซม. ดอกไม่มีก้านดอก ฐานรองดอกรูปถ้วย ปากแคบ ขนาด 4-10 มม. กลีบเลี้ยง 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ยาว 5-10 มม[4] มักมีดอกดกและดอกบานพร้อมกัน ออกดอกเดือน มีนาคม-เมษายน
ผลสีขาว สีขาวขุ่น ทรงกลมขนาดเล็ก ขนาด 8-12 มม.[4] มีเนื้อเมล็ดเดี่ยว ผลอ่อนสีเขียว[5] ติดผลดกเป็นพวง ผลรสหวาน[3] ออกผลเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
เสม็ดแดง ต่างจาก เสม็ดขาว ที่มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกัน คือ ทรงของใบ เส้นใบ สีของยอดอ่อน สีของเปลือกต้น
การใช้ประโยชน์
[แก้]ต้นอายุน้อยใช้ปลูกในสวนสมุนไพร ลำต้นที่มีอายุมากใช้ประดับสวน มีผิวที่สวยโดดเด่น ให้ร่มเงาในบ้าน แข็งแรงและดูแลง่าย สามารถเพาะพันธุ์จากเมล็ด และ ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง
ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสเปรี้ยวอมฝาด ลวก หรือใช้รับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ขนมจีนหรือข้าวยำ [6] ในใบเสม็ดแดง (ผักเม็ก) มีสารออกซาเลต (Oxalate) สูง การรับประทานสดหรือจำนวนมากอาจเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไตได้[7]
ใช้ใบสดตำพอกแก้เคล็ดขัดยอกฟกบวม ตำรับยาพื้นบ้านอีสาน ยอดอ่อน กินเป็นยาขับลม แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อในเด็ก[3][8]
-
ผลสดสีขาวทรงกลมขนาดเล็ก
-
เปลือกสีน้ำตาลแดงแตกสะเก็ดเป็นแผ่น
-
ดอกสีขาวขนาดกระทัดรัดออกเป็นช่อกระจุก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "The Plant List: A Working List of All Plant Species". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-09-27. สืบค้นเมื่อ 18 January 2015.
- ↑ http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_28_6.htm
- ↑ 3.0 3.1 3.2 https://www.thairath.co.th/content/376130
- ↑ 4.0 4.1 http://www.qsbg.org/Database/Botanic_Book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=1231
- ↑ http://www.natres.psu.ac.th/FNR/vfsouthern/index.php/2013-10-26-10-11-55/9-uncategorised/157-2014-01-25-08-43-14[ลิงก์เสีย]
- ↑ อรทัย เนียมสุวรรณ นฤมล เล้งนนท์ กรกนก ยิ่งเจริญ พัชรินทร์ สิงห์ดำ. 2555. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของพืชกินได้จากป่าชายเลนและป่าชายหาดบริเวณเขาสทิงพระ จังหวัดสงขลา[ลิงก์เสีย]. วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 40 (3): 981 - 991
- ↑ http://piromwaroon.blogspot.com/2013/01/syzygium-gratum-wight-s.html
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-30. สืบค้นเมื่อ 2020-10-22.