ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว
ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว 月牙泉 Crescent Lake | |
---|---|
ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวและศาลาชมทิวทัศน์ ปี 2023 | |
ระบบอุทกวิทยา | |
ชื่อแหล่งน้ำ | ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว 月牙泉 Crescent Lake |
ข้อมูลทั่วไป | |
ที่ตั้ง | มณฑลกานซู่ ประเทศจีน |
ความยาว | 218 เมตร[1] |
ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว (จีน: 月牙泉; พินอิน: Yuèyá Quán หรือ เยฺว่หยาฉฺวัน; แปลตามตัว สระน้ำซับพระจันทร์เสี้ยว) เป็นทะเลสาบขนาดเล็กรูปพระจันทร์เสี้ยว ก่อตัวจากน้ำซับที่พุขึ้นตามธรรมชาติจนกลายเป็นโอเอซิสกลางทะเลทราย ห่างจากเมืองตุนหฺวางในมณฑลกานซู่ไปทางใต้ 5 กิโลเมตร
ประวัติ
[แก้]ในสมัยโบราณทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว รู้จักกันในชื่อ 渥洼池 (โว่วาฉือ; สระหลุมยุบ), 沙井 (ชาจิ่ง; บ่อทราย), 药泉 (เย่าฉฺวัน; น้ำพุยา)[2] เป็นหนึ่งในแปดจุดชมวิวในตุนหฺวางตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น[2] และถูกเรียกว่า เยฺว่หยาฉฺวัน ในสมัยราชวงศ์ชิง
ในปี 1932 มิลเดรด เคเบิล (Mildred Cable) และ ฟรานเชสกา เฟรนช์ (Francesca French) เยี่ยมชมทะเลสาบระหว่างการเดินทางในภูมิภาคนี้ และบันทึกความประทับใจของพวกเขาไว้ในหนังสือทะเลทรายโกบี (The Gobi Desert) กล่าวว่า "รอบตัวนั้น เราเห็นชั้นของเนินทรายสูงตระหง่าน อย่างไรก็ตามเราพยายามโกหกตัวเองให้สำรวจสืบเสาะต่อไป ในขณะที่เราดิ้นรนอย่างสิ้นหวังบนสันเขาสุดท้ายที่เราปีนข้าม มองลงไปที่สิ่งที่อยู่ไกลข้างหน้า เราเห็นทะเลสาบที่เบื้องล่าง มันช่างสวยงามตระการตา"[3]
ได้รับการจัดระดับโดยคณะกรรมการจัดระดับคุณภาพสถานที่ท่องเที่ยวแห่งประเทศจีนสถานที่ท่องเที่ยวระดับ AAAAA เมื่อปี 2558
การก่อตัว
[แก้]เชื่อกันว่าทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวและโอเอซิสก่อตัวและคงอยู่มากว่า 2,000 ปี[1] ตาม "พงศาวดารของเทศมณฑลตุนหวง" ทะเลสาบไม่เคยถูกทรายปกคลุมซึ่งพัดมาจากลมแรงตั้งแต่ประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน[4] การกล่าวอ้างต่าง ๆ เกี่ยวกับการก่อตัวของทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว เช่น เกิดจากพุน้ำซับที่ค่อย ๆ สะสมตัว, รอยเลื่อน, น้ำพุจากรอยแยกธรรมชาติ, น้ำบาดาลที่ล้น และส่วนที่เหลืออยู่ของแม่น้ำโบราณ (แม่น้ำตั่งสายเดิมที่เปลี่ยนเส้นทางและคงเหลือเป็นทะเลสาบรูปแอก)
ในปี 1997 มีการเริ่มต้นการสำรวจ หลังจากสำรวจและวิจัยภาคสนามนานกว่าห้าปี ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาจากสถาบันการสำรวจและออกแบบวิศวกรรมป้องกันและควบคุมภัยพิบัติทางธรณีวิทยาของมณฑลกานซู่ (甘肃地质灾害防治工程勘查设计院) เชื่อว่า ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวตั้งอยู่ในช่องแคบระหว่างตะกอนน้ำพารูปพัดแม่น้ำตั่ง (党河洪积扇) และตะกอนน้ำพารูปพัดห้วยน้ำซีฉุ่ย (西水沟积扇) โดยก่อตัวจากสภาพภูมิประเทศที่ต่ำและระดับน้ำใต้ดินที่เอ่อล้นสู่พื้นผิว แม่น้ำตั่งเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไหลผ่านแอ่งตุนหฺวางและยังเป็นแหล่งน้ำบาดาลหลักในลุ่มน้ำตุนหฺวางอีกด้วย (แม่น้ำตั่งเป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ที่ไหลจากภูเขาในบริเวณทางใต้ในลักษณะที่ลุ่มน้ำแบบปิด ไม่สะสมตัวบนพื้นผิว แต่ไหลลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน) ลำธารใต้ดินของแม่น้ำตั่งเติมเต็มทะเลสาบอย่างสม่ำเสมอทำให้ระดับน้ำมีความสมดุล อีกปัจจัยหนึ่งคือที่ตั้งของทะเลสาบที่อยู่ท่ามกลางเนินทราย ที่ด้านใต้และด้านเหนือจะสูงกว่าฝั่งตะวันออกและตะวันตก ลมที่พัดไปตามเนินทรายจะหมุนขึ้นอย่างกะทันหันจากทางเข้าตะวันออกเฉียงใต้ที่มีทรายขึ้นไปด้านบนแล้วออกจากทางออกทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทรายจึงไม่ทับถมตัวโอเอซิส ลมพัดไปในทิศทางนั้นตลอดทั้งปี ทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามของหาดทรายและทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว[1][4][5][6]
ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว ถูกล้อมรอบด้วยเนินทรายที่เรียกว่า "เนินทรายกระซิบ" (鸣沙山 )[7][8]
ระดับน้ำ
[แก้]จากข้อมูลในปี 1960 ความลึกของน้ำเฉลี่ยของทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวอยู่ที่ 4 ถึง 5 เมตร (13 ถึง 16 ฟุต) และจุดที่ลึกที่สุดคือ 7.5 เมตร (25 ฟุต) แต่ในอีก 40 ปีถัดมาระดับน้ำของทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวลดลงทุก ๆ ปี ความลึกของทะเลสาบลดลงมากกว่า 7 เมตร[9] ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 พื้นผิวน้ำของทะเลสาบได้หดตัวลงอย่างมาก ความลึกของน้ำเฉลี่ยในช่วงนั้น อยู่ที่ 0.9 เมตร และจุดที่ลึกที่สุดเพียง 1.3 เมตร ในปี 2006 รัฐบาลท้องถิ่นเมืองตุนหฺวางด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางได้เริ่มเติมทะเลสาบและการฟื้นฟูระดับน้ำของทะเลสาบ ซึ่งความลึกและขนาดของทะเลสาบเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่นั้นมา[10] โครงการบำบัดรักษาฉุกเฉินในการผันน้ำบาดาล เสนอและออกแบบโดยสถาบันการสำรวจและออกแบบวิศวกรรมป้องกันและควบคุมภัยพิบัติทางธรณีวิทยาของมณฑลกานซู่[11]
การท่องเที่ยว
[แก้]ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยวและทะเลทรายโดยรอบได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยว มีบริการขี่อูฐและยานพาหนะ
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Daily (2013-05-13). "No, it's not a mirage: Tiny 2,000-year-old oasis in China that keeps city alive is saved from being swallowed by desert". Mail Online.
- ↑ 2.0 2.1 刘洋 (2005-09-12). "甘肃敦煌月牙泉在"呼救"". 搜狐新闻. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-07. สืบค้นเมื่อ 2015-04-11.
- ↑ Cable, Mildred; French, Francesca (1950). The Gobi Desert. London: Readers Union & Hodder and Stoughton. p. 63.
- ↑ 4.0 4.1 "Crescent Lake in Dunhuang". chinaexploration.com.
- ↑ จนคุณรู้จักทุกมุมของโลกใบนี้มากขึ้น!, เกี่ยวกับผู้แต่ง Expedia Th เอ็กซ์พีเดียรักการท่องเที่ยวและชื่นชอบที่จะเก็บประสบการณ์ใหม่ๆ มาฝาก เพื่อพาคุณออกไปสำรวจ ค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จากทั่วโลก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้คุณรู้สึกว่า "โลกใบนี้เล็กนิดเดียว" (2017-12-02). "ตามหาทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว เที่ยวทะเลทรายโกบี". บล็อกเอ็กซ์พีเดีย.
- ↑ "เที่ยวทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว ด้วยตัวเอง เมื่อไหร่ดี". When OR Where.
- ↑ "ทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว และเนินทรายกระซิบ เมืองตุนห". www.palanla.com.
- ↑ "ทะเลสาบจันทร์เสี้ยว เย่ว์หยาเฉวียน โอเอซิสกลางทะเลทราย ประเทศจีน".
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)https://travel.trueid.net - ↑ Yardley, Jim (27 May 2005). "A Crescent of Water is Slowly Sinking into the Desert". The New York Times.
- ↑ "China's tiny desert oasis Yueyaquan Crescent Lake saved from a future". 15 May 2013.
- ↑ "No, it's not a mirage: Tiny 2,000-year-old oasis in China that keeps city alive is saved from being swallowed by desert". Mail Online. 13 May 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-27. สืบค้นเมื่อ 14 May 2013.