ข้ามไปเนื้อหา

ทีโอดอร์ โรเซอเวลต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ทีโอดอร์ โรสเวลต์)
ทีโอดอร์ โรเซอเวลต์
Theodore Roosevelt
ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 26
ดำรงตำแหน่ง
14 กันยายน พ.ศ. 2444 – 4 มีนาคม พ.ศ. 2452
ก่อนหน้าวิลเลียม แมกคินลีย์
ถัดไปวิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด27 ตุลาคม พ.ศ. 2401
นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ
เสียชีวิต6 มกราคม พ.ศ. 2462 (60 ปี)
ออยสเตอร์เบย์ รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ
พรรคการเมืองพรรคริพับลิกัน (พ.ศ. 2423-2454, พ.ศ. 2459-2462)
คู่สมรสแอลิซ ฮาธาเวย์ ลี โรเซอเวลต์ (พ.ศ. 2423)
เอดิธ เคอร์มิท คาโรว (พ.ศ. 2429)
บุตรแอลิซ ลี โรเซอเวลต์
ทีโอดอร์ โรเซอเวลต์ III
เคอร์มิท โรเซอเวลต์
อีเทล แคโรว โรเซอเวลต์
อาร์ชิบอล์ด บุลลอตช์ โรเซอเวลต์
เควนติน โรเซอเวลต์
บุพการีทีโอดอร์ โรเซอเวลต์ ซีเนียร์
มาร์ธา สตีวาร์ต บุลลอตต์
การศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ลายมือชื่อ
ทีโอดอร์ โรเซอเวลต์ ในปี พ.ศ. 2447

ทีโอดอร์ โรเซอเวลต์ (อังกฤษ: Theodore Roosevelt) (27 ตุลาคม ค.ศ. 1958 - 6 มกราคม ค.ศ. 1919) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐ ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1901–1909 ก่อนหน้านั้นโรเซอเวลต์มีบทบาททางการเมืองในนิวยอร์ก รวมถึงการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐคนที่ 33 ของรัฐเป็นเวลาสองปี เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 25 ในสมัยของวิลเลียม แมกคินลีย์เป็นระยะเวลาหกเดือน และขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีภายหลังเหตุลอบสังหารแมกคินลีย์ ในฐานะประธานาธิบดี โรเซอเวลต์กลายเป็นผู้นำของพรรครีพับลิกัน และกลายเป็นแรงผลักดันสำหรับนโยบายต่อต้านการผูกขาดและนโยบายก้าวหน้า

ในวัยเด็กโรเซอเวลต์ป่วยด้วยโรคหืดส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ เขาเอาชนะอุปสรรคด้วยจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ด้วยการออกกำลังกายอย่างหนัก เขาได้รับการศึกษาด้วยวิธีบ้านเรียน และเริ่มอาชีพนักธรรมชาติวิทยาก่อนเข้าศึกษาที่วิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในช่วงเวลานั้นเขาสร้างชื่อในฐานะนักเขียนและนักประวัติศาสตร์ยอดนิยมด้วยผลงานหนังสือ The Naval War of 1812 โรเซอเวลต์กลายเป็นผู้นำฝ่ายปฏิรูปของพรรครีพับลิกันในสภานิติบัญญัติแห่งนิวยอร์ก เขาเผชิญความสูญเสียครั้งใหญ่ด้วยการจากไปของภรรยาและมารดาของเขาซึ่งเกิดขึ้นในคืนเดียวกัน[1] เขาใช้เวลานานในการฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วยการซื้อและดำเนินกิจการฟาร์มปศุสัตว์ในดาโกตา โรเซอเวลต์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการกองทัพเรือภายใต้แมคคินลีย์ และในปี ค.ศ. 1898 มีส่วนในการวางแผนการทำสงครามกองเรือในสงครามสเปน–สหรัฐที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ เขาลาออกในเวลาต่อมาเพื่อก่อตั้งกองอาสาในชื่อรัฟไรเดอร์ส (Rough Riders) ซึ่งเป็นหน่วยที่ต่อสู้กับกองทัพสเปนในคิวบาจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และกลับมาเยี่ยงวีรบุรุษสงคราม ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กใน ค.ศ. 1898 อย่างไรก็ดี ความไม่ลงรอยระหว่างตัวเขาและผู้นำพรรคในนิวยอร์กซึ่งไม่ชื่นชอบบุคลิกอันทะเยอทะยานของเขา นำไปสู่การปลุกปลั่นให้แมกคินลีย์เลือกโรเซอเวลต์เป็นผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ผลปรากฏว่า การเลือกตั้งใน ค.ศ. 1900 จบลงด้วยชัยชนะถล่มทลายของแมกคินลียน์ และโรเซอเวลต์

โรเซอเวลต์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสืบต่อจากแมกคินลีย์ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมจากเหตุลอบสังหาร ด้วยวัย 42 ปีในวันที่รับตำแหน่ง เขาจึงกลายเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ[2] ในฐานะผู้นำขบวนการก้าวหน้า เขาสนับสนุนนโยบายภายในประเทศ "Square Deal" ซึ่งเรียกร้องความเป็นธรรมสำหรับพลเมืองทุกคน ทั้งยังกวาดล้างกลุ่มผลประโยชน์ที่ทรงอิทธิพล ปรับปรุงทางรถไฟ รวมถึงตราพระราชบัญญัติอาหารและยา เขายังเป็นหนึ่งในผู้นำที่มุ่งเน้นกระแสอนุรักษ์ โดยในวาระของเขาได้มีสวนสาธารณะและอุทยานแห่งชาติเกิดขึ้นมากมาย และเป็นตัวตั้งตัวตีในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในด้านการต่างประเทศ โรเซอเวลต์มุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาภูมิภาคอเมริกากลาง โดยริเริ่มก่อสร้างคลองปานามา[3]และขยายแสนยานุภาพกองเรือสหรัฐด้วยการส่งกองเรือใหญ่ขนาดใหญ่ไปยังน่านน้ำทั่วโลก เขายังผลักดันสันติภาพในการยุติสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังสนธิสัญญาพอร์ตสมัท ความสำเร็จดังกล่าวทำให้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดใน ค.ศ. 1905 โรเซอเวลต์มีชัยอย่างถล่มทลายอีกครั้งในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1904 เหนืออัลตัน บี. พาร์กเกอร์ เขาบริหารประเทศครบวาระ ตามมาด้วยการรับตำแหน่งของวิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์

อย่างไรก็ดี จุดยืนอนุรักษ์นิยมสุดโต่งของแทฟต์แตกกับโรเซอเวลต์ ส่งผลให้เขาลาออกจากรีพับลิกัน และลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคก้าวหน้าใน ค.ศ. 1912 ทว่าความแตกหักระหว่างเขาและรีพับลิกันเป็นเหตุให้วูดโรว์ วิลสันจากเดโมแครตชนะการเลือกตั้งแทน[4] โรเซอเวลต์ใช้เวลา 4 เดือนเพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ติดตามเส้นทางเดินของแม่น้ำแอมะซอน และเกือบต้องสังเวยชีวิตจากโรคเขตร้อน[5] ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาวิจารณ์การบริหารของวิลสันในฐานะที่กีดกันสหรัฐจากสงคราม ข้อเสนอของเขาที่จะนำกองทหารอาสาไปยังฝรั่งเศสถูกปฏิเสธ ในช่วงบั้นปลาย สุขภาพของโรเซอเวลต์ย่ำแย่ลง เขาเสียชีวิตในเดือนมกราคม ค.ศ. 1919 ใบหน้าของเขาได้ถูกสลักไว้ในอนุสรณ์สถานแห่งชาติภูเขารัชมอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นประธานาธิบดีที่มีความสามารถและมีบทบาทมากคนหนึ่ง เขาได้รับการจัดอันสูงในฐานะหนึ่งในประธานาธิบดีสหรัฐที่ดีที่สุด ผู้คนนิยมเรียกเขาว่า เท็ดดี หรือตัวย่อ T.R. ซึ่งโรเซอเวลต์นั้นคือแรงบันดาลใจให้ก่อให้เกิดตุ๊กตาหมีอย่าง หมีเท็ดดี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี

วัยเด็ก

[แก้]

ทีโอดอร์ โรเซอเวลต์ เกิดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2401 ที่รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เขาเป็นบุตรคนที่ 2 ของ ทีโอดอร์ โรเซอเวลต์ ซีเนียร์ (หรือผู้พ่อ) กับนางมิทที บูลลอช เขามีพี่น้องไม่รวมตัวเขา 3 คนคือ แอนนา โควเลส โรเซอเวลต์ (พี่สาว) เอลเลียท บูลลอช โรเซอเวลต์ (น้องชาย) คอรินี โรเซอเวลต์ โรบินสัน (น้องสาว) ในวัยเด็กนั้น โรเซอเวลต์เป็นเด็กที่มีร่างกายอ่อนแอ และป่วยเป็นโรคหอบหืด ซึ่งในวัยเด็กโรเซอเวลต์ ซีเนียร์ พ่อของเขาได้มีอิทธิพลต่อตัวเขามาก ซึ่งเป็นแรงผลักดันและแรงบันดาลใจของเขาในเวลาต่อมา

โรเซอเวลต์เรียนจบจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ด้วยคะแนนที่ดีมาก เขาได้จบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 โรเซอเวลต์นับว่าเป็นนักอ่านตัวยง เขาชอบอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์ อัตชีวประวัติ ปรัชญา วาทศิลป์ รวมถึงจดจำรายละเอียดต่าง ๆ ภายในหนังสือ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่มากกว่าตำราเรียนที่มีอยู่ เขาชื่นชอบการเล่นกีฬามาก โดยเฉพาะการชกมวย ซึ่งโรเซอเวลต์ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการแข่งชกมวยของฮาวาร์ด โรเซอเวลต์ได้พยายามหัดเล่นกีฬาหลาย ๆ อย่าง เพื่อลบปมด้อยเรื่องสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอในวัยเด็ก นอกจากนี้แล้ว เขายังมีความสนใจในโลกธรรมชาติเป็นอย่างมาก โดยชื่นชอบทั้งการล่าสัตว์และการจับแมลงอีกด้วย

ครอบครัว

[แก้]

โรเซอเวลต์แต่งงานครั้งแรกกับ แอไลส์ ฮาธาเวย์ ลี (29 กรกฎาคม ค.ศ. 186114 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1884) ในปี ค.ศ. 1880 ซึ่งเธอเสียชีวิตในอีก 4 ปีต่อมา โรเซอเวลต์และลีมีบุตรสาวด้วยกัน 1 คนชื่อ แอไลส์ ลี โรเซอเวลต์ ลองวอร์ธ โรเซอเวลต์แต่งงานอีกครั้งในปี ค.ศ. 1886 กับ เอดิธ เคอร์มิท คาโรว โรเซอเวลต์กับคาโรวมีบุตรด้วยกัน 5 คน เป็นบุตรชาย 4 คนและบุตรสาว 1 คนได้แก่

การทำงาน

[แก้]

โรเซอเวลต์ เป็นหนึ่งในประธานาธิบดีอเมริกาผู้มีชื่อเสียงและสำคัญมากที่สุดผู้หนึ่ง โรเซอเวลต์เป็นนักชาตินิยมหัวรุนแรงและเป็นผู้นำที่กระฉับกระเฉง การจัดการสำคัญของการบริหารของโรเซอเวลต์ก็เพื่อจะสร้างความเสมอภาคในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เขาเชื่อว่าเขาควรเป็นตัวแทนประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน และคนงานคอขาว หรือนักธุรกิจ โรเซอเวลต์เรียกชื่อโปรแกรมนี้ว่าการจัดการที่เสมอภาค ปีค.ศ. 1902 เขาชักชวนประเทศเยอรมันให้ตัดสินการโต้แย้งระหว่างอเมริกาและเวเนซุเอลา ในปี 1903 เขาได้คลองปานามา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914 ตอนแรกโรเซอเวลต์ปฏิเสธที่จะเข้าข้างฝ่ายใด แต่หลังจากสองสามเดือนผ่านไป เขาก็ตัดสินใจว่าผลประโยชน์ของอเมริกาและโลกต้องได้รับชัยชนะเหนือเยอรมันเป็นดีที่สุด ความสามารถโดยธรรมชาติของโรเซอเวลต์ผสมกับการประสบความสำเร็จอย่างสม่ำเสมอของเขา ทำให้เขาประสบความสำเร็จมากที่สุดในการแสดงความเป็นผู้นำด้านการควบคุม โรเซอเวลต์ผลักดันการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเขายึดทฤษฎีที่ว่า 1. ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของประชาชนทุกคน 2. การป่าไม้ที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์จะให้ปริมาณไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ 3. หมู่บ้านริมแม่น้ำควรได้รับการพัฒนาเป็นหน่วยรวม ปีค.ศ. 1905 เขาเสนอความช่วยเหลือเพื่อยุติสงครามระหว่างรัสเซียญี่ปุ่น การเป็นกลางของเขาประสบผลสำเร็จและทำให้เขาได้รับรางวัลสันติภาพโนเบล ในทางตรงกันข้าม เขากลับยังส่งกองทหารอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกในปี 1917

การเมือง

[แก้]
โรเซอเวลต์ และครอบครัวในปี ค.ศ. 1903

ทีโอดอร์ โรเซอเวลต์ เป็นนักอนุรักษนิยม สนับสนุนการใช้กฎหมายก้าวหน้าเพื่อช่วยเหลือคนยากจน เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 25 และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบปีคนที่ 26 ภายหลังการลอบสังหารประธานาธิบดี วิลเลียม แมกคินลีย์ ในปี ค.ศ. 1901 และได้รับเลือกตั้งอีกหนึ่งสมัย

ทีโอดอร์ โรเซอเวลต์ ลาออกจากพรรครีพับลิกัน และลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคก้าวหน้า (Progressive Party) ในปี ค.ศ. 1912 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ผู้ที่ชนะเลือกตั้ง คือ ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน จากพรรคเดโมแครต

ทีโอดอร์ โรเซอเวลต์ ผลักดันให้โครงการขุดคลองปานามาสำเร็จในปี ค.ศ. 1903 (พ.ศ. 2446) เขาเป็น 1 ใน 4 ประธานาธิบดีสหรัฐที่รูปใบหน้าได้รับการสลักไว้ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมานต์รัชมอร์ (Mount Rushmore) ชื่อของเขาได้ใช้เป็นชื่อเรือดำน้ำ และเรือบรรทุกเครื่องบิน

โรเซอเวลต์ ในชุดเครื่องแบบทหาร

อ้างอิง

[แก้]
  1. Emery, Tom. "Teddy Roosevelt's wife, mother both died on Valentine's Day 1884". Monroe News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2025-02-14.
  2. "Theodore Roosevelt – The White House". trumpwhitehouse.archives.gov. สืบค้นเมื่อ 2025-02-14.
  3. Rabe, Stephen G. (2023-06-27). "Theodore Roosevelt, the Panama Canal, and the Roosevelt Corollary to the Monroe Doctrine". IdeAs. Idées d'Amériques (ภาษาอังกฤษ) (22). doi:10.4000/ideas.16670. ISSN 1950-5701.
  4. "1912 | The American Presidency Project". www.presidency.ucsb.edu. สืบค้นเมื่อ 2025-02-14.
  5. "The Amazonian Expedition That Nearly Killed Theodore Roosevelt". HISTORY (ภาษาอังกฤษ). 2023-10-10. สืบค้นเมื่อ 2025-02-14.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]