ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
ชื่อย่อ | ทปอ./CUPT |
---|---|
ก่อตั้ง | 29 มกราคม พ.ศ. 2515 |
ประเภท | องค์กรอิสระ |
ที่ตั้ง |
|
ประธาน | ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
เว็บไซต์ | www |
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Council of University Presidents of Thailand) เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือจากอธิการบดีของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาล เพื่อการประสานงานกันระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ[1]
ประวัติ
[แก้]เนื่องจากมีการปรับลดจำนวนของหน่วยงานราชการใหม่จากในช่วงปลายปี พ.ศ. 2514 ซึ่งรัฐบาลได้เสนอให้ย้ายโอนมหาวิทยาลัยไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการแทน รวมทั้งการแข่งขันกีฬาดำเนินไปได้ไม่ราบรื่นนัก มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงรวมตัวกันและมอบหมายให้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ศาสตราจารย์ นพ. สวัสดิ์ สกุลไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน[2] ยกร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นข้อตกลงว่าด้วยการประชุมอธิการบดี พ.ศ. 2515 และเปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2515 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้แทนจาก 12 สถาบัน[1] ได้แก่
- ศ.มจ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ศ.พิมล กลกิจ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ศ.ดร.อรุณ สรเทศน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศ.นพ.บุญสม มาร์ติน จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศ.นพ.กษาน จาติกวนิช จากมหาวิทยาลัยมหิดล
- ศ.ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ศ.แสวง สดประเสริฐ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
- ศ.ดร.บัวเรศ คำทอง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ศ.ดร.ชุบ กาญจนประกร จากวิทยาลัยวิชาการศึกษา
- ศ.ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า (ปัจจุบันแยกออกเป็น 3 แห่ง)
- ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ในที่ประชุมครั้งนั้นได้เลือกให้ ศ.ดร.อรุณ สรเทศน์ จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเป็นประธานที่ประชุม และมี ผศ.ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นเลขาธิการ และภายหลังได้ขยายจาก 12 สถาบันเป็น 16 สถาบัน[1]
ข้อวิพากษ์วิจารณ์
[แก้]ปีการศึกษา 2566
[แก้]ในการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทางสื่อสังคมออนไลน์ได้ตั้งข้อสังเกตุถึงการออกข้อสอบที่กำกวมในรายวิชาความถนัดทั่วไป (TGAT) ถึงอาหารที่ส่งผลกระทบต่อโลกร้อนน้อยที่สุด จาก 4 ตัวเลือก คือ ไก่กระเทียม ราดหน้าหมู สเต็กแซลมอน และสุกี้ทะเลรวม โดย ทปอ. ให้คำตอบว่าในข้อนี้เป็นการเพิ่มความตระหนักรู้ตามหลักเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 13 ของสหประชาชาติ[3]
ปีการศึกษา 2567
[แก้]ในรายวิชา TGAT3 ความถนัดทั่วไป รายวิชาสมรรถนะการทำงาน พาร์ทที่ 1 มีการให้คะแนนไม่ตรงกับเกณฑ์การให้คะแนนที่เคยแจงไว้ในบลูปรินต์ (ตัวอย่างแนวทางข้อสอบ) และตามที่เคยทำในปีก่อนหน้า (TCAS66) โดยปกติแล้วพาร์ทนี้จะไม่มีการให้คะแนน 0 คะแนน เนื่องจากมีบางส่วนของข้อสอบเป็นการให้คะแนนแบบลดหลั่นตามความถูกต้อง กล่าวคือ ในตัวเลือก 4 ตัวเลือกจะมีคะแนนตั้งแต่ 0.25 - 1.00 คะแนน แต่มีผู้เข้าสอบบางรายที่ได้คะแนน 0 คะแนนในส่วนนี้ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ซึ่งเป็นผู้จัดการระบบคัดเลือกกลาง ชี้แจงว่าการบลูปรินต์เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น การกำหนดคะแนนต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พัฒนาข้อสอบ และหากนักเรียนตอบถูกจะได้คะแนนตั้งแต่ 0.25 - 1 แต่หากไม่ถูกต้อง จะได้ 0 คะแนน[4][5] และหลังจากเปิดให้มีการขอทบทวนคะแนน พบว่ามีการให้คะแนนผิดในข้อ 143 และ 150 ของข้อสอบชุดที่ 1 และข้อสอบแบบคอมพิวเตอร์ ภายหลัง ทปอ. ได้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว[6]
ในรายวิชา TPAT3 ความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ พบว่าข้อสอบของการสอบแบบคอมพิวเตอร์กับการสอบแบบกระดาษไม่ตรงกันจำนวน 1 ข้อ จึงมีการให้คะแนนฟรีในข้อดังกล่าว[7] และมีการออกข้อสอบคำนวณระบบมวลไม่คงตัว ซึ่งเป็นเนื้อหาเกินหลักสูตรชั้น ม.ปลาย[8] ในเรื่องนี้ ทปอ. ไม่ได้มีการออกมาชี้แจงใด ๆ
ต่อมาในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 เป็นช่วงประกาศคะแนน A–Level ตามปฏิทิน TCAS ปกติ ได้มีประเด็นหลังการประกาศคะแนนสรุปได้เป็นตาราง ดังนี้
กรณี | ประเด็น | ข้อชี้แจงและการดำเนินการ | อ้างอิง |
---|---|---|---|
1 | ผู้เข้าสอบโพสต์บนสื่อสังคมเอกซ์ว่าตนไม่ได้เข้าสอบในรายวิชาคณิตศาสตร์ 1 แต่มีคะแนนถึง 18 จาก 100 คะแนน | ทปอ. ชี้แจ้งว่ามีผู้เข้าสอบในรายวิชานี้ 2 รายในห้องเดียวกัน ทำให้นั่งสอบผิดที่ แต่เมื่อนักเรียนรู้ตัวจึงย้ายไปยังที่นั่งที่ถูกต้องของตน แต่กระดาษคำตอบที่ทำไปแล้วยังถูกส่งเข้าระบบตรวจ จึงมีคะแนนดังกล่าวขึ้นในระบบ แก้ไขคะแนนให้ถูกต้องแล้ว | [9][10] |
2 | ผู้เข้าสอบรายหนึ่งระบุว่าขาดสอบรายวิชาคณิตศาสตร์ 2 แต่มีคะแนน 9/100 | ผู้เข้าสอบรายอื่นนั่งผิดที่ ทำให้ผู้ที่เข้าสอบได้คะแนน 0 แต่ผู้ที่ขาดสอบได้คะแนนแทน แก้ไขคะแนนให้ถูกต้องแล้ว | |
3 | ผู้เข้าสอบรายหนึ่งโพสต์บนสื่อออนไลน์ว่าตนได้คะแนนเท่ากับที่เคยสอบในปี 2566 ถึง 4 จาก 7 วิชา | ผู้เข้าสอบได้คะแนนเท่ากันกับในปี 2566 ทั้ง 4 วิชาจริง แต่ 3 วิชาที่เหลือนอกจากนี้คะแนนไม่ตรงกับปีก่อนหน้า | |
4 | รายวิชาฟิสิกส์ส่วนอัตนัย (เติมคำตอบเป็นตัวเลข) โจทย์ไม่ได้กำหนดตัวเลขของค่าคงที่มวลของอิเล็กตรอน ส่งผลให้ผลลัพธ์ได้ความละเอียดไม่เท่ากัน | ในข้อสอบไม่ได้มีการระบค่าคงที่จริง กรรมการออกข้อสอบพิจารณาให้มีคำตอบที่ถูกต้องจำนวน 6 คำตอบ และเพิ่มเป็น 8 คำตอบในภายหลัง[11] | |
5 | ในรายวิชาคณิตศาสตร์ 1 ปรากฎว่าไม่มีนักเรียนคนใดได้ 100 คะแนนเต็ม โดยที่ปกติจะมีผู้ได้ 100 คะแนนมาตลอด ต่อมามีผู้ใช้เอกซ์ใช้ชื่อผู้ใช้ว่า @Edorktongs โพสต์[12]ว่าคะแนนสูงสุดที่ 97 คะแนนนั้นน่าสงสัยว่าอาจมีการเฉลยผิด [a] | ทปอ.ชี้แจงว่ามีการสลับคำตอบที่ถูกต้องจากตัวเลือกที่ 4 เป็น 5 ในขั้นตอนการทำต้นฉบับเฉลย ปรับแก้คะแนนนักเรียนทุกคนที่ได้รับผลกระทบ และขอความร่วมมือไปยังสถาบันที่นำคะแนนประมวลผลแล้วเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม | |
6 | รายวิชาชีววิทยา[b] เกี่ยวกับระดับออกซิเจนในเหงือกปลา ตัวอักษรกำกับพิมพ์ไม่ชัดเจน | ข้อสอบไม่ชัดเจนจริง ให้คะแนนฟรีสำหรับทุกคน | |
7 | รายวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป[c] ในโจทย์กำหนดสาร NH4 ซึ่งไม่ตรงกับในตัวเลือกที่เป็น NH3 | ตัวเลือกไม่ตรงจริง ให้คะแนนฟรีสำหรับทุกคน | |
8 | รายวิชาสังคม[d] ข้อสอบเป็นไปได้ว่ามีข้อที่ถูก 2 ตัวเลือก | ตรวจสอบแล้ว พิจารณาให้มีข้อที่ถูกต้อง 2 ตัวเลือกคือข้อ 3 และ 5 | |
9 | รายวิชาคณิตศาสตร์ 2 อาจมีเนื้อหาที่เกินหลักสูตรที่กำหนดไว้ออกในข้อสอบ | ทปอ. ปฏิเสธและชี้แจ้งว่าไม่ได้ออกเกินหลักสูตร |
ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ยืนยันว่าและกระทรวงอว.และทปอ. ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบรอบแอดมิชชันโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม[13] จากปกติที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดอันดับ 150 - 900 บาท สำหรับการเลือก 10 อันดับ โดยก่อนหน้านี้มีการพูดถึงประเด็นนี้ทางสื่อโซเชียลแล้ว แต่ทาง ทปอ. แจ้งว่าในปีการศึกษานี้ (2567) ยังไม่ได้รับคำสั่งจากทางประทรวง[ต้องการอ้างอิง]
จากกรณีข้อสอบ A–Level มีข้อผิดพลาดเป็นจำนวนมากนั้นกลุ่มนักเรียนเลวได้ยื่นรายชื่อให้แก่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเรียกร้องให้ทปอ.เปิดเผยข้อสอบและเฉลยเพื่อให้สังคมได้ร่วมกันตรวจสอบคุณภาพของข้อสอบ[14] แต่ทปอ.ยังยืนยันว่าไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากมีการทำสัญญากับผู้พัฒนาข้อสอบว่าจะไม่เปิดเผยข้อสอบและเฉลย[15] ทั้งนี้ตั้งแต่การจัดสอบในปีการศึกษา 2568 เป็นต้นไปทปอ.จะเปิดเผยข้อสอบโดยการอนุญาตให้ผู้เข้าสอบนำข้อสอบ A–Level ออกจากห้องสอบติดตัวกลับไปได้ มีการเผยแพร่เฉลยข้อสอบหลังจากการสอบวิชาสุดท้ายเสร็จสิ้นประมาณ 10 วัน รวมทั้งมีการปรับโครงสร้างของการออกข้อสอบโดยเพิ่มคณะกรรมการกลั่นกรองข้อสอบเพื่อทำหน้าที่จัดชุดข้อสอบ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อสอบและพิจารณาข้อโต้แย้งข้อสอบของผู้เข้าสอบจากเดิมที่คณะกรรมการออกข้อสอบเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด[16]
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ผู้เข้าได้สอบถามไปยังผู้เข้าสอบคนอื่น ๆ ที่ได้คะแนน 97 เท่ากัน พบว่าในข้อที่ 11 ของข้อสอบชุดที่ 1 และข้อที่ 19 ของชุดที่ 2 ส่วนใหญ่ตอบตัวเลือกที่ 4 แต่เฉลยเป็นตัวเลือกที่ 5 อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ดำเนินการโดยการจำข้อสอบเพื่อเปรียบเทียบ เนื่องจากยังไม่มีการเผยแพร่ข้อสอบในการสอบปีการศึกษา 2567
- ↑ ข้อ 10 ในชุดที่ 1 และ ข้อ 11 ของชุดที่ 2
- ↑ ข้อ 9 ในชุดที่ 1 และข้อ 10 ของชุดที่ 2
- ↑ ข้อ 7 ในชุดที่ 1 และ ข้อ 2 ของชุดที่ 2
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "เกี่ยวกับเรา". ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-24. สืบค้นเมื่อ 24 April 2024.
- ↑ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2549). 28 ปี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 5 กันยายน 2549 (PDF). นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-18. สืบค้นเมื่อ 24 April 2024.
- ↑ ""TCAS66" ทปอ. แจงแล้ว ดราม่า ข้อสอบ TGAT ถกสนั่นโซเชียล". คมชัดลึก. 11 December 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-24. สืบค้นเมื่อ 24 April 2024.
- ↑ "ดราม่า #TGAT3 ผู้สมัครท้วงเกณฑ์ให้คะแนน ทปอ. แจงเป็นเรื่องเข้าใจผิด". ไทยรัฐ ออนไลน์. 8 January 2024.
- ↑ "ดราม่าสอบ TGAT! ให้คะแนนไม่ตรงตามเกณฑ์ นักเรียน-ติวเตอร์โวยยับ". pptvhd36.com. 8 January 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-24. สืบค้นเมื่อ 2024-04-24.
- ↑ Mytcas.com (2024), การแก้ไขผลสอบรายวิชา TGAT ส่วนที่ 3, สืบค้นเมื่อ 24 April 2024
- ↑ ชาลี, เจริญลาภนพรัตน์ (2023), ‘ทปอ.’ เล็งให้1.5คะแนนฟรีTPAT3 หลังพบข้อสอบคอมพ์-กระดาษไม่ตรงกัน เยียวยาน.ร.ได้โจทย์ช้า, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-01-02, สืบค้นเมื่อ 24 April 2024
- ↑ @PHYSICSTUTOR6 (2023), ก่อนที่เราจะ move on กันต่อไป มีน้องทักมาถามพี่ข้อนี้ #TPAT3 เมื่อวานน "ระบบมวลไม่คงตัวมันเกินหลักสูตรรร .... คุณออกมาได้อย่างไรน้ออออ " หรือใจความโจทย์มันมีอะไรอย่างอื่นอีกไหมครับ #dek67 ช่วยพี่ต่อเติมหน่อย, สืบค้นเมื่อ 24 April 2024
- ↑ "ทปอ.แจงยิบ ตอบข้อสงสัยหลังประกาศผล A-Level 67 ปัญหาเพียบ". มติชน ออนไลน์. มติชน. 18 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-24. สืบค้นเมื่อ 24 April 2024.
- ↑ "เฉลยแล้ว! ดราม่าขาดสอบ A-level แต่มีคะแนน เหตุนั่งฝนคำตอบผิดโต๊ะ!". pptvhd36.com. 17 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-24. สืบค้นเมื่อ 2024-04-24.
- ↑ "'ปารมี' ชี้ เพื่อความโปร่งใส ทปอ.ต้องเผยคำตอบทันทีหลังสอบเสร็จ ปมข้อสอบ A-Level เฉลยผิด". มติชน ออนไลน์. 23 เมษายน 2567. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-24. สืบค้นเมื่อ 24 April 2024.
- ↑ @Edorktongs (2024), "มีใครจำตำแหน่งข้อในข้อสอบ A-level math1 ได้มั้ยอะครับผม รบกวนทัก reply เดี๋ยวผม dm ไปหาได้ไหมครับ ของผมชุดที่ 1 ครับ ผมรู้สึกว่าการที่คะแนนสูงสุดคือ 97 แปลว่ากรรมการต้องมีการเฉลยผิดแน่นอนครับผม #Alevel67 #Alevel #TCAS67 #DEk67", เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-24, สืบค้นเมื่อ 24 April 2024
- ↑ "Facebook". www.facebook.com. ศุภมาส อิศรภักดี Supamas Isarabhakdi. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-25. สืบค้นเมื่อ 2024-04-24.
- ↑ "นักเรียนเลวยื่น 6,455 รายชื่อ เรียกร้อง ทปอ.ให้เปิดเฉลยข้อสอบ TCAS 67 หลังพบมีปัญหา 5 วิชา | ประชาไท Prachatai.com". prachatai.com. 2024-10-10.
- ↑ "อว.-ทปอ. แก้ปัญหาเปิดเผยข้อสอบ TGAT, TPAT, A-Level". Thai PBS.
- ↑ "ส่อง 5 จุดเปลี่ยนของ A-Level 68 ทปอ.ปรับอะไรเพิ่มอีกบ้าง?". Dek-D.com (ภาษาอังกฤษ).