ข้ามไปเนื้อหา

ภาพอูกิโยะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ภาพอุกิโยะ)
ทิวทัศน์ของภูเขาฟูจิภาพหนึ่งในชุด “สถานี 53 สถานีบนเส้นทางโทไกโด” (Fifty-three Stations of the Tōkaidō) โดยฮิโรชิเงะ ตีพิมพ์ ค.ศ. 1850

ภาพอูกิโยะ (ญี่ปุ่น: 浮世絵โรมาจิUkiyo-e) คือกลุ่ม (genre) ของภาพศิลปะของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในยุคเอโดะ ซึ่งเป็นภาพที่แสดงความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนชั้นกลางในยุคนั้น โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับสิ่งบันเทิงเริงรมย์ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงการขับร้อง สตรีในแหล่งเริงรมย์ ภูมิทัศน์ แต่มีบางส่วนที่อยู่ในหัวข้อของประวัติศาสตร์ ราชสำนัก และศาสนาด้วย โดยภาพศิลปะในกลุ่มนี้ มีทั้งภาพเขียนด้วยมือ (肉筆画) ซึ่งมีราคาสูงกว่าเพราะแต่ละภาพมีเพียงชิ้นเดียว และ ภาพที่พิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ (木版画) ที่มีราคาถูกกว่าเนื่องจากสามารถพิมพ์ได้จำนวนมากกว่า คนทั่วไปสามารถซื้อหาได้ง่าย ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปจะเป็นภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้นี้

คำว่า “อูกิโยะ” ความหมายแต่เดิมได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ เขียนเป็นตัวหนังสือภาษาญี่ปุ่นว่า 憂世 หมายถึง โลกนี้มีแต่ความทุกข์ หลังจากนั้นรับความหมายจากภาษาจีนของคำว่า 浮生 ซึ่งหมายถึง ชีวิตนี้ไม่เที่ยง (แปรปรวน) เข้ามารวมกัน กลายเป็นตัวเขียนใหม่คือ 浮世 ซึ่งหมายถึง โลกนี้ไม่เที่ยง ผู้คนในยุคหลังที่ใช้ชีวิตบันเทิงเริงรมย์ และหันหลังให้ความเคร่งครัดทางศาสนาในยุคก่อนหน้า มองว่าในเมื่อโลกนี้ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ก็ควรปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่บันเทิงใจ (ญี่ปุ่น: 浮かれるโรมาจิukareru) จึงนำศัพท์นี้มาใช้ในความหมายบันเทิงเริงรมย์ ซึ่งตรงกันข้ามกับความหมายในยุคแรก ภาพที่วาดออกมาตามแนวนี้ จึ่งเป็นภาพของสิ่งบันเทิงใจในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเกี่ยวกับละครคาบูกิ ซูโม่ เกอิชา หญิงงามเมืองทั้งระดับทั่ว ๆ ไป และระดับสูงที่อยู่บริเวณโยชิมูระ ซึ่งมีชื่อเรียกว่าโออิระ (花魁) ไปจนถึงภาพที่แสดงการเสพกามที่เรียกว่าชุงงะ (ญี่ปุ่น: 春画โรมาจิshunga) ลักษณะดังกล่าวทำให้ “ukiyo-e” หรือ “ภาพของโลกที่น่าบันเทิงใจ” เป็นกลุ่มภาพที่มีเอกลักษณ์ของตนเองต่างไปจากภาพเขียนประเภทอื่น

นักประพันธ์ร่วมสมัยอาซาอิ เรียวอิ (Asai Ryōi) ได้บรรยายถึง เรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของความหมายตามยุคสมัยของคำว่า “อูกิโยะ” ในนิยายชื่อ Ukiyo monogatari (浮世物語 หรือ "ตำนานของอูกิโยะ") ที่เขียนในปี ค.ศ. 1661 โดยตอนหนึ่งได้บรรยายถึงความหมายในยุคหลังว่า:

... ใช้ชีวิตอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง, ดื่มด่ำกับความงามของดวงจันทร์ หิมะ ดอกซากูระ ใบเมเปิล ร้องเพลง ดื่มเหล้าสาเก ไม่วิตกกับความขัดสนที่จะตามมา ปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่มีความกังวล .. เฉกเช่น น้ำเต้าที่ล่องลอยไปกับสายน้ำ... นี่คือสิ่งที่เรียกว่า อูกิโยะ[1]

ลักษณะศิลปะที่มีวิวัฒนาการขึ้นมาจากปรัชญานี้เป็นที่นิยมกันในวัฒนธรรมเมืองของเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) ระหว่างครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เริ่มจากงานที่มีสีเดียวของฮิชิกาวะ โมโรโนบุ ในคริสต์ทศวรรษ 1670 ในระยะแรกภาพพิมพ์ก็ใช้เพียงหมึกอินเดีย (India ink) ต่อมาก็มีการเพิ่มสีด้วยแปรง แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซูซูกิ ฮารูโนบุ ก็คิดค้นวิธีพิมพ์หลายสีขึ้นที่เรียกว่า “นิชิกิ-เอะ” (nishiki-e) ขึ้น

ภาพอูกิโยะเป็นศิลปะที่ราคาพอประมาณเพราะสามารถผลิตเป็นจำนวนมากได้ และเป็นงานที่สร้างขึ้นสำหรับชาวเมืองผู้ที่ส่วนใหญ่แล้วก็ฐานะไม่ดีพอที่จะซื้องานที่เป็นต้นฉบับได้ หัวข้อที่สร้างในระยะแรกก็เป็นชีวิตในเมือง โดยเฉพาะจากบริเวณแหล่งสำราญ ที่รวมทั้งสตรีผู้มีความงาม นักมวยปล้ำซูโม่ และนักแสดงละครที่มีชื่อเสียง ต่อมาหัวเรื่องก็ขยายไปรวมภูมิทัศน์ที่ก็กลายมาเป็นที่นิยม หัวข้อทางการเมือง และ ชีวิตของชนชั้นที่เหนือกว่าที่กล่าวเป็นหัวข้อที่ทำได้แต่หาดูได้ยาก แต่กิจกรรมทางเพศซึ่งก็ไม่ห้ามจะพบได้บ่อยในงานพิมพ์ภาพ แต่ศิลปินและผู้พิมพ์บางครั้งก็จะถูกลงโทษเมื่อสร้างภาพ "ชุงงะ" ที่ชัดแจ้ง

ศิลปินภาพอูกิโยะคนสำคัญ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Richard Douglas Lane. Images from the Floating World. Old Saybrook, CT: Konecky & Konecky, 1978. p11.
  • Lambourne, Lionel. Japonisme: Cultural Crossings Between Japan and the West. London, New York: Phaidon Press, 2005. ISBN 0-7148-4105-6
  • Friese, Gordon. Hori-shi. 249 facsimiles of different seals from 96 Japanese engravers. Unna: Verlag im bücherzentrum, 2008.
  • Newland, Amy Reigle. The Hotei Encyclopedia of Japanese Woodblock Prints. Amsterdam: Hotei Publishing, 2005. ISBN 90-74822-65-7
  • Roni Uever, Susugu Yoshida (1991) Ukiyo-E: 250 Years of Japanese Art, Gallery Books, 1991, ISBN 0-8317-9041-5
  • Yamada, Chisaburah F. Dialogue in Art: Japan and the West. Tokyo, New York: Kodansha International Ltd., 1976. ISBN 0-87011-214-7

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ภาพอูกิโยะ