ข้ามไปเนื้อหา

ทากิฟูงุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทากิฟูงุ
ปลาปักเป้าในสกุลนี้ที่ไม่ทราบชนิด (Takifugu sp.)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไฟลัมย่อย: Vertebrata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Tetraodontiformes
วงศ์: Tetraodontidae
สกุล: Takifugu
Abe, 1949
ชนิด
25 (ดูในตาราง)
ชื่อพ้อง[1]
  • Fugu Abe, 1952
  • Gastrophysus Müller, 1843
  • Sphaeroides Müller, 1843

ทากิฟูงุ (อังกฤษ: Takifugu; ญี่ปุ่น: トラフグ属) เป็นชื่อวิทยาศาสตร์เรียกสกุลหนึ่งของปลาปักเป้าในวงศ์ปลาปักเป้าฟันสี่ซี่ (Tetraodontidae) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อสามัญภาษาญี่ปุ่นว่า "ฟูงุ" (河豚-แปลว่า หมูแม่น้ำ) เนื่องจากเป็นปลาปักเป้าสกุลที่นิยมนำมาทำซาชิมิหรือปลาดิบ อาหารญี่ปุ่นที่มีชื่อไปทั่วโลก โดยใช้ชื่อสกุลว่า Takifugu[1]

ลักษณะ

[แก้]

ปลาปักเป้าในสกุลทากิฟูงุนี้ มีทั้งหมด 25 ชนิด พบอาศัยทั้งในทะเล, น้ำกร่อย และน้ำจืด มีรูปร่างโดยรวมคือ คล้ายลูกแพร์ กล่าวคือ มีลำตัวช่วงบนที่เล็ก แต่ช่วงล่างที่ใหญ่ จมูกเป็นท่อยื่นมีช่องเปิด 2 ช่อง ครีบหางตัดตรง เส้นข้างลำตัวมี 2 เส้นโดยส่วนล่างของคอดหางมีสันเนื้อคู่ไปกับเส้นข้างลำตัว มีหนามบริเวณหลัง ข้างลำตัว และท้อง[2] จัดเป็นปลาปักเป้าที่ว่ายน้ำได้เร็วกว่าสกุล Tetraodon โดยมากพบกระจายพันธุ์อยู่ตามชายฝั่งทะเลของภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น, จีน, เวียดนามตอนเหนือ และพบได้ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก แถบประเทศอินเดีย เป็นต้น[3]

มีสีลำตัวเป็นสีเขียวสดใส หรือสีเขียวเข้ม ช่วงท้องสีขาว และมีจุดเด่นคือ มีจุดกลมสีดำบริเวณครีบอกทั้ง 2 ข้าง ขนาดก็แตกต่างกันออกไปตามแต่ละชนิด โดยชนิดที่เล็กที่สุด คือ Takifugu ocellatus ที่มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 15 เซนติเมตร ซึ่งในประเทศไทยมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย และชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ T. rubripes ที่โตเต็มที่ได้ถึง 70 เซนติเมตร ซึ่งในตำราการแพทย์จีนในการนำไปทำเป็นยาด้วย

พฤติกรรมและความสำคัญ

[แก้]

ในชนิดที่เป็นปลาสองน้ำ จะเป็นปลาที่วางไข่ในน้ำจืด จากนั้นเมื่อโตขึ้นจะค่อย ๆ อพยพย้ายไปอยู่ในแหล่งน้ำกร่อยหรือตามแถบปากแม่น้ำหรือชายฝั่ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวของภูมิภาคแถบนี้ ปลาที่อยู่ในรุ่นพร้อมจะผสมพันธุ์จะอพยพเข้ามาในแม่น้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำแยงซี เพื่อที่จะผสมพันธุ์และวางไข่ เป็นวงจรเช่นนี้ทุกปี[3]

ปลาปักเป้าสกุลทากิฟูงุ หรือ ฟูงุนี้เป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมญี่ปุ่น จนปรากฏเป็นภาพพิมพ์แกะไม้ในยุคเอโดะ ซึ่งปลาในสกุลนี้ทุกชนิดล้วนแต่มีสารพิษในตัวที่เรียกว่า "เตโตรโดท็อกซิน" (Tetrodotoxin) มากน้อยแล้วแต่ชนิด แต่ชนิดที่มีสารพิษชนิดนี้น้อยที่สุด คือ Takifugu oblongus แต่กระนั้นก็สามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้สำหรับผู้ที่รับประทานเข้าไป ซึ่งสารพิษชนิดนี้มีความรุนแรงกว่าไซยาไนด์ถึง 1,200 เท่า และทนความร้อนได้สูงถึง 200 เซลเซียส ดังนั้นการใช้ความร้อนธรรมดาในการปรุงอาหารจึงไม่สามารถทำลายพิษได้ ต้องใช้พ่อครัวที่มีความชำนาญในการชำแหละและปรุง ซึ่งต้องได้รับการลงทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากทางการเสียก่อน จึงจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการได้

ภาพอุกิโยะในยุคเอโดะของฮิโระชิเงะ แสดงภาพปลาปักเป้าเคียงข้างกับปลาฮะมะจิ

รายชื่อชนิดของปลาปักเป้าในสกุลทากิฟูงุ

[แก้]
รายชื่อชนิดของปลาปักเป้าในสกุลทากิฟูงุ
ชนิด ผู้อนุกรมวิธาน ชื่อสามัญ
(เรียกทับศัพท์)
แหล่งกระจายพันธุ์ ขนาดเมื่อโตเต็มที่ รายละเอียด
Takifugu alboplumbeus Richardson, 1845 Komon-damashi (ญี่ปุ่น) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก 23 เซนติเมตร มีพิษ, อาศัยอยู่เฉพาะทะเล
Takifugu basilevskianus? Basilewsky Sansaifugu (ญี่ปุ่น) ? ? มีพิษ
Takifugu bimaculatus Richardson, 1845 Futatsuboshi-fugu (ญี่ปุ่น) มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ 30 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu chinensis* Abe, 1949 Karasu (ญี่ปุ่น) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 55 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu coronoidus Ni & Li, 1992 暈環多紀魨 (จีน) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ? มีพิษน้อย
Takifugu chrysops* Hilgendorf, 1879 Akamefugu (ญี่ปุ่น) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 20 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu exascurus Jordan & Snyder, 1901 Mushifugu (ญี่ปุ่น) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 15 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu flavidus Li, Wang & Wang, 1975 Sansaifugu (ญี่ปุ่น), Hwang-jom-pok (เกาหลี), Jú húng dong fang tún (จีน) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 35 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu niphobles* Jordan & Snyder, 1901 Kusafugu (ญี่ปุ่น), Cá Nóc sao (เวียดนาม) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 15 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu oblongus Bloch, 1786) Lattice blaasop, Bebo (อินเดีย), Buntal (มาเลเซีย), Pita-pita (อินโดนีเซีย), Ruitjies-blaasop (แอฟริกาใต้) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก 40 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu obscurus* Abe, 1949 Mefugu (ญี่ปุ่น) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก 40 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu ocellatus Linnaeus, 1758 弓斑多紀魨 (จีน) ทวีปเอเชีย 15 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu orbimaculatus Kuang, Li & Liang, 1984 圓斑多紀魨 (จีน) ทวีปเอเชีย ? มีพิษน้อย
Takifugu pardalis* Temminck&Schlegel, 1850 Higanfugu (ญี่ปุ่น), Chol-pok (เกาหลี), Bào wén dong fang tún (จีน) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 30 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu poecilonotus* Temminck & Schlegel, 1850 Komonfugu (ญี่ปุ่น), Huin-jom-pok (เกาหลี), Ban dian dong fang tún (จีน) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 20 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu porphyreus* Temminck & Schlegel, 1850 Namera-fugu, Mafugu (ญี่ปุ่น), Kom-pok (เกาหลี), Zi sè dong fang tún (จีน) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 52 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu pseudommus Chu, 1935 Nameradafugu, Nameradamashi (ญี่ปุ่น) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 35 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu radiatus Abe, 1947 Nashifugu (ญี่ปุ่น) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 20 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu reticularis Tien, Chen & Wang, 1975 Amime-fugu (ญี่ปุ่น) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 29 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu rubripes* Temminck & Schlegel, 1850 Torafugu (ญี่ปุ่น), Hóng qí dong fang tún (จีน), Cha-ju-pok (เกาหลี) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 70 เซนติเมตร มีพิษ, ใช้ในยาจีน, มีลำดับจีโนมที่สมบูรณ์
Takifugu snyderi* Abe, 1988 Shosai-fugu (ญี่ปุ่น) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก 30 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu stictonotus* Temminck & Schlegel, 1850 Gomafugu (ญี่ปุ่น) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 35 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu vermicularis Temminck&Schlegel, 1850 Shosaifugu, Nashifugu (ญี่ปุ่น), Kuk-mae-ri-bok (เกาหลี), Chóng wén dong fang tún (จีน) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 30 เซนติเมตร มีพิษ
Takifugu xanthopterus* Temminck & Schlegel, 1850 Shimafugu (ญี่ปุ่น), Kka-ch'i-pok (เกาหลี), Tiáo wén dong fang tún (จีน) มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ 50 เซนติเมตร มีพิษ

[4]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Takifugu". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  2. "คู่มือจำแนกชนิดและการศึกษาความเป็นพิษของปลาปักเป้าทะเลวงศ์ Tetraodontidae ในน่านน้ำไทย". กรมประมง. 22 March 2014. สืบค้นเมื่อ 22 March 2014.
  3. 3.0 3.1 นิตยสารอควาเรี่ยมบิส Vol.1 issue 4 ฉบับเดือนตุลาคม 2010 คอลัมน์ เปิดกรุ...ปักเป้าน้ำจืด
  4. รายละเอียดในFishbase.com

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]