ข้ามไปเนื้อหา

ธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา เป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในธาตุกถาปกรณ์ ในพระอภิธรรมปิฎก ของพระไตรปิฎกภาษาบาลี ซึ่งธาตุกถา มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การสงเคราะห์เข้ากันได้หรือไม่ได้ของธรรม 3 ประการ คือ ขันธ์ 5 อายตนะ ธาตุ[1]

ธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา เป็นส่วนหนึ่งในปรมัตถทีปนี หรือปัญจปกรณัฏฐกถา หรือ อรรถกถาปัญจปกรณ์ หรือบางทีก็เรียกว่า "ปรมัตถทีปนี ปัญจัปปกรณัฏฐกถา ธาตุกถาวัณณา"[2] เป็นผลงานของพระพุทธโฆสะ แต่งตามคำอาราธนาของพระจุลลพุทธโฆสะชาวลังกา เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 1000 - 1100 ซึ่งปรมัตถทีปนี หรือปัญจัปปกรณัฏฐกถา นั้นเป็นการอธิบายเนื้อความในปกรณ์ทั้ง 5 ของพระพระอภิธรรมปิฎก 5 คัมภีร์ คือ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และปัฏฐาน[3] โดยธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ปรมัตถทีปนี ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุม และใหญ่โตมโหมาร

ทั้งนี้ โดยเหตุที่ธาตุกถามักรวมกับปุคคลบัญญัติอยู่ในเล่มเดียวกัน อรรถกถาของทั้ง 2 ปกรณ์ของพระอภิธรรมปิฎกนี้ จึงมักรวมเป็นฉบับเดียวกัน แต่ในบางกรณีก็แยกเป็นเอกเทศจากกัน[4]

เนื้อหา

[แก้]

โดยเหตุที่พระอภิธรรมปิฎก มีเนื้อหาเป็นข้อธรรมล้วน ๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคล จึงมีความยากที่จะทำความเข้าใจ พระอรรถกถาจารย์จึงต้องมีการขยายความเนื้อหาในปกรณ์ หรือพระอภิธรรมปิฎกเล่มต่าง ๆ ด้วยการเสริมเนื้อเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อธรรมนั้น ๆ พร้อมทั้งมีการอธิบายคำศัพท์ที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงความลึกซึ้งของพระอภิธรรมปิฎกได้มากขึ้น

ในธาตุกถาปกรณ์อรรถกถา พระพุทธโฆสะให้คำอธิบายที่ไม่ยืดยาวนัก เนื่องจากในธาตุกถาปกรณ์มีการอธิบายลักษณะธรรมต่าง ๆ อย่างกระชับเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยท่านผู้รจนาจะใช้วิธีสรุปความจากเนื้อหาในปกรณ์ให้มีความรวบรัดยิ่งขึ้น ด้วยถ้อยความที่ง่ายต่อการเข้าใจยิ่งขึ้น เช่นในสังคหิเตนอสังคหิตปทนิทเทส มีการยกหัวข้อย่อยของนิทเทสมาอธิบายพอให้เกิดความเข้าใจ

เช่น อรรถกถาสัจจนิทเทส ท่านผู้รจนาได้ชี้แจงจุดที่น่าจะก่อให้เกิดความกังขาไว้เป็นข้อความสั้น ๆ เกี่ยวเนื่องกับเหตุที่มีการลำดับของมัคคสัจ[5] หรือในอรรถกถาอินทริยนิทเทส ท่านผู้รจนาได้อธิบายโดยวิธีการรวบยอดว่า "รูปชีวิตินทรีย์นับสงเคราะห์ได้ด้วยรูปขันธ์ อรูปชีวิตินทรีย์นับสงเคราะห์ได้ด้วยสังขารขันธ์" และอินทรีย์ที่เหลือก็มีการกำหนดในลักษณะเดียวกัน เป็นต้น[6]

อย่างไรก็ตาม บางอรรถาธิบายก็มีเนื้อหายาวกว่าเนื้อความในปกรณ์ เช่นอรรถกถาปฏิจจสมุปปาทนิทเทส ในอรรถกถาสังคหาสังคหปทนิทเทส โดยในนิทเทสนี้ ท่านผู้รจนาได้ทำการอธิบายทั้งมูลเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมิได้มีพระดำรัสดังนั้น และเหตุใดพระองค์จะจึงมีพระดำรัสดังนั้น เช่นเหตุใดจึงทรงตรัสว่า "เอกาทสหายตเนหิ สตฺตรสหิ ธาตูหิ" นอกจากนี้ ยังมีการขยายความข้อความสำคัญเช่น "ทฺวีหิ อายตเนหิ" หมายความว่า "อายตนะ 2 คือ รูปายตนะและธัมมายตนะ" เป็นต้น[7]

คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

ชั้นฎีกา

[แก้]
  • ธาตุกถามูลฎีกา หรือปัญจปกรณ์มูลฎีกา, ปรมัตถปกาสินี, ลีนัตถโชติกา, ลีนัตถโชตนา, ลีนัตถปทวัณณนา รจนาโดยพระอานันทะเถระ แต่งที่ลังกาทวีป ราวศตวรรษที่ 6 หรือ ระหว่างศตวรรษที่ 8 - 9[8][9]

ชั้นอนุฎีกา

[แก้]
  • ธาตุกถานุฎีกา หรือปัญจปกรณานุฎีกา, ลีนัตถวัณณนา, ลีนัตถปกาสินี, อภิธรรมานุฎีกา รจนาโดยพระจุลละธัมมปาล ราวศตวรรษที่ 6 หรือ ระหว่างศตวรรษที่ 8 - 9[10] บ้างก็ว่าแต่งโดยพระอานันทะเถระ แต่งที่ลังกาทวีป[11]

ชั้นโยชนา

[แก้]
  • ธาตุกถาอัตถโยชนา หรือธาตุกถาโยชนา พระญาณกิตติเถระแห่งที่เชียงใหม่ เมื่อปี ค.ศ. 2036-2037[12][13]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 49
  2. ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 105
  3. วรรณคดีบาลี หน้า 78
  4. ดู The Life and Work of Buddhaghosa หน้า 84
  5. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถาธาตุกถาปกรณ์. หน้า 22
  6. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถาธาตุกถาปกรณ์. หน้า 24
  7. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถาธาตุกถาปกรณ์. หน้า 43 - 45
  8. ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 107
  9. Reference Table of Pali Literature
  10. Reference Table of Pali Literature
  11. ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 112
  12. ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 114
  13. Reference Table of Pali Literature

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co. ฃ
  • Bhikkhu Nyanatusita. (2008). Reference Table of Pali Literature. electronic publication by author
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี. กรุงเทพมหานคร. มหามกุฏราชวิทยาลัย.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถาธาตุกถาปกรณ์. พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม 3
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.