ข้ามไปเนื้อหา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง
ใบปิดภาพยนตร์อย่างเป็นทางการ
กำกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
บทภาพยนตร์หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์
อำนวยการสร้างหม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา
คุณากร เศรษฐี
นักแสดงนำ
กำกับภาพสตานิสลาฟ ดอร์ซิก
ตัดต่อหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
หม่อมราชวงศ์หญิงปัทมนัดดา ยุคล
ดนตรีประกอบริชาร์ด ฮาร์วีย์
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
วันฉาย11 สิงหาคม พ.ศ. 2554
ความยาว132 นาที
ประเทศประเทศไทย
ภาษาภาษาไทย
ภาษาพม่า
ภาษามอญ
ทำเงิน131.6 ล้านบาท
(เฉพาะ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่)
ก่อนหน้านี้ยุทธนาวี
ต่อจากนี้ยุทธหัตถี
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง เป็นภาพยนตร์ภาคที่สี่ในภาพยนตร์ชุด ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กำหนดฉายในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เนื้อเรื่อง

[แก้]

ภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง ถ่ายทอดเรื่องราวอันเป็นผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึกพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้พระเจ้านันทบุเรงทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวร และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยาม กองทัพกษัตริย์ของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงมีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกว่าทุกศึก ประกอบด้วยช้าง 3,200 ทัพ ม้า 12,000 และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง 252,000 คน โดยมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถมาร่วมรบ ทั้งพระมหาอุปราชา, มางจาชโร เจ้าเมืองจาปะโร และลักไวทำมูทหารกล้า โดยพระเจ้านันทบุเรงตั้งทัพหลวงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ขนอนปากคู ทัพมังมอดราชบุตร์กับพระยาพระรามตั้งที่ทุ่งมะขามหย่อง ทัพพระยานครตั้งที่ปากน้ำพุทธเลา ทัพนันทสูตั้งที่ขนอนบางลาง ทัพพระเจ้าตองอูตั้งทุ่งชายเคือง ทัพพระมหาอุปราชาตั้งที่ขนอนบางตะนาว

กิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของพระเจ้าหงสาที่ยกทัพเข้ามานี้ เมื่อไทยเห็นว่าเป็นศึกใหญ่เหลือกำลังจะต่อสู้เอาไชยชนะได้กลางแปลง จึงเอาพระนครเป็นที่มั่นให้ต้อนคนเข้าพระนคร จัดทัพเป็นกองโจรคอยเที่ยวตัดลำเลียงเสบียงอาหารข้าศึกอยู่ทุกหนทุกแห่ง การป้องกันพระนครคราวนี้ให้ขุดลำแม่น้ำเป็นคูพระนครทางตะวันออกสำเร็จ ก่อกำแพงด้านตะวันออก ขยายลงไปจนริมน้ำเหมือนกับด้านอื่น ๆ ตั้งปืนใหญ่ประจำป้อมแลกำแพงแข็งแรงเหมือนกันหมดทุกด้านมีปืนใหญ่น้อยกระสุน ดินดำและเครื่องศัตราวุธเสบียงอาหารบริบูรณ์ เสบียงอาหารที่จะขนเข้าพระนครไม่ได้ก็ให้ทำลายเสีย มิให้เป็นกำลังแก่ข้าศึก

ในช่วงต้นเดือนยี่ข้าวในนายังเกี่ยวไม่เสร็จ สมเด็จพระนเรศวรจึงรับสั่งให้เจ้าพระยากำแพงเพชรยกทัพออกไปป้องกันชาวนาที่กำลังเกี่ยวข้าว พอทัพพม่าของพระมหาอุปราชยกทัพมาถึงก็ให้ทัพม้าเข้าตีจนทัพเจ้าพระยากำแพงเพชรแตกพ่ายหนีเข้าเมือง สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรธอย่างมาก เพราะไทยไม่เคยแตกพ่ายแพ้ต่อข้าศึกอาจทำให้ทหารขวัญเสีย พระองค์จึงมีรับสั่งประหารชีวิตเจ้าพระยากำแพงเพชร แต่โชคดีที่มณีจันทร์ได้ขอชีวิตเอาไว้ การศึกครั้งนี้พม่าหมายมั่นจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ แต่ด้วยความแข็งแกร่งของทหารไทยจึงรักษาที่มั่นเอาไว้ได้เสมอ เสด็จออกปล้นค่ายพม่าซึ่งเป็นทัพหน้าของหงสาวดี ข้าศึกแตกพ่ายถอยหนี พระองค์จึงไล่ตีมาจนถึงค่ายของมังจาปะโร เสด็จลงจากม้าคาบพระแสงดาบแล้วนำทหารปีนบันไดขึ้นกำแพงข้าศึก แต่ทรงถูกมังจาปะโรใช้หอกแทงตกลงมาข้างล่าง สมเด็จพระเอกาทศรถจึงสั่งให้เลิกกองทัพกลับพระนครทันที

พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบการกระทำอันห้าวหาญของสมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสว่า ถ้าพระนเรศวรออกมาอีกจะต้องจับพระองค์ ให้ได้ถึงแม้ว่าจะใช้ทหารมากมายเพียงใด จึงมีรับสั่งให้ลักไวทำมูนำทหารไปจัดการพระนเรศวรทันที สมเด็จพระนเรศวรทรงออกไปตีค่ายหลวงพม่าอีก พม่าจึงใช้ทหารล่อให้พระองค์ไล่ตี เข้ามาจนถึงบริเวณที่ลักไวทำมูซุ่มรออยู่ ลักไวทำมูจะเข้ามาจับพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรจึงใช้พระแสงทวนแทงลักไวทำมูตายทันที สุดท้ายกองทัพพม่าจึงถอยทัพกลับไป ขณะเดียวกันพระราชมนูยอดทหารเอกกรุงศรีก็ถูกจับตัวไปเป็นเชลย

ตัวละคร

[แก้]
ตัวละคร รับบทโดย
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พล.ต.วันชนะ สวัสดี
สมเด็จพระเอกาทศรถ พล.ต.วินธัย สุวารี
มณีจันทร์ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ
พระราชมนู นพชัย ชัยนาม
พระเจ้านันทบุเรง จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์
มังกะยอชวา นภัสกร มิตรเอม
นักพระสัตถา เศรษฐา ศิระฉายา
พระศรีสุพรรณราชาธิราช ดิลก ทองวัฒนา
เล่อขิ่น อินทิรา เจริญปุระ
เสือหาญฟ้า ดอม เหตระกูล
พระยาจีนจันตุ ชูชาติ ทรัพย์สุทธิพร
นรธาเมงสอ พระเจ้าเชียงใหม่ ชลิต เฟื่องอารมย์
มหาเถรคันฉ่อง สรพงษ์ ชาตรี
ไอ้ขาม ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ
ท้าวโสภา พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์
พระยากำแพงเพชร อภิชาติ อรรถจินดา
พระยาสีหราชเดโช ธนา สินประสาธน์
พระยาพิชัย กรุง ศรีวิไล
พระยาสวรรคโลก มานพ อัศวเทพ
มูเตอ เกศริน เอกธวัชกุล

การออกฉาย

[แก้]

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง ออกฉายรอบสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ณ โรงภาพยนตร์ เอสเอฟ เวิลด์ ซีนีมา ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์[ต้องการอ้างอิง]

เพลงนำภาพยนตร์

[แก้]
  • ความเศร้าแห่งสงคราม (One Nation - The Sorrows of War) ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษและทำนองโดย ริชาร์ด ฮาร์วี่ย์ แปลคำร้องเป็นภาษาไทยโดย วิษณุ เอื้อชูเกียรติ ขับร้องโดย ธีรนัยน์ ณ หนองคาย[ต้องการอ้างอิง]

ข้อแตกต่างระหว่างประวัติศาสตร์กับภาพยนตร์

[แก้]
  • เหตุการณ์เข้าตีเมืองสวรรคโลกจับตัวพระยาพิชัยและออกญาสวรรคโลก น่าจะเกิดหลังเหตุการณ์ประกาศอิสรภาพไม่นานและก่อนเหตุการณ์ศึกพระยาพะสิมและเจ้าเมืองเชียงใหม่ในภาคยุทธนาวี
  • แท้จริงแล้วผู้ทูลขอชีวิตออกญากำแพงเพชรคือ พระมหาธรรมราชาแต่ผู้เขียนบทเปลี่ยนเป็นให้มณีจันทร์เป็นผู้ทูลขอ
  • ไม่มีหลักฐานจากแหล่งไหนบอกว่าพระราชมนู ถูกลักไวทำมูจับเป็นเชลย