ข้ามไปเนื้อหา

ธรรมทาส พานิช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธรรมทาส พานิช
เกิดยี่เกย พานิช
14 มีนาคม พ.ศ. 2451
บ้านพุมเรียง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เสียชีวิต18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 (91 ปี)
คู่สมรสพร้อม ทั่งสุสังข์
บุตร5 คน
บิดามารดา
  • เซี้ยง พานิช (บิดา)
  • เคลื่อน พานิช (มารดา)

ธรรมทาส พานิช หรือนามเดิม ยี่เกย พานิช (14 มีนาคม พ.ศ. 2451 - 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543) เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 3 คน ของนายเซี้ยง พานิช กับ นางเคลื่อน พานิช มีพี่ชายคือท่านพุทธทาสภิกขุ และน้องสาวคือ นางกิมช้อย เหมะกุล ซึ่งนายธรรมทาสเป็นบุคคลสำคัญผู้ก่อตั้งคณะธรรมทานและสวนโมกขพลาราม[1]

ประวัติ

[แก้]

ธรรมทาส พานิช เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2451 ที่บ้านพุมเรียง หมู่ที่ 2 ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบครัวมีอาชีพค้าขาย บิดาเป็นคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน มารดาเชื้อสายไทย เมื่ออายุได้เจ็ดขวบได้เข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนโพธิพิทยากร จนจบชั้นประถม ปีที่ 4 และเรียนต่อชั้นมัธยม 1-3 ที่นี่ต่อไปอีก หลังจากนั้นได้เข้าเรียนต่อมัธยมปีที่ 4 ที่โรงเรียนสารภีอุทิศ เรียนได้ครึ่งปีบิดาเสียชีวิต จึงบวชเป็นสามเณรจำพรรษาที่พุมเรียง 1 ปี ในปีที่ 2 ได้ไปจำพรรษาที่วัดไตรธรรมารามและเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำมณฑลสุราษฎร์ จนจบมัธยมปีที่ 5 แล้วลาสึกและเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปี พ.ศ. 2466 และได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 หลังจากนั้น ได้สอบเข้าศึกษาเตรียมแพทย์ปีที่ 1 ที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนได้ 1 ภาคเรียนก็ตัดสินใจลาออกเนื่องจากพี่ชายคือพระเงื่อมไม่ลาสิกขาบท ตามกำหนด เพื่อช่วยมารดาดำเนินกิจการค้าขายและเพื่อพระเงื่อมพี่ชายจะได้บวชต่อไป

ผลงาน

[แก้]

นายธรรมทาส พานิช สนใจพุทธศาสนาและอยากส่งเสริมให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ตอนเข้าเรียนเตรียมแพทย์ เขาได้ค้นคว้าบทความที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติมากมาย ครั้นกลับบ้านในปี พ.ศ. 2470 เขาได้รวบรวมหนังสือต่าง ๆ จัดตั้งหีบหนังสือเพื่อให้ผู้สนใจได้ยืมอ่านขึ้นเมื่อปี 2472 มีกลุ่มผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้หลายคนและได้มีผู้บริจาคหนังสือในกิจการนี้หลายราย ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 นายธรรมทาสได้จัดตั้งคณะธรรมทานขึ้นโดยนางเคลื่อน พานิช ผู้เป็นมารดาได้บริจาคเงินเป็นทุนดำเนินการระยะแรก เพื่อไว้ใช้ดอกผลในกิจการพุทธศาสนา โดยเฉพาะส่งเสริมการปฏิบัติธรรมของสวนโมกขพลาราม ซึ่งตั้งขึ้นที่วัดตระพังจิต ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา คณะธรรมทานที่ตั้งขึ้นนี้ได้รับ การสนับสนุนจากบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ เป็นอย่างดี

จากการที่นายธรรมทาสได้ศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง ทำให้ท่านเห็นว่าควรเผย แพร่ต่อผู้อื่นด้วย จึงได้นำความรู้มาเขียนบทความและบางคราวก็แปลเรื่องจากหนังสือที่ได้อ่านออกเผยแพร่และต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ได้ตั้งโรงพิมพ์ธรรมทานขึ้นเพื่อพิมพ์เอกสารและหนังสือเผยแพร่งานศาสนา สำหรับหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่เป็นรายสามเดือนชื่อ พุทธสาสนา

ในปี พ.ศ. 2479 นายธรรมทาสเล็งเห็นว่าในตลาดไชยายังไม่มีโรงเรียน ทำให้นักเรียนต้องเดิน ทางไกลไปเรียนที่อื่น จึงตัดสินใจจัดตั้งโรงเรียนพุทธนิคมขึ้น โดยโรงเรียนนี้ได้รับหนังสือตอบรับความจำนงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ หนังสือนั้น ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2475[2] โรงเรียนจัดให้มีวันหยุดรอบสัปดาห์ในวันพระ (8 ค่ำ 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ) และนอกจากจะมีการเรียนวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตร ของ กระทรวงธรรมการแล้ว โรงเรียนนี้ได้จัดอบรมนักเรียนในทางพุทธศาสนาควบคู่ไปด้วย ทำนองเดียวกับโรงเรียนมิชชันนารี คือ นักเรียนจะต้องปฏิบัติตาม วินัยของโรงเรียนที่เรียกว่า "กฎชาวพุทธ 5 ข้อ" ได้แก่

  • ละเว้นสิ่งเสพติด
  • ละเว้นการพนันทุกชนิด
  • มีความมัธยัสต์ไม่ฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชน์
  • มีความเพียรในการทำงาน ไม่เลือกงาน
  • และประพฤติตามหลักพุทธศาสนา

นายธรรมทาส เห็นว่า ควรจัดตั้งคณะธรรมทานเป็นมูลนิธิ เพื่อให้การอุปถัมภ์แก่ กิจการโรงเรียน จึงได้ยื่นเรื่องราวการจัดตั้ง "ธรรมทานมูลนิธิ" ต่อสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 และ ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้ ในเดือนมกราคม ปีต่อมา มูลนิธิให้ทุนนักเรียนเผยแพร่ธรรมะโดยการพิมพ์หนังสือออกเผยแพร่และส่งเสริมสนับสนุนสำนักปฏิบัติธรรมสวนโมกขพลาราม กิจการของมูลนิธิได้เจริญก้าวหน้าตามลำดับซึ่งเป็นหลักสำคัญในการสนับสนุนการเผยแพร่พุทธศาสนาของสวนโมกขพลารามมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนายธรรมทาสสนใจต่อพุทธศาสนาอย่างจริงจังแล้ว ท่านยังสนใจศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ภาคใต้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหลักฐานทางโบราณคดีของไชยา ท่านสนใจศึกษา ค้นคว้าเรื่องนี้ เนื่องจากท่านได้พบเห็น เศษกระเบื้อง ถ้วยชามสมัยต่าง ๆ ลูกปัด หัวเงินเฟื้อง หรือ เงินตรามโน มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ผลงานที่พิมพ์เผยแพร่ได้แก่ พนม ทราวดี ศรีวิชัย ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย พระแก้วมรกตของไทยและนิพพานธรรมใน ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ เป็นต้น และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา นายธรรมทาสได้รับความช่วยเหลือจากท่านจันทร์ (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี) เกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะ ข้อมูลจากต่างประเทศ ที่พิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ ท่านจันทร์ จะจัดส่งให้นายธรรมทาส ได้ค้นคว้าและแปลเป็นภาษาไทย พร้อมกับบันทึกเรื่องราวที่ได้จากการอ่านส่งไปให้ท่านจันทร์ทราบ เพื่อท่านจันทร์จะได้นำไปเป็นข้อมูลค้นคว้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษต่อไป

ชีวิตครอบครัว

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2475 ขณะที่นายธรรมทาส มีอายุได้ 23 ปี มารดารได้สู่ขอ นางสาวพร้อม ทั่งสุสังข์ บุตรสาวของ นายชวน นางจั่ว ทั่งสุสังข์ ผู้มีฐานะอันจะกิน แห่งหมู่ที่ 2 ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา และได้เข้าสู่พิธีสมรส อย่างถูกต้องตามประเพณีไทย อย่างสมเกียรติ แม้จะต้องมีความรับผิดชอบ ในฐานะผู้นำครอบครัว แต่นายธรรมทาส ก็ยังคงทำงานต่าง ๆ ที่ได้ริเริ่มไว้อย่างเต็มความสามารถ มีบุตรธิดารวมทั้งหมด 5 คน คือ นายสิริ พานิช นายประชา พานิช นางสุนทรี นายไมตรี พานิช และนายเมตตา พานิช

ปัจฉิมวัยและมรณกรรม

[แก้]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา นายธรรมทาสไม่ได้เดินทางไปที่ใดไกล ๆ เพราะสายตาไม่ดีแต่ นายธรรมทาสยังคงศึกษาค้นคว้างานทางโบราณคดี เขียนบทความทางศาสนาดูแลกิจการของโรงเรียน ธรรมทานมูลนิธิ โรงพิมพ์ และช่วยเหลือกิจการของสวนโมกขพลารามอย่างเอาจริงเอาจังมาโดยตลอด ภารกิจประจำวันของท่านในปัจจุบันนี้คือ ตื่นนอนเช้า เดินเล่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ต้อนรับแขก ฯลฯ และเข้านอนในเวลา 4 ทุ่มเป็นประจำ ชีวิตครอบครัว ของท่านมีแต่ความสุขสงบจนถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป

นายธรรมทาส พานิช ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 สิริอายุได้ 91 ปี

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

[แก้]

นายธรรมทาส เป็นผู้ที่ทำงานหนักมาโดยตลอด ผลงานของท่านล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เล็งเห็นความสำคัญของท่านและผลงาน จึงได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้แก่ท่านในเวลาต่อมา

อ้างอิง

[แก้]
  1. โสมชยา ธนังกุล. มรดกธรรมจากท่านพุทธทาส. แสตมป์ & สิ่งสะสม. ปีที่ 1 (+42) ฉบับที่ 3. พฤษภาคม 2555. ISSN 2229-2780. หน้า 47
  2. บทความในวารสาร พุทธสาสนา ปีที่ ๖๘ เล่ม ๓ พุทธศักราช ๒๕๔๓ ฉบับพิเศษ สดุดีครูธรรมทาส พานิช เขียนโดย ชวน เพชรแก้ว พ.ศ. ๒๕๒๘
  • หนังสือสุราษฎร์ธานีของเรา, ชวน เพชรแก้วและสบาย ไสยรินทร์