ข้ามไปเนื้อหา

ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง

พิกัด: 5°47′9″N 101°08′51″E / 5.78583°N 101.14750°E / 5.78583; 101.14750
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ท่าอากาศยานเบตง)
ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง
อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานเบตง
ข้อมูลสำคัญ
การใช้งานสาธารณะ
เจ้าของกรมท่าอากาศยาน
พื้นที่บริการอำเภอเบตง
ที่ตั้ง125 หมู่ที่ 8 ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
เปิดใช้งาน28 มกราคม 2565 (2565-01-28) (ได้ใบอนุญาต)[1][2]
14 มีนาคม พ.ศ. 2565; 2 ปีก่อน (2565-03-14) (ทางการ)[3]
พิกัด5°47′9″N 101°08′51″E / 5.78583°N 101.14750°E / 5.78583; 101.14750
เว็บไซต์minisite.airports.go.th/betong
แผนที่
แผนที่
ทางวิ่ง
ทิศทาง ความยาว พื้นผิว
ฟุต เมตร
07/25 5,905 1,800 ยางมะตอย
สถิติ (2565)
ผู้โดยสาร12,869
เที่ยวบิน180
แหล่งข้อมูล: www.airports.go.th

ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง[4] (อังกฤษ: Betong International Airport) เป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน และเป็นแห่งที่ 39 ในประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 125 หมู่ที่ 8 ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อยู่ห่างจากตัวเมืองเบตงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 10 กิโลเมตร[5] มีขนาดพื้นที่ 920 ไร่ (147 เฮกตาร์) ทางวิ่งสามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง อาคารที่พักผู้โดยสารสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง[5] หรือ 800,000 คนต่อปี[3]

ท่าอากาศยานนานาชาติเบตงเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560[6] ก่อสร้างแล้วเสร็จในต้นปี พ.ศ. 2563[7] และได้เปิดใช้งานสำหรับเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคลมาอย่างต่อเนื่อง[8] ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2565[1] มีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในรูปแบบเช่าเหมาลำเพื่อทดลองเที่ยวบินพาณิชย์เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2565[2][9] และได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565 พร้อมกับเที่ยวบินเชิงพาณิชย์แบบประจำเที่ยวบินแรก[3]

ประวัติ

[แก้]

การก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง เริ่มหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ในวงเงิน 1,900 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2559 – 2562) ซึ่งเป็นท่าอากาศยานสังกัดกรมท่าอากาศยานลำดับที่ 29 และนับเป็นท่าอากาศยานในประเทศไทยลำดับที่ 39[10] ซึ่งจุดประสงค์ที่ก่อให้เกิดท่าอากาศยานเบตงนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทาง และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม การเมือง และจะทำให้การคมนาคมขนส่งภายในจังหวัดยะลา และการเชื่อมต่อสู่ประเทศมาเลเซียที่ด่านเบตงและพื้นที่ใกล้เคียงจะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น[8]

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560 อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา[6] ซึ่ง อาคารผู้โดยสาร ลานจอดอากาศยาน ทางขับ และทางวิ่ง สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2562[11] และอุปกรณ์อำนวยการเดินอากาศได้ติดตั้งแล้วเสร็จในต้นปี พ.ศ. 2563 แต่เนื่องจากการระบาดทั่วของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนเปิดท่าอากาศยานอย่างไม่มีกำหนด[7][12]

ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565 ได้มีการวิพากย์วิจารณ์กันในสื่อโซเชียลว่า ท่าอากาศยานนานาชาติเบตงยังไม่ได้เปิดใช้งาน ทั้งที่ผ่านมา 2 ปีแล้ว โดยระบุว่าเป็นปัญหาทางด้านเครื่องบินที่นำมาลงได้มีน้ำมันไม่พอบินไปกลับ เนื่องจากเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก และที่ท่าอากาศยานไม่มีคลังน้ำมัน และการที่จะต้องบินผ่านน่านฟ้าประเทศมาเลเซียในบางทิศทาง[13] ต่อมา ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล ได้ชี้แจงว่าท่าอากาศยานนานาชาติเบตงได้มีการให้บริการเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคล ซึ่งได้มีการทำการบินมาอย่างต่อเนื่อง อยู่ระหว่างพัฒนาท่าอากาศยานให้สามารถรองรับการเดินทางทางอากาศของประชาชนได้อย่างเพียงพอ และครอบคลุมทุกความต้องการ รวมถึงเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมของประชาชนให้ทั่วถึง และสำหรับเส้นทางบินและการขึ้นลงของอากาศยาน จะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด[8]

ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2565[1] และในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 11.00 น. สายการบินนกแอร์ ได้มีเที่ยวบินพิเศษ ดอนเมือง-เบตง เที่ยวบินที่ DD6260 ด้วยเครื่องบิน Q-400 เกิดจากการร่วมมือกันของกลุ่มสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวีระราษฎร์ประสาน และชมรมเบตงกรุงเทพมหานคร ที่ร่วมกันเช่าเหมาลำ เพื่อทดลองเที่ยวบินพาณิชย์ เป็นเที่ยวบินการกุศลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อำเภอเบตง จังหวัดยะลา[2][9]

ในวันที่ 14 มีนาคม 2565 ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ เดินทางด้วยสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD6260 เครื่องบินทะเบียน HS-DQB เพื่อเปิดใช้งานท่าอากาศยานอย่างเป็นทางการ[3]

วันที่ 29 เมษายน 2565 สายการบินนกแอร์บินประจำในเที่ยวบิน DD622 นับเป็นเที่ยวบินแรกที่ไม่ใช่เที่ยวบินเช่าเหมาลำที่ทำการบินปฐมฤกษ์ในวันดังกล่าว

อาคารสถานที่

[แก้]

อาคารผู้โดยสาร

[แก้]
  • อาคารที่พักผู้โดยสารเป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ 300 คนต่อชั่วโมง[5] หรือ 800,000 คนต่อปี[3]
    การตกแต่งอาคารผู้โดยสาร มีการใช้เส้นโค้งของภูเขามาเป็นเส้นสายหลักของตัวอาคาร ผสมผสานกับรูปทรงสมัยใหม่ ตัวอาคารมีสีน้ำตาลทอง ลวดลายไม้ไผ่ หินอ่อนที่มีลวดลายสื่อถึงทะเลหมอก และเลือกใช้ไผ่ตงมาประกอบการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยนำมาจากชื่ออำเภอ ซึ่งภาษามลายูมีความหมายว่าไม้ไผ่ และในอดีตเบตงเป็นเมืองที่มีไม้ไผ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นสนามบินหนึ่งเดียวในเมืองไทยที่มีการนำไม้ไผ่มาเป็นแนวคิดหลักในการตกแต่งสนามบิน ส่วนไม้ไผ่ที่นำมาใช้ประดับตกแต่งอาคารนั้นสั่งผลิตมาจากจังหวัดนนทบุรี[5]
  • ลานจอดเครื่องบินขนาดกว้าง 94 เมตร และยาว 180 เมตร สามารถจอดอากาศยานประเภทเอทีอาร์ 72ได้ 3 ลำ[6][14]

ทางวิ่ง (รันเวย์) และทางขับ (แท็กซี่เวย์)

[แก้]
  • ทางวิ่งขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72/Q-400) ได้มากกว่า 4,000 เที่ยวต่อปี
  • ทางขับ ประกอบด้วยทางขับ A ขนาด 18x587 เมตร ทางขับ B ขนาด 18x115 เมตร[14]

แผนการพัฒนาท่าอากาศยาน

[แก้]

กรมท่าอากาศยาน มีแผนที่จะขยายทางวิ่งจากความยาว 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยานขนาด 180 ที่นั่งได้ และจะขยายพื้นที่ปลอดภัยปลายทางรันเวย์ทั้งทิศตะวันออก และตะวันตก ทิศละ 240 เมตรตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งขยายทางขับ จากความกว้าง 18 เมตร เป็น 23 เมตร และขยายลานจอดเครื่องบินจากขนาด 94x180 เมตร เป็นขนาด 94x240 เมตร เพื่อทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง สามารถจอดเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่งได้ 3 ลำพร้อมกัน ขณะเดียวกันยังมีการออกแบบงานระบบต่างๆ อาทิ ระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศ และระบบระบายน้ำ ตลอดจนมีการปรับปรุงลานจอดรถยนต์ ถนนเข้า-ออก และรั้วสนามบิน[15]

ในส่วนของการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน กรมท่าอากาศยานได้มีการหารือแนวทางร่วมกันกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยได้มีการวางแผนการลงทุนและแนวทางในการให้บริการในอนาคต[16]

รายชื่อสายการบิน

[แก้]
สายการบิน จุดหมายปลายทาง หมายเหตุ
อีซี่แอร์ไลน์ หาดใหญ่ เริ่ม พ.ย. 67 ภายในประเทศ
บางกอกแอร์เวย์ หาดใหญ่ อนาคต ภายในประเทศ

สายการบินที่เคยให้บริการ

[แก้]
สายการบิน จุดหมายปลายทาง หมายเหตุ
นกแอร์ กรุงเทพฯ-ดอนเมือง ภายในประเทศ

ข้อมูลสถิติการขนส่งทางอากาศ

[แก้]

ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง เริ่มมีการขนส่งทางอากาศในปี พ.ศ. 2564 จำนวน 79 เที่ยวบิน ส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินส่วนตัว จำนวน 53 เที่ยวบิน และในปี พ.ศ. 2565 เริ่มเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แบบประจำ จำนวน 178 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 12,869 คน เที่ยวบินส่วนตัว 26 เที่ยวบิน

กระทั่งในปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนเที่ยวบินจนถึงเดือนพฤศจิกายน จำนวน 38 เที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินพาณิชย์แบบประจำ 2 เที่ยวบิน เที่ยวบินส่วนตัว 26 เที่ยวบิน และเที่ยวบินทหาร 10 เที่ยวบิน[17]

การเดินทางสู่ท่าอากาศยาน

[แก้]

ทางเข้าท่าอากาศยานนานาชาติเบตงอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4062/4326 ด้านทิศตะวันออกของอำเภอเบตง ห่างจากวงเวียนหอนาฬิกาอำเภอเบตงไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทาง 11 กิโลเมตร มีลานจอดรถที่รองรับรถยนต์ได้จำนวน 139 คัน[18]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "CAAT News 3/2565 : ท่าอากาศยานเบตงเตรียมพร้อมให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ หลังได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจาก CAAT". สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย. 2022-01-28. สืบค้นเมื่อ 2022-01-29.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 "พร้อมแล้ว! พรุ่งนี้ "สนามบินเบตง" ทดลองเปิดบริการเที่ยวบินพาณิชย์". เดลินิวส์. 2022-01-28. สืบค้นเมื่อ 2022-01-29.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "'บิ๊กตู่' บินตรงเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ สนามบินเบตง พร้อมดันเป็นฮับโลจิสติกส์ชายแดนใต้". ข่าวสด. 2022-03-14. สืบค้นเมื่อ 2022-03-14.
  4. ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดเขตบริเวณใกล้เคียงสนามบินเบตง เป็นเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ พ.ศ. ๒๕๖๔
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 ""สนามบินเบตง" เล็กแต่สวยหรู สนามบินน้องใหม่ที่ตกแต่งด้วยไม้ไผ่ หนึ่งเดียวในไทย". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-10-20. สืบค้นเมื่อ 2020-10-21.
  6. 6.0 6.1 6.2 ""อาคม" วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างสนามบินเบตงเสร็จปี'62 เชื่อมการเดินทาง-ท่องเที่ยวชายแดนไทย-มาเลย์". ประชาชาติ. 2017-12-08. สืบค้นเมื่อ 2020-05-06.
  7. 7.0 7.1 "เลื่อนเปิดท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ไม่มีกำหนด". ช่อง 7HD. 2021-03-10. สืบค้นเมื่อ 2022-01-29.
  8. 8.0 8.1 8.2 "รัฐบาลยัน"สนามบินเบตง"ไม่ติดขัด อยู่ระหว่างพัฒนารับเที่ยวบินพาณิชย์". โพสต์ทูเดย์. 2022-01-05. สืบค้นเมื่อ 2022-01-29.
  9. 9.0 9.1 "เที่ยวบินแรกเบตง! นกแอร์นำร่องทดลองบินไฟลต์แรกดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง". กรุงเทพธุรกิจ. 2022-01-29. สืบค้นเมื่อ 2022-01-30.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "ผุดสนามบินเบตง". เดลินิวส์. 2015-10-06. สืบค้นเมื่อ 2020-05-06.
  11. "อวดโฉมอาคารผู้โดยสาร 'สนามบินเบตง' คอนเฟิร์มเปิดใช้ มิ.ย. ปีหน้า". The Bangkok Insight. 2019-11-28. สืบค้นเมื่อ 2020-05-22.
  12. "เลื่อนเปิด "สนามบินเบตง" หลัง COVID-19 กระทบสายการบิน". ไทยพีบีเอส. 2020-05-14. สืบค้นเมื่อ 2020-05-22.
  13. "ชาวเน็ตโวย! "สนามบินเบตง" เปิด 2 ปีใช้งานไม่ได้จริง เสียดายเงิน 1,900 ล้านบาท". ผู้จัดการออนไลน์. 2022-01-04. สืบค้นเมื่อ 2022-01-29.
  14. 14.0 14.1 "ทย.ถือฤกษ์ดีวางศิลาฤกษ์สนามบินเบตงแล้ว". บ้านเมือง. 2017-12-08. สืบค้นเมื่อ 2020-05-06.
  15. "เริ่มแล้ว! เปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้าน เติมความยาวรันเวย์ "สนามบินเบตง" 2,500 เมตร". เดลินิวส์. 2021-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-01-29.
  16. "ทย.แจงยิบสร้าง 'สนามบินเบตง' มีการศึกษาทุกด้านก่อนทำโครงการ". ไทยโพสต์. 2022-01-04. สืบค้นเมื่อ 2022-01-30.
  17. ข้อมูลสถิติการขนส่งทางอากาศ กรมท่าอากาศยาน
  18. แบบรูปรายการละเอียด, vol. โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและอาคารประกอบ ท่าอากาศยานเบตง (เลขที่โครงการ : 60016233456), 2017-02-01, p. 86