ถนนนิเวศรัตน์
ถนนนิเวศรัตน์ หรือ ถนนชัยภูมิ-บัวใหญ่-สีดา-ประทาย เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 สายชัยภูมิ - เขมราฐ ตอนควบคุม 0100, 0201, 0202, 0300 และ 0401 เริ่มต้นจากบริเวณทางแยกวัดชัยประสิทธิ์ จังหวัดชัยภูมิ โดยผ่านอำเภอแก้งสนามนาง อำเภอบัวใหญ่ อำเภอสีดา ไปสิ้นสุดที่บริเวณทางแยกประทาย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นถนนที่มีการจราจร 2 ช่องทาง และบางช่วงเป็น 4 ช่องทาง มีระยะทางประมาณ 87 กิโลเมตร
รายละเอียดของเส้นทาง
[แก้]ถนนนิเวศรัตน์นั้นเริ่มต้นจากบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ โดยเริ่มนับกิโลเมตรที่ 0+000 ไปตามทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดกับถนนสีคิ้ว-ชัยภูมิที่กิโลเมตรที่ 2+250 (ทางแยกโรงต้ม) แล้วผ่านชุมชนต่าง ๆ ได้แก่ บ้านโพนทอง บ้านหนองหญ้ารังกา บ้านผือ บ้านลาดใหญ่ แล้วเข้าเขตอำเภอแก้งสนามนาง โดยการข้ามสะพานข้ามแม่น้ำชี บ้านแก้งสนามนาง บ้านขุนทอง และบ้านด่านช้าง ผ่านอำเภอบัวใหญ่ อำเภอสีดา และสิ้นสุดที่อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ 87 กิโลเมตร ถนนสายนี้อยู่ในความควบคุมของสำนักทางหลวงที่ 5 (ขอนแก่น) สำนักทางหลวงที่ 8 (นครราชสีมา) เทศบาลเมืองชัยภูมิ เทศบาลเมืองบัวใหญ่ และเทศบาลตำบลประทาย
ประวัติ
[แก้]ก่อนที่ทางการจะประกาศชื่อทางหลวงแผ่นดินในปี พ.ศ. 2493 มีโครงการที่จะตัดถนนสายชัยภูมิ-บัวใหญ่ขึ้น โดยเริ่มจากหน้าวัดชัยประสิทธิ์ อำเภอเมืองชัยภูมิ ไปจนถึงบริเวณเชิงหอนาฬิกาที่อำเภอบัวใหญ่ นายทอง พงษ์อนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดชัยภูมิในขณะนั้นได้ประกาศให้ชาวชัยภูมิทราบ จึงมีประชาชนมาทำการปักแนวที่ดินของตนเป็นจำนวนมาก ทำให้มีที่ดินอยู่ริมถนนสายนี้ โดยในปัจจุบัน มีทายาทของท่านอาศัยอยู่ริมถนนสายนี้เช่นกัน บริเวณทางหลวงขาเข้าจังหวัดชัยภูมิ
การตั้งชื่อถนน
[แก้]ถนนนิเวศรัตน์ได้ชื่อนี้จากการตั้งชื่อถนนในสมัยนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ให้ตั้งตามนายช่างใหญ่ที่ควบคุมการสร้างถนนขึ้น โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติให้แก่นายสิทธิ์ นิเวศรัตน์ นายช่างกำกับแขวงการทางนครราชสีมาที่ 1[1]
สถานที่สำคัญบนเส้นทาง
[แก้]- วงเวียนอนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (เริ่มต้น)
- วัดชัยประสิทธิ์
- แขวงการทางชัยภูมิ
- องค์การบริหารส่วนตำบลโพนทอง
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาชัยภูมิ
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถานีควบคุมไฟฟ้าชัยภูมิ
- หมวดการทางชัยภูมิที่ 1
- โรงเรียนกุดตุ้มวิทยา
- โรงเรียนบ้านลาดใหญ่
- ศูนย์ราชการ อำเภอแก้งสนามนาง
- โรงพยาบาลแก้งสนามนาง
- ศาลจังหวัดบัวใหญ่
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่ - ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 67 ตอน 67 ง, 12 ธันวาคม พ.ศ. 2493