ข้ามไปเนื้อหา

ทรงอย่างแบด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"ทรงอย่างแบด"
ปกซิงเกิล
ซิงเกิลโดยเปเปอร์เพลนส์
ภาษาภาษาไทย
วางจำหน่าย17 ตุลาคม 2565 (2565-10-17)
แนวเพลงพังก์ร็อก
อีโมแทรป[1]
ความยาว3:26
ค่ายเพลงจีนี่ เรคคอร์ด
ผู้ประพันธ์เพลงธันวา เกตุสุวรรณ
โปรดิวเซอร์ธันวา เกตุสุวรรณ
มิวสิกวิดีโอ
"ทรงอย่างแบด (Bad Boy) ที่ยูทูบ
สมาชิกของเปเปอร์เพลนส์รับรางวัลในงาน The Guitar MAG Awards 2023
เชน – นครินทร์ ขุนภักดี (ซ้าย) และ
ฮาย – ธันวา เกตุสุวรรณ (ขวา)

"ทรงอย่างแบด (Bad Boy)" เป็นเพลงของเปเปอร์เพลนส์ วงดนตรีแนวร็อกไทย วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2565 โดยจีนี่ เรคคอร์ด เนื้อร้องและทำนองโดย ธันวา เกตุสุวรรณ หนึ่งในสมาชิกสองคนของเปเปอร์เพลนส์ "ทรงอย่างแบด" ได้รับความนิยมในหมู่เด็ก นักภาษาศาสตร์และนักทฤษฎีดนตรีให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเพลงมีการซ้ำอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้ฟังในวัยเด็กสามารถจดจำเนื้อร้องและทำนองได้ง่าย

ภูมิหลัง

[แก้]

แต่เดิม เปเปอร์เพลนส์ซึ่งในช่วงที่เริ่มประพันธ์เพลงนั้นประกอบด้วยสมาชิก 2 คน ได้แก่ ธันวา เกตุสุวรรณ (ฮาย) และ นครินทร์ ขุนภักดี (เชน) ตั้งกลุ่มเป้าหมายของ "ทรงอย่างแบด" ไว้ที่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกันกับเพลง พ.ศ. 2565 "เสเสร้ง (Pretend)" ของวง[2]

การเรียบเรียงและเนื้อร้อง

[แก้]

เปเปอร์เพลนส์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะให้เพลงนี้เกิดความนิยมในหมู่เด็กตั้งแต่การประพันธ์เพลงในช่วงแรก จึงเกิดความประหลาดใจเมื่อ "ทรงอย่างแบด" สามารถสร้างกระแสในผู้ฟังวัยเด็กได้ และเมื่อลองวิเคราะห์ด้วยตนเองดู พบว่าเป็นเรื่องของทำนองเพลงที่ย้ำ ๆ และการเลือกใช้โน้ตที่ง่าย ทั้งคู่กล่าวต่อว่า "การเรียบเรียงดนตรีเหมือนเพลงกล่อมเด็กนอน" จากการวิเคราะห์ของพวกเขา[3]

ในมุมมองภาษาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเดอะแมตเตอร์ ว่ารูปแบบของคำที่จดจำง่าย หนึ่งในท่อนของเนื้อร้องที่ได้รับความนิยม "ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย" มีรูปแบบการออกเสียงที่เป็นระบบและแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้น การออกเสียงจึงทำได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กที่ยังออกเสียงที่มีความซับซ้อนได้ไม่เท่าผู้ใหญ่ ศุจิณัฐยังพบว่า การออกเสียงพยัญชนะมีรูปแบบแบบเดียวกัน กล่าวคือ พยางค์แรกของทั้งสองวรรค "ทรง" กับ "แซด" ออกเสียง ส หรือ ซ /s/ ซึ่งเป็นเสียงที่ปุ่มเหงือก ตามด้วยการซ้ำคำว่า "อย่าง" มีพยัญชนะต้น ย เป็นเสียงเพดานแข็ง และ "แบด" กับ "บ่อย" ออกเสียง บ /b/ เป็นเสียงริมฝีปากเหมือนกัน ศุจิณัฐระบุว่า การซ้ำอย่างเป็นระบบของ "ปุ่มเหงือก–เพดานแข็ง–ริมฝีปาก" ทำให้ผู้ฟังสามารถออกเสียงได้แบบชัดเจนและคาดเดาคำต่อไปได้[4] มีการตั้งข้อสังเกตว่าท่อน "ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย" มีความคล้ายกับการท่องสูตรคูณอย่าง "สองหนึ่งสอง สองสองสี่"[5][6] แบรนด์อินไซต์เอเชีย วิเคราะห์ว่าทุกวรรคมีสัมผัสคำคล้องจองกัน เหมือนเพลงเด็กภาษาอังกฤษอย่าง "ดาวดวงน้อย (Twinkle, Twinkle, Little Star)" ที่มีสัมผัสระหว่างสองคำ "Twinkle-Little" อีกทั้ง "ทรงอย่างแบด" ยังใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษง่าย ๆ อย่าง "sad" (เศร้า) หรือ "boy" (เด็กชาย) และ "bad" (ไม่ดี) เป็นต้น[7]

ชุดาลักษณ์ พินันท์ อาจารย์ประจำวิชาการประสานเสียงดนตรีร่วมสมัย มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ให้สัมภาษณ์กับเวิร์คพอยท์ทูเดย์ กล่าวว่า ผู้ฟังวัยเด็กสามารถร้องได้ เพราะโน้ตเสียงสูงต่ำไม่ได้ต่างกันเกินไปจนร้องไม่ได้ และเมื่อฟังซ้ำบ่อย ๆ จะทำให้จดจำทำนองได้ ชุดาลักษณ์กล่าวต่อว่า "เนื้อเพลงก็จะดูเท่ ๆ นิดนึงสำหรับเด็กผู้ชาย ถ้าเราดูในคลิปก็จะเห็นน้อง ๆ ผู้ชายอยู่กับเพื่อน ๆ กัน เวลาเขาร้องคำว่าทรงอย่างแบด เขาก็อาจจะรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ชายเท่ ๆ เขากล้าร้องเนื้อนี้ออกมา"[8]

การตอบรับ

[แก้]

"ทรงอย่างแบด" ได้รับความนิยมอย่างมากในวัยเด็ก โดยหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพลงเกิดกระแสในเด็กได้ มีการวิเคราะห์ว่ามาจากติ๊กต็อก สื่อสังคมที่เด็กมักใช้ ประกอบกับเนื้อร้องที่เข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อน นักการตลาดยังชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่คล้ายเคียงกันที่สร้างความประสบสำเร็จให้แก่ "เบบีชาร์ค (Baby Shark)" ที่ได้รับความนิยมในวัยเด็กเช่นกัน[9]

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ให้คำขวัญวันเด็กแห่งชาติในปี 2566 โดยล้อจากเนื้อร้องหลักของเพลงที่ว่า "ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชายแบดบอย" เป็น "เรียนอย่าแบด แซดอย่าบ่อย สู้อย่าถอย ค่อย ๆ สร้างพลังใจ"[10] ในขณะที่วงเปเปอร์เพลนส์เองได้ให้คำขวัญวันเด็กแห่งชาติในปีเดียวกันโดยมีการอ้างถึงเพลงนี้ไว้ว่า "สร้างสรรค์ความคิด ⁣ผูกมิตรซื่อตรง⁣ ก้าวอย่างมั่นคง⁣ ฟังทรงอย่างแบด"[11]

ในวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2566 เปเปอร์เพลนส์ได้ขึ้นแสดงที่ซาฟารีเวิลด์[12] โดยมีผู้เข้าชมเต็มความจุ 6,500 คน[13] และได้รับการตอบรับอย่างดีโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก[14][15] โดยก่อนหน้านี้ ผลสำรวจโซเชียลมีเดียของไวซ์ไซท์ประเทศไทย พบว่าเพลงทรงอย่างแบดได้รับการกล่าวถึงในหัวเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวันเด็กแห่งชาติมากเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยจำนวน 4.32 ล้านเอ็นเกจเมนต์[16]

รางวัลที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง

[แก้]
ปี รางวัล สาขาที่เข้าชิง เสนอชื่อเข้าชิง ผลการตัดสิน
2566 The Guitar Mag Awards 2023[17] Single Hits Of the Year เปเปอร์เพลนส์ ชนะ
Kazz Awards 2023[18] Hottest Song Of The Year ชนะ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "เปิดเนื้อเพลง "ทรงอย่างแบด" วง Paper Planes ขวัญใจวัยรุ่นฟันน้ำนม". TNN Thailand. 2023-01-05. สืบค้นเมื่อ 2023-01-11.
  2. "เปิดประวัติ "Paper Planes" ในวันที่ "ทรงอย่างแบด" ฮิตติดปากวัยรุ่นฟันน้ำนม". ประชาชาติธุรกิจ. 2023-01-11. สืบค้นเมื่อ 2023-01-11.
  3. ""ฮาย-เซน Paper Planes" ถอดความสำเร็จ "ทรงอย่างแบด" พร้อมปรับตัวเข้าหาเด็ก เปลี่ยนโลกสีเทาๆ ให้สดใส". MGR Online. 2023-01-05. สืบค้นเมื่อ 2023-01-11.
  4. "ถอดรหัส 'ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย' เพลงร็อคขวัญใจวัยรุ่นฟันน้ำนม". The Matter. 2023-01-10. สืบค้นเมื่อ 2022-01-11.
  5. "ไขข้อข้องใจ ทำไมเพลง ทรงอย่างแบด ถึงเป็นเพลงชาติอนุบาล". sanook.com. 2022-12-21. สืบค้นเมื่อ 2023-01-11.
  6. "ทรงอย่างแบด (Bad Boy) ไขข้อสงสัย ทำไมถึงครองใจวัยรุ่นนมโรงเรียน เด็กอนุบาล". กรุงเทพธุรกิจ. 2023-01-05. สืบค้นเมื่อ 2023-01-14.
  7. "ทรงอย่างแบด แมสอย่างบ่อย ถอดรหัสเพลงทรงอย่างแบด (Bad Boy) ทำไมฮิตติดใจวัยรุ่นฟันน้ำนม". Brandinside Asia. 2023-01-10. สืบค้นเมื่อ 2023-01-11.
  8. "ทำไมเพลง 'ทรงอย่างแบด' ของ Paper Planes ถึงฮิตในเด็กวัยอนุบาล?". Workpoint Today. 2023-01-05. สืบค้นเมื่อ 2023-01-11.
  9. ""ทรงอย่างแบด" กับที่มาความฮิตในหมู่วัยรุ่นฟันน้ำนมในมุมนักการตลาด". ไทยรัฐ. 2023-01-06. สืบค้นเมื่อ 2023-01-11.
  10. "ชัชชาติ มอบคำขวัญวันเด็ก 2566 "เรียนอย่าแบด แซดอย่าบ่อย"". สนุกดอตคอม. 2023-01-11. สืบค้นเมื่อ 2023-01-12.
  11. "คำขวัญวันเด็กจาก Paper Planes #ทรงอย่างแบด ถึงแก๊งวัยรุ่นฟันน้ำนม". Workpoint Today. 2022-01-05. สืบค้นเมื่อ 2023-01-12.
  12. "วันเด็กซาฟารีเวิลด์คึก วัยรุ่นฟันน้ำนม ตะโกนสนั่น ทรงอย่างแบด ฮายลั่น ผมไม่ใช่หัวหน้าแก๊ง". ข่าวสด. 2023-01-14.
  13. "ทรงอย่างแบด สนั่นซาฟารีเวิลด์! "Paper Planes" บุกเซอร์ไพรส์น้องๆในวันเด็ก". tnnthailand.com. 2023-01-14.
  14. "วัยรุ่นฟันน้ำนม ว้ากลั่นซาฟารี ทรงอย่างแบด กระหึ่ม! Paper Planes บุกเซอร์ไพรส์". มติชนออนไลน์.
  15. "สวนสัตว์แตก! "Paper Planes" บุกซาฟารีเวิลด์ ร้อง "ทรงอย่างแบด" โชว์วัยรุ่นฟันน้ำนม". pptvhd36.com.
  16. “วันเด็กแห่งชาติ” กับ 3 ประเด็นสุดฮิตที่ถูกพูดถึงบนโซเชียลฯ “ทรงอย่างแบด” อันดับ 1 ตามคาด
  17. "ปรากฏการณ์ งานคนดนตรียิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย "The Guitar Mag Awards 2023"". เนชั่น ทีวี. 2023-05-12. สืบค้นเมื่อ 2023-05-17.
  18. "รวมผลงานประกาศรางวัล KAZZ AWARDS 2023". TNN ONLINE. 2023-05-17. สืบค้นเมื่อ 2023-05-17.