ธานี วีระเดชะ
ธานี วีระเดชะ | |
---|---|
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ | |
ดำรงตำแหน่ง 22 เมษายน พ.ศ. 2522 – 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 | |
ก่อนหน้า | ชัชวาล ชุติมา |
ถัดไป | สุบิน ปิ่นขยัน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 2 มีนาคม พ.ศ. 2459 กรุงเทพมหานคร |
เสียชีวิต | 30 มีนาคม พ.ศ. 2532 (73 ปี) |
พันตำรวจเอก ธานี วีระเดชะ เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ 1 สมัย สังกัดพรรคชาติไทย จากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2522[1][2] เป็นอดีตผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่
ประวัติ
[แก้]พันตำรวจเอก ธานี วีระเดชะ เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2459 เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ พันตำรวจเอก พระยากำจัดโสณฑทุจริต (บุญมี วีระเดชะ) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และคุณหญิงถนอม กำจัดโสณฑทุจริต [2] เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน ด้านครอบครัวสมรสกับนางจรุงศรี วีระเดชะ บุตรธิดา 3 คน ต่อมาสมรสกับนางสุวรรณี วีระเดชะ บุตรธิดา 3 คน
พันตำรวจเอก ธานี วีระเดชะ เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดเบญจมพิตร ต่อมาสอบเข้าศึกษาที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน และโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน
พันตำรวจเอก ธานี วีระเดชะ ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2532 ขณะมีอายุ 73 ปี[2] โดยมีงานพระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถานกรมตำรวจ วัดตรีทศเทพวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2533
การทำงาน
[แก้]ราชการตำรวจ
[แก้]พันตำรวจเอก ธานี วีระเดชะ รับราชการตำรวจครั้งแรกเป็นพลตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลบางรัก ต่อมาจึงสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยฯ และจบออกมาเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500[2] เคยเป็นผู้กำกับการหลายพื้นที่ อาทิ สภ.สารภี สภ.แม่ปิง (อำเภอเมืองเชียงใหม่) สภ.สันกำแพง[3] สภ.ฝาง เป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ และตำแหน่งสูงสุด คือ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2519[4] ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ พันตำรวจเอกธานี มีผลงานโดดเด่นหลายเรื่อง อาทิ การปราบปรามแก๊งอันธพาลในเมืองเชียงใหม่ การปราบปรามแก๊งวัยรุ่นที่ขว้างปาและทำร้ายผู้คนในเวลากลางคืนที่ถนนสายเชียงใหม่-สารภี การปราบปรามกลุ่มคนร้ายที่ดักขึงเส้นลวดปล้นชิงทรัพย์ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในเส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง การลดคดีฆ่าและคดีอุกฉกรรจ์ ที่ อ.ฝาง การปราบปรามการทุจริตเรื่องเงินทะเบียนยานพาหนะขณะเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่[5]
งานการเมือง
[แก้]หลังเกษียณอายุราชการ พ.ต.อ.ธานี วีระเดชะ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2522 ในนามพรรคชาติไทย และได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 71,769 คะแนน สูงที่สุดเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศไทย และได้คะแนนสูงกว่าปรีดา พัฒนถาบุตร สุรพันธ์ ชินวัตร ส.ส.เก่าในพื้นที่ และเป็นตำรวจคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.[6]
ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2526 พ.ต.อ.ธานี ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเดิม แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง และ พ.ศ. 2529 พ.ต.อ.ธานี ย้ายไปลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่อำเภอทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ อาทิ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอแม่แตง แต่เนื่องจาก พ.ต.อ.ธานี เป็นที่รู้จักเฉพาะในเขตเมือง จึงทำให้ไม่ได้รับเลือก[2]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2524 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[7]
- พ.ศ. 2523 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M8_34.pdf
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 นักการเมืองถิ่นจังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า. 2551
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-26. สืบค้นเมื่อ 2020-04-19.
- ↑ รายชื่อ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่
- ↑ "ย่านถนนช้างม่อย (๓๓)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-24. สืบค้นเมื่อ 2020-04-19.
- ↑ อนุ เนินหาด, สังคมเมืองเชียงใหม่
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๙๒๙, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒๓๓, ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓