ข้ามไปเนื้อหา

ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ธรรมนูญกรุงโรม)
ธรรมนูญกรุงโรม
ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
ประเภทสนธิสัญญา
วันร่าง17 กรกฎาคม 2541
วันลงนาม17 กรกฎาคม 2541[1]
ที่ลงนามกรุงโรม[1]
วันมีผล1 กรกฎาคม 2545[2]
ผู้ลงนาม139 รัฐ[2]
ภาคี108 รัฐ[2]
ผู้เก็บรักษาเลขาธิการสหประชาชาติ[1]
ภาษาจีน ฝรั่งเศส รัสเซีย
สเปน อารบิก อังกฤษ[3]

ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (อังกฤษ: Rome Statute of the International Criminal Court) หรือเรียกโดยย่อว่า ธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) เป็นสนธิสัญญาซึ่งมีเนื้อหาสาระเป็นการจัดตั้งและจัดเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ธรรมนูญนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐต่าง ๆ ณ การประชุมทางการทูตที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541[4][5] และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545[2] โดยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปรากฏว่า มีรัฐเข้าเป็นรัฐภาคีแห่งธรรมนูญนี้แล้วจำนวนหนึ่งร้อยแปดราย[2]

ประวัติ

[แก้]

หลังจากที่มีการเจรจาตกลงกันมาแล้วหลายปี เพื่อจัดตั้งคณะตุลาการระหว่างประเทศเป็นการถาวร มีหน้าที่พิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดร้ายแรงและมีผลกระทบต่อหลายประเทศ เช่น การล้างชาติ สมัชชาสหประชาชาติจึงจัดการประชุมทางการทูตเพื่อจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (United Nations Diplomatic Conference of Plenipotentiaries on the Establishment of an International Criminal Court) ขึ้นที่กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ถึง 17 กรกฎาคม 2541 ในวันสุดท้ายของการประชุม ที่ประชุมได้รับรอง "ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ" ด้วยมติหนึ่งร้อยยี่สิบเสียงต่อเจ็ดเสียง ทั้งนี้ มีรัฐยี่สิบเอ็ดรายงดออกเสียง[6][7][4] รัฐเจ็ดรายที่ไม่เห็นชอบกับธรรมนูญกรุงโรม ได้แก่ อิรัก อิสราเอล ลิเบีย จีน กาตาร์ สหรัฐอเมริกา และเยเมน[4]

ธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 126 วรรค 1 ว่า "ธรรมนูญนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันแรกของเดือนถัดจากวันที่หกสิบหลังจากวันที่มีการยื่นสัตยาบันสาร สารให้ความยอมรับ สารให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสารฉบับที่หกสิบต่อเลขาธิการสหประชาชาติ" แสดงถึงเงื่อนไขว่า เมื่อมีรัฐให้ความเห็นชอบและเข้าเป็นภาคีแห่งธรรมนูญนี้ครบหกสิบรายแล้ว ก็ใช้ธรรมนูญบังคับได้[8] ในการนี้ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2545 รัฐสิบรายได้ยื่นหนังสือแจ้งสหประชาชาติแสดงความเห็นชอบในธรรมนูญนี้พร้อมกัน โดยได้ยื่นในการประชุมนัดวิสามัญซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก[9] ส่งผลให้ใช้ธรรมนูญบังคับได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545[9] ส่วนศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นมีอำนาจชำระความผิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นในหรือตั้งแต่วันเริ่มใช้ธรรมนูญสืบไป[10]

ประเทศไทย

[แก้]

ประเทศไทยเป็นรัฐหนึ่งที่ลงมติสนับสนุนธรรมนูญกรุงโรมในการประชุมดังกล่าว และได้ร่วมลงนามธรรมนูญกรุงโรมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2543 แต่ยังมิได้ให้สัตยาบันจนถึงขณะนี้ เนื่องจากต้องพิจารณาตามขั้นตอนที่กฎหมายในประเทศกำหนดไว้ก่อน คณะรัฐมนตรีไทยได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 แต่งตั้ง "คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ" ขึ้นตามที่กระทรวงต่างประเทศเสนอ มีหน้าที่พิจารณาผลดีและผลเสียของการเข้าเป็นรัฐภาคีแห่งธรรมนูญ ตลอดจดพิจารณาว่าต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่หรือไม่อย่างไร รวมทั้งดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น เผยแพร่เนื้อหาสาระของธรรมนูญให้แก่สาธารณชน

วันที่ 1 มิถุนายน 2542 คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศมีคำสั่งแต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการแปลธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ" ขึ้น ประกอบด้วยกรรมการสิบคน เป็นผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ คือ สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่แปลธรรมนูญกรุงโรมเป็นภาษาไทย ใช้เวลาสองปีจึงแปลเสร็จในวันที่ 14 มิถุนายน 2544

เนื่องจากธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 27 กำหนดว่า ให้ใช้ธรรมนูญบังคับแก่บุคคลทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน และไม่มีใครจะอ้างอำนาจหน้าที่ทางราชการ โดยเฉพาะในฐานะประมุขแห่งรัฐ มาคุ้มกันตนให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้เลย[11] รัฐบาลไทยจึงไม่ยอมให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม เพราะ ข้อ 27 ดังกล่าวจะมีผลให้พระมหากษัตริย์ไทยอ้างความคุ้มกันตามกฎหมายไทยมิได้ เช่น ความคุ้มกันที่ให้ไว้ในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นต้น[12]

มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ประเทศไทยให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม โดยในเดือนพฤศจิกายน 2549 ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันสำหรับธรรมนูญกรุงโรมเสียที เขาให้เหตุผลว่า หากประเทศไทยให้สัตยาบันแล้ว พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจถูกสอบสวนโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ สำหรับความผิดต่อมนุษยชาติ ในกรณีที่สั่งให้กระทำวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจำนวนสองพันห้าร้อยคนโดยมิได้สอบสวนเสียก่อนในช่วงปี 2546 เพื่อมิให้สืบสาวไปถึงผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังซึ่งอาจเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงสังคม ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "การฆ่าตัดตอน" ได้[13]

สถานะการให้สัตยาบัน

[แก้]
  ลงนามและให้สัตยาบันแล้ว
  ลงนามแต่ไม่ให้สัตยาบัน
  ไม่มีบทบาททั้งสิ้น

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ปรากฏว่า มีรัฐจำนวนหนึ่งร้อยแปดรายเข้าเป็นรัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรม ได้แก่ รัฐเกือบทั้งหมดในยุโรป รัฐทั้งหมดในอเมริกาใต้ และรัฐเกือบกึ่งหนึ่งของแอฟริกา[2][14][15]

นับแต่จัดการประชุมทางการทูตเพื่อจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงโรมในปี 2541 เป็นต้นมา ปรากฏว่า มีรัฐอีกสี่สิบกว่ารายที่ลงนามในธรรมนูญแล้ว แต่ยังมิได้ยื่นสัตยาบันสาร สารให้ความยอมรับ สารให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสาร[2] อนุสัญญาสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎแห่งสนธิสัญญาบัญญัติให้รัฐเหล่านี้ต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของธรรมนูญกรุงโรม[16] ต่อมาในปี 2545 รัฐสองรายในบรรดารัฐทั้งสี่สิบดังกล่าว คือ สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล ได้ถอนการลงนามเสีย และประกาศว่า ไม่ต้องการเป็นรัฐภาคีในธรรมนูญกรุงโรมอีกต่อไป[2][17][18]

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในรัฐสี่สิบรายดังกล่าวที่ลงนามแล้ว แต่ยังมิได้ให้สัตยาบัน

การทบทวนและการแก้ไขเพิ่มเติม

[แก้]

การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญกรุงโรม กระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบด้วยมติไม่น้อยกว่าสองในสามของรัฐภาคีทั้งหมดของธรรมนูญ และจะไม่มีผลใช้บังคับ จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบด้วยมติไม่น้อยกว่าเจ็ดในแปดของรัฐภาคีทั้งหมด[19] ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับบัญชีความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ จะมีผลใช้บังคับแก่รัฐภาคีที่เห็นชอบด้วยในการแก้ไขนี้เท่านั้น[19]

รัฐภาคีมีหน้าที่เข้าร่วมการประชุมทบทวนธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ (Review Conference of the International Criminal Court Statute) ตามที่ตกลงกันให้จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2553[20] ในการประชุมนี้ มีการให้ความเห็นชอบบทนิยามเกี่ยวกับความผิดว่าด้วยการรุกราน เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจพิพากษาคดีความผิดดังกล่าวได้เป็นครั้งแรก

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Article 125 of the Rome Statute. Retrieved on 31 January 2008.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 United Nations Treaty Collection. Rome Statute of the International Criminal Court[ลิงก์เสีย]. Retrieved on 5 October 2008.
  3. Article 128 of the Rome Statute. Retrieved on 31 January 2008.
  4. 4.0 4.1 4.2 Michael P. Scharf (August 1998). Results of the Rome Conference for an International Criminal Court. The American Society of International Law. Retrieved on 31 January 2008.
  5. เพื่อเป็นการรำลึกถึงการให้มติเห็นชอบซึ่งธรรมนูญดังกล่าว นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลกจะจัดงานเฉลิมฉลองในวันที่ 17 กรกฎาคม ของทุกปี โดยเรียก "วันยุติธรรมสากลแห่งโลก" (World Day for International Justice) ดู: Amnesty International USA (2005). International Justice Day 2005 เก็บถาวร 2008-05-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 31 January 2008.
  6. United Nations (1999). Rome Statute of the International Criminal Court — Overview. Retrieved on 31 January 2008.
  7. Coalition for the International Criminal Court. Rome Conference — 1998. Retrieved on 31 January 2008.
  8. Article 126 of the Rome Statute. Retrieved on 31 January 2008.
  9. 9.0 9.1 Amnesty International (11 April 2002). The International Criminal Court — a historic development in the fight for justice เก็บถาวร 2007-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 31 January 2008.
  10. Article 11 of the Rome Statute. Retrieved on 31 January 2008.
  11. ข้อ 27 แห่งธรรมนูญกรุงโรมว่า

    "ข้อ 27 อำนาจหน้าที่ทางราชการนั้นไม่เป็นประเด็น

    1.   ธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลทั้งปวงอย่างเท่าเทียมกัน โดยปราศจากข้อแตกต่างใด ๆ เพราะเหตุแห่งอำนาจหน้าที่ทางราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจหน้าที่ทางราชการในฐานะประมุขแห่งรัฐหรือรัฐบาล สมาชิกรัฐบาลหรือรัฐสภา ผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หรือข้าราชการนั้น ย่อมไม่เป็นเครื่องคุ้มบุคคลให้พ้นจากความรับผิดชอบทางอาญาตามธรรมนูญนี้ กับทั้งไม่เป็นเหตุสำหรับลดโทษอยู่ในตัว ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม

    2.   ความคุ้มกันก็ดี หรือระเบียบวิธีสบัญญัติพิเศษก็ดี ซึ่งอาจยังให้บุคคลเกิดมีอำนาจหน้าที่ทางราชการ ไม่ว่าตามกฎหมายภายในประเทศหรือระหว่างประเทศนั้น ย่อมไม่เป็นที่กีดกันศาลมิให้ใช้อำนาจชำระบุคคลเช่นว่า

    Article 27 of the Rome Statute:

    "Article 27 Irrelevance of official capacity

    1.   This Statute shall apply equally to all persons without any distinction based on official capacity. In particular, official capacity as a Head of State or Government, a member of a Government or parliament, an elected representative or a government official shall in no case exempt a person from criminal responsibility under this Statute, nor shall it, in and of itself, constitute a ground for reduction of sentence.

    2.   Immunities or special procedural rules which may attach to the official capacity of a person, whether under national or international law, shall not bar the Court from exercising its jurisdiction over such a person.

  12. ทยวรรณ เทพพิทักษ์ศักดิ์ (2546). มาตรา 27 แห่งธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศกับผลทางกฎหมาย [Article 27 of the 1998 Rome Statute of the International Criminal Court and its legal effect]. กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  13. War on drugs returns to bite Thaksin, Bangkok Post, 2006-11-23
  14. International Criminal Court (2007). The States Parties to the Rome Statute. Retrieved on 31 January 2008.
  15. UN News Centre, 17 March 2008. Madagascar ratifies statute establishing International Criminal Court. Accessed 20 March 2008.
  16. Article 18 of the 1969 Vienna Convention on the Law of Treaties. Retrieved on 31 January 2008.
  17. John R Bolton (6 May 2002). International Criminal Court: Letter to UN Secretary General Kofi Annan. US Department of State. Retrieved on 31 January 2008.
  18. Brett D. Schaefer (9 January 2001). Overturning Clinton's Midnight Action on the International Criminal Court เก็บถาวร 2009-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Heritage Foundation. Retrieved on 31 January 2008.
  19. 19.0 19.1 Article 121 of the Rome Statute. Retrieved on 31 January 2008.
  20. Assembly of States Parties (14 December 2007). Resolution: Strengthening the International Criminal Court and the Assembly of States PartiesPDF (310 KiB). Retrieved on 31 January 2008.

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ. (2547). คำแปลธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ. กรุงเทพฯ: เอราวัณการพิมพ์. ISBN 974-7709-10-4.
  • Antonio Cassese, Paola Gaeta & John R.W.D. Jones (eds.), The Rome Statute of the International Criminal Court: A Commentary. Oxford: Oxford University Press (2002). ISBN 978-0-19-829862-5.
  • Roy S Lee (ed.), The International Criminal Court: The Making of the Rome Statute. The Hague: Kluwer Law International (1999). ISBN 90-411-1212-X.
  • Roy S Lee & Hakan Friman (eds.), The International Criminal Court: Elements of Crimes and Rules of Procedure and Evidence. Ardsley, NY: Transnational Publishers (2001). ISBN 1-57105-209-7.
  • William A Schabas, An Introduction to the International Criminal Court (2nd ed.). Cambridge: Cambridge University Press (2004). ISBN 0-521-01149-3.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]