ตัวแปรการผลิต
ตัวแปรการผลิต (อังกฤษ: Factors of production) ทรัพยากร หรือวัตถุขาเข้า ในเชิงเศรษฐศาสตร์หมายถึงสิ่งที่ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุขาออก – เช่น สินค้าสำเร็จรูปหรือบริการต่าง ๆ โดยภายใต้ความสัมพันธ์ที่เรียกว่าฟังก์ชันการผลิตนั้น ปริมาณของวัตถุขาเข้าที่นำมาใช้ ทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดถึงปริมาณวัตถุขาออก ตัวแปรการผลิตหรือทรัพยากรพื้นฐานมีอยู่ 3 รายการ ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน และทุน ตัวแปรเหล่านี้มักเรียกกันว่า “สินค้าชั้นกลาง หรือบริการชั้นกลาง” เพื่อให้มีความหมายแตกต่างจากสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคซื้อหา ที่มักเรียกกันว่า “สินค้าอุปโภคบริโภค”
นอกจากนี้ตัวแปรการผลิตยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ตัวแปรการผลิตขั้นปฐมภูมิ และทุติยภูมิ ตัวแปรขั้นปฐมภูมิได้แก่ที่ดิน แรงงาน และทุน ส่วนวัตถุดิบและพลังงานนับเป็นตัวแปรขั้นทุติยภูมิในเศรษฐศาสตร์คลาสสิค เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ถือเป็นผลิตผลจากที่ดิน แรงงาน และทุนอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นตัวแปรขั้นปฐมภูมิถือเป็นเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการผลิต แต่มิได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต (เมื่อเทียบกับวัตถุดิบ) ตลอดจนมิได้ถูกแปรรูปอย่างมีนัยยะสำคัญในกระบวนการผลิตดังกล่าว (เมื่อเทียบกับพลังงานที่ถูกใช้ไปเพื่อขับเคลื่อนเครื่องจักร) ที่ดินมิได้หมายถึงทำเลที่ใช้ในการผลิตเท่านั้น แต่รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ทั้งบนดินและใต้ดิน นิยามภายหลังของตัวแปรการผลิตยังมีการแยกข้อแตกต่างระหว่างทุนมนุษย์ (องค์ความรู้สะสมในพลังแรงงาน) ออกจากตัวแรงงานอีกด้วย[1] ในบางกรณีกิจการวิสาหกิจอาจนับเป็นตัวแปรการผลิต[2] ส่วนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีบางกรณีก็ถือเป็นตัวแปรการผลิตเช่นกัน[3] เพราะฉะนั้น จำนวนและนิยามของตัวแปรการผลิตอาจมีแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายของทฤษฎี หลักฐานเชิงประจักษ์ หรือสำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์[4]
ตัวแปร และสำนักคิดเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ
[แก้]นักเศรษฐศาสตร์สายนีโอคลาสสิค ให้การตีความในเชิงเศรษฐศาสตร์คลาสสิคที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบันว่า คำว่า “ตัวแปร” ไม่เคยปรากฏมาก่อนจนกระทั่งยุคคลาสสิคสิ้นสุดลง ตลอดจนไม่พบบรรญัติศัพท์นี้ในวรรณกรรมจากยุคดังกล่าวเช่นกัน[5]
ดังนั้น เมื่อจะต้องตัดสินว่าตัวแปรใดเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด นิยามของตัวแปรการผลิตจากสำนักคิดต่าง ๆ จึงมีลักษณะตายตัวในตัวเอง
เศรษฐศาสตร์สำนักฟิซิโอแครต
[แก้]ฟิซิโอแครต (มาจากคำศัพท์กรีกโบราณ “ผู้บริบาลธรรมชาติ”) เป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นมาในยุคเรืองปัญญาแห่งศตวรรษที่ 18 โดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเชื่อว่าความมั่งคั่งของประชาชาตินั้นล้วนขึ้นอยู่กับมูลค่าของ “ที่ดินการเกษตร” หรือ “การพัฒนาที่ดิน” และเน้นว่าควรมีการกำหนดราคาผลผลิตทางการเกษตรในระดับสูง
เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิค
[แก้]เศรษฐศาสตร์คลาสสิคแบบอดัม สมิธ เดวิด ริคาร์โด และนักเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ นั้น นิยามตัวแปรการผลิตโดยเน้นไปที่ทรัพยากรเชิงกายภาพ และถกกันในแง่การกระจายตัวของต้นทุน ตลอดจนมูลค่าของตัวแปรเหล่านั้น สมิธและริคาร์โดมักอ้างถึง “องค์ประกอบของราคา”[6] ในฐานะต้นทุนของสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ที่ดิน หรือทรัพยากรธรรมชาติ - สินค้าที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติเช่นน้ำ อากาศ ดิน แร่ธาตุ พืช สัตว์ และภูมิอากาศ ซึ่งใช้ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระให้เจ้าของที่ดินอยู่ในรูปของค่าเช่า ความภักดี ค่านายหน้า หรือค่าความนิยม
- แรงงาน – แรงกายของมนุษย์ที่ใช้ในการผลิต ซึ่งรวมถึงความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและการตลาด ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระให้แก่แรงงานของบุคคลอื่น ตลอดจนรายได้ที่ตัวแรงงานเองได้รับ เรียกว่าสินจ้าง
- ทุน - ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าอื่น ทั้งนี้รวมถึงเครื่องมือ เครื่องจักร และอาคาร ทุนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ทุนคงที่และทุนหมุนเวียน ทุนคงที่ใช้เพื่อลงทุนเพียงครั้งเดียว เช่นลงทุนในเครื่องมือและเครื่องจักร ในขณะที่ทุนหมุนเวียนประกอบไปด้วยสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง หรือเงินสด ตลอดจนวัตถุดิบ
นักเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิคมักใช้คำว่า “ทุน” เมื่อเอ่ยถึงเงิน อย่างไรก็ดี เงินไม่นับเป็นตัวแปรการผลิตโดยนัยยะของทุน เนื่องจากเงินมิได้ถูกนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอื่นโดยตรง[7] ผลตอบแทนที่ได้จากเงินกู้ยืมเรียกว่าดอกเบี้ย ในขณะที่ผลตอบแทนที่เจ้าของกิจการได้รับจากทุน (เช่นเครื่องมือ) นั้น เรียกว่ากำไร (ดูเพิ่มเติมเรื่อง ผลตอบแทน)
เศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์
[แก้]ส่วนหนึ่งของชุดบทความเรื่อง |
เศรษฐศาสตร์สำนักมาคส์ |
---|
เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิมากซ์ |
มากซ์มีทัศนะว่า “ตัวแปรพื้นฐานของกระบวนการแรงงาน” หรือ “พลังการผลิต” นั้น ได้แก่
- แรงงาน
- วัตถุทางแรงงาน (วัตถุที่ถูกแปรรูปโดยแรงงาน)
- เครื่องมือทางแรงงาน (หรือ ปัจจัยทางแรงงาน)[8]
“วัตถุทางแรงงาน” หมายถึงทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบ รวมถึงที่ดิน ในขณะที่ “เครื่องมือทางแรงงาน” คือ เครื่องไม้เครื่องมือในนัยยะโดยกว้าง ซึ่งรวมถึงอาคารโรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และวัตถุอื่น ๆ ที่ทำจากมนุษย์ อันมีส่วนช่วยในการผลิตสินค้าและบริการของแรงงาน
ทัศนะนี้ดูคล้ายกับแนวคิดของเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิค แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกับสายคลาสสิคและสายร่วมสมัยอื่น ๆ นั้น อยู่ที่ว่า มากซ์มีการแยกประเภทอย่างชัดเจนระหว่าง แรงงานที่ได้ลงแรงใช้ไป กับ “พลังแรงงาน” ของแต่ละบุคคล หรือที่เรียกกันว่า ความสามารถในการทำงาน ดังนั้น แรงงานที่ได้ลงแรงใช้ไปจึงมีความหมายสมัยใหม่ว่าเป็น “ความอุตสาหะ” หรือ “บริการทางแรงงาน” ในขณะที่พลังแรงงานหมายถึง ตัวแปรสต็อก ซึ่งสามารถนำมาสร้างตัวแปรไหลเวียนของแรงงานอีกทอดหนึ่ง
แรงงาน (มิใช่พลังแรงงาน) เป็นตัวแปรการผลิตที่มีความสำคัญสำหรับมากซ์ตลอดจนพื้นฐานทฤษฎีมูลค่าแรงงานของมากซ์ การจ้างพลังแรงงานซึ่งมีการจัดการและการกำกับดูแลอย่างมีระบบ (มักดูแลโดย “ทีมผู้บริหาร”) จะทำให้ได้เพียงผลลัพธ์ในรูปการผลิตสินค้าและบริการ (“มูลค่าใช้สอย") เท่านั้น ในขณะที่ปริมาณแรงงานที่ได้ลงแรงใช้ไปอย่างแท้จริงนั้น ขึ้นอยู่กับนัยยะความสำคัญของข้อขัดแย้ง หรือข้อตึงเครียด ในตัวกระบวนการทางแรงงานเอง
เศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิค
[แก้]เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค เป็นหนึ่งสาขาย่อยของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มีแนวคิดตั้งต้นเรื่องตัวแปรการผลิตที่ประกอบไปด้วยที่ดิน แรงงาน และทุน เหมือนกับเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิค อย่างไรก็ดี แนวคิดสายนีโอคลาสสิคมีการพัฒนาทฤษฎีมูลค่า และทฤษฎีการกระจายตัว ที่เป็นทางเลือกอีกด้วย นักเศรษฐศาสตร์สายนี้ได้เสนอจำนวนตัวแปรการผลิตเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง (ดูเพิ่มเติมด้านล่าง)
ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างเศรษฐศาสตร์จุลภาคสายคลาสสิคและสายนีโอคลาสสิค มีดังต่อไปนี้
- ทุน - มีหลายความหมาย ซึ่งหมายรวมถึงทุนทางการเงินที่ใช้ในการระดมทุนเพื่อนำมาดำเนินงานและขยายธุรกิจ อย่างไรก็ดี นิยามทางเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่นั้น “ทุน” (โดยไม่มีการนับคุณสมบัติอื่นใด) หมายถึงสินค้าที่สามารถนำมาใช้ผลิตสินค้าอื่นต่อไป และนับเป็นผลจากการลงทุน ตัวอย่างเช่น เครื่องจักร ถนน โรงงาน โรงเรียน โครงสร้างพื้นฐาน และอาคารสำนักงาน ซึ่งผลิตหรือสร้างโดยมนุษย์อันจะนำมาใช้ผลิตสินค้าและบริการในอนาคต
- ทุนคงที่ - โดยทั่วไปรวมถึงเครื่องจักร โรงงาน อุปกรณ์ เทคโนโลยีใหม่ อาคาร คอมพิวเตอร์ และสินค้าอื่น ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการผลิตเชิงเศรษฐศาสตร์ในอนาคต ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากนับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ว่าเป็นทุนคงที่อีกรูปแบบหนึ่ง เช่น ใช้ในการจัดทำบัญชีรายได้และผลิตภัณฑ์ประชาชาติในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ โดยสรุปแล้ว ทุนประเภทนี้จะไม่มีการแปรรูปหรือแปรสภาพอันเป็นผลมาจากการผลิตสินค้า
- ทุนหมุนเวียน - หมายรวมถึงสินค้าในคลังที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูป ที่จะนำมาใช้สอยเชิงเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ หรือจะถูกนำมาใช้เพื่อแปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคสำเร็จรูปในอนาคตอันใกล้ เหล่านี้เรียกว่าเป็นสินค้าคงคลัง อนึ่ง คำว่า “ทุนหมุนเวียน” ยังมีความหมายในแง่สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง (เช่นเงินสด) ซึ่งจำเป็นต้องมีไว้เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายเฉพาะหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต (เช่น จ่ายเงินเดือน ชำระใบแจ้งหนี้ ชำระภาษี จ่ายดอกเบี้ย...) อย่างไรก็ตาม ทุนชนิดนี้มักมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ หรือมีการแปรรูป ในระหว่างกระบวนการผลิต
- ทุนทางการเงิน – คือปริมาณของเงินที่ผู้ก่อการธุรกิจใช้ลงทุนในกิจการ คำว่า “ทุนทางการเงิน” มักหมายถึงมูลค่าสุทธิของกิจการ (สินทรัพย์ลบกับส่วนของหนี้สิน) ที่ผูกอยู่กับเจ้าของธุรกิจ อย่างไรก็ดี ศัพท์คำนี้มักรวมถึงเงินที่กู้ยืมจากผู้อื่นด้วย
- ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี – กว่าหนึ่งศตวรรษที่นักเศรษฐศาสตร์ตระหนักว่า ทุนและแรงงานมิได้มีส่วนในการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงลำพัง หลักคิดนี้สะท้อนให้เห็นจากการคำนวณผลิตภาพการผลิตรวม และอัตราการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีในระบบเศรษฐกิจของโซโลว์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า ฟังก์ชันการผลิต อันจะนำมาใช้อธิบายสัดส่วนคุณูปการของทุนและแรงงาน แต่กระนั้นก็ยังมีตัวแปรคุณูปการที่ไม่สามารถอธิบายได้ปรากฏอยู่ ซึ่งโดยทั่วไปเรียกว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หนังสือที่เขียนโดยไอเรสและวารร์ (2009) มีการนำเสนอกาลานุกรมแสดงถึงประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานขั้นปฐมภูมิ (หรืออนุพลศาสตร์ของเอ็กเซอร์จี) ไปสู่พลวัตรที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ของประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรีย และญี่ปุ่น นั้น เผยให้เห็นพัฒนาการที่ดีด้านความแม่นยำของโมเดลคำนวณ ดังนั้น เมื่อนำพลวัตรที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ มาใช้ในฐานะตัวแปรการผลิต จะทำให้สามารถคำนวณอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตซ้ำได้อย่างแม่นยำพอควร นอกจากนี้การคำนวณด้วยวิธีดังกล่าวทำได้โดยปราศจากการอ้างอิงปัจจัยภายนอก ตลอดจนไม่มีค่าคำนวณเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อธิบายไม่ได้เช่นกัน จึงพิสูจน์แล้วว่าโมเดลของไอเรสและวารร์ สามารถแก้ไขข้อบกพร่องจากทฤษฏีการเติบโตทางเศรษฐกิจของโซโลว์ได้ดี[9]
เศรษฐศาสตร์สำนักนิเวศวิทยา
[แก้]เศรษฐศาสตร์นิเวศวิทยา เป็นสำนักทางเลือกของสำนักนีโอคลาสสิค ซึ่งมีการบูรณาการกฏข้อแรกและข้อสองจากกฏของอุณหพลศาสตร์ (ดูเพิ่มเติมที่ กฎของอุณหพลศาสตร์) เพื่อนำมาเข้าสูตรระบบเศรษฐกิจที่สะท้อนความเป็นจริงยิ่งขึ้น ในขณะที่ตระหนักถึงข้อจำกัดพื้นฐานทางกายภาพไปพร้อม ๆ กัน และนอกเหนือจากหลักคิดเรื่องประสิทธิภาพในการจัดสรรของเศรษฐศาสตร์สายนีโอคลาสสิคแล้วนั้น สำนักนิเวศวิทยายังเน้นถึงความยั่งยืนในขนาดการกระจายตัว ตลอดจนความเป็นธรรมของการกระจายตัวอีกด้วย ความแตกต่างอีกประการของเศรษฐศาสตร์สำนักนิเวศวิทยาและทฤษฎีสายนีโอคลาสสิค อยู่ที่นิยามของตัวแปรการผลิต ซึ่งนำมาใช้ทดแทนกันดังต่อไปนี้[10][11]
- สสาร – วัตถุซึ่งใช้ในการผลิตสินค้า สสารสามารถนำมาใช้หมุนเวียนโดยใช้กระบวนการสกัดรูป หรือโดยกระบวนการแปรรูป แต่สสารในตัวของมันเองไม่สามารถสร้างขึ้นหรือทำลายทิ้งได้ จึงทำให้สามารถตั้งเพดานปริมาณการเบิกออก และปริมาณการใช้งานของวัตถุดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ สสารที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จึงมีปริมาณรวมคงที่ และเมื่อใช้สสารที่มีอยู่จนหมดไป ก็ไม่สามารถนำมาผลิตสิ่งใดได้อีกจนกว่าจะมีการนำผลิตภัณฑ์ที่เคยผลิตก่อนหน้านั้นมาแปรรูป หรือนำกลับมาใช้ใหม่
- พลังงาน – อวัตถุเพื่อการผลิตขาเข้า มีคุณสมบัติทางกายภาพ ผู้ผลิตสามารถดึงรูปแบบพลังงานที่หลากหลายมาใช้สอยภายใต้ขนาดการผลิตที่ต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณประโยชน์ของพลังงานนั้น ๆ ที่ต้องใช้ในการรังสรรค์สินค้า อนึ่ง ภายใต้กฏแห่งเอนโทรปี พลังงานมีแนวโน้มที่จะสูญเสียอรรถประโยชน์เมื่อเวลาผ่านไป (เช่น ไฟฟ้า ซึ่งเป็นรูปพลังงานที่มีประโยชน์ยิ่ง ใช้ในการเดินเครื่องจักรซึ่งใช้ผลิตตุ๊กตาหมียัดไส้ อย่างไรก็ดี ในกระบวนผลิตนั้นเอง ไฟฟ้าบางส่วนถูกแปรสภาพเป็นความร้อน จึงทำให้ใช้ประโยชน์จากพลังงานได้ไม่เต็มที่) พลังงานมีส่วนคล้ายสสาร ในข้อที่ว่าพลังงานไม่สามารถสร้างขึ้นหรือทำลายทิ้งได้ ดังนั้นจึงมีเพดานการใช้สอยด้วยเช่นกัน
- ภูมิปัญญาในการออกแบบ - เป็นตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า – การออกแบบที่ดีขึ้น จะทำให้ผลิตผลมีประสิทธิภาพและคุณประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น การออกแบบโดยทั่วไปถือเป็นพัฒนาการของการออกแบบก่อนหน้านั้น เนื่องจากองค์ความรู้ที่สั่งสมมาตามกาลเวลาย่อมเพิ่มพูนขึ้น และนั่นเป็นสิ่งที่เศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิคเรียกว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ความสำคัญอีกประการของเศรษฐศาสตร์เชิงนิเวศวิทยา คือแนวคิดที่ระบุว่า: ณ อัตราสูงสุดที่สสารและพลังงานมีการดูดซึมอย่างยั่งยืนนั้น หนทางเดียวที่จะเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต คือการเพิ่มภูมิปัญญาในการออกแบบ แนวคิดนี้เป็นแกนกลางของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำนักนิเวศวิทยา ซึ่งเรียกว่า การเติบโตที่ไม่รู้จบย่อมเป็นไปไม่ได้[10]
ตัวแปรที่ 4?
[แก้]ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 นักเขียนบางท่านมีการเพิ่มเรื่องของระบบการจัดการ หรือวิสาหกิจ (หรือการประกอบการ) ในฐานะตัวแปรการผลิตลำดับที่ 4[12] และกลายเป็นมาตรฐานการสังเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์สายนีโอคลาสสิคยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยกตัวอย่างเช่น จอห์น บี. คลาร์ก ได้เห็นถึงฟังก์ชันร่วมในการผลิตและการกระจายตัว จากกิจกรรมของผู้ประกอบการ; แฟรงก์ ไนท์ กล่าวถึงผู้จัดการผู้ซึ่งประสานประโยชน์ของกิจการโดยใช้เงินส่วนตัว (ทุนทางการเงิน) และทุนทางการเงินของผู้อื่น ในทางกลับกัน นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากถือว่า “ทุนมนุษย์” (การศึกษาและทักษะ) เป็นตัวแปรการผลิตลำดับที่ 4 โดยอธิบายว่าทักษะการประกอบการนั้นรูปแบบหนึ่งของทุนมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีนักเศรษฐศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งชี้ว่า ทุนทางปัญญา ก็เป็นตัวแปรตัวที่ 4 และไม่นานมานี้ ก็มีผู้กล่าวถึง “ทุนทางสังคม” ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวแปร ในฐานะที่มีคุณูปการในการผลิตสินค้าและบริการเช่นกัน
วิสาหกิจ
[แก้]ภายใต้เศรษฐกิจตลาด ผู้ประกอบการวิสาหกิจทำหน้าที่ประสานตัวแปรที่ดิน แรงงาน ทุน และตัวแปรอื่น ๆ เข้าด้วยกันเพื่อทำกำไร ผู้ประกอบการเหล่านี้มักถูกมองว่าเป็นนักนวัตกรรม ผู้ซึ่งคิดค้นสินค้าใหม่ ตลอดจนพัฒนาหนทางการผลิตใหม่ ๆ ส่วนเศรษฐกิจแบบวางแผนนั้น ผู้วางแผนส่วนกลางเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรจะนำที่ดิน แรงงาน และทุน มาใช้ประโยชน์อย่างไร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พลเมืองทั้งหมด แต่มีสิ่งที่เหมือนกับผู้ประกอบการภายใต้เศรษฐกิจตลาดในข้อที่ว่า ประโยชน์ที่พึงได้รับทั้งหลายอาจตกอยู่กับผู้วางแผนดังกล่าวเสียเอง
นักสังคมวิทยา ชาร์ลส์ ไรท์ มิลส์ มีการอ้างถึง “ผู้ประกอบการหน้าใหม่” ผู้ซึ่งต้องประสานงานทั้งกับองค์กรเอกชนและองค์กรรัฐ ในรูปแบบใหม่ที่มีความแตกต่างจากเดิม[13] ส่วนท่านอื่น (เช่นผู้ซึ่งยึดถือแนวทางทฤษฎีทางเลือกสาธารณะ) มีการกล่าวถึงคำว่า “นักธุรกิจการเมือง” โดยยกตัวอย่าง บรรดานักการเมือง และผู้เล่นรายอื่น ๆ
ข้อวิพากษ์ในแนวคิดการใช้วิสาหกิจในฐานะตัวแปรที่ 4 นั้น ส่วนใหญ่มักตกอยู่กับหัวข้อเรื่องผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการพึงมีพึงได้ แต่ประเด็นที่แท้จริงกลับเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ว่า ผู้ประกอบการสามารถดำเนินงานในองค์กรของตนเอง (ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กฎของตลาด กฎของเศรษฐกิจแบบวางแผน ระเบียบแห่งรัฐ และอิทธิพลของรัฐ) เพื่อรับใช้สังคมได้ดีเพียงใด ซึ่งประเด็นเหล่านี้มักมีความสำคัญเชิงเปรียบเทียบต่อภาวะความล้มเหลวของตลาด และความล้มเหลวของรัฐ ด้วยเช่นกัน
ในหนังสือ บัญชีแห่งมโนทัศน์ คำว่า “ความมั่งคั่งสัมบูรณ์” เป็นบรรญัติศัพท์ใหม่ มีข้ออธิบายว่าแยกตัวออกมาจากสินทรัพย์ เพื่อบวกกลับเข้าไปในตัวแปรการผลิตที่วิจัยขึ้นมาใหม่ของระบบทุนนิยม ดังนั้นคำว่าสินทรัพย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุนนั้น จึงถูกแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ สินทรัพย์ และความมั่งคั่งสัมบูรณ์ วิสาหกิจจึงแยกประเภทได้เป็นวิสาหกิจที่พึ่งพาเครือข่าย และวิสาหกิจที่พึ่งพาการรังสรรค์ โดยฟังก์ชันของการพึ่งพาเครือข่ายนั้นอยู่ในกรอบนิยามของสินทรัพย์ ในขณะที่ฟังก์ชันของการพึ่งพาการรังสรรค์อยู่ในกรอบนิยามของความมั่งคั่งสัมบูรณ์[14]
ทรัพยากรธรรมชาติ
[แก้]ไอเรสและวารร์ (2010) นับเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่วิพากษ์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิม ซึ่งมองข้ามบทบาทของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนมองข้ามผลกระทบจากการเสื่อมลงของทุนทรัพยากร[9] (ดูเพิ่มเติมเรื่อง เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ)
พลังงาน
[แก้]พลังงานมักถูกมองว่าเป็นตัวแปรการผลิตในตัวเอง เนื่องจากมีความยืดหยุ่นมากกว่าแรงงาน[15] ทั้งนี้ การวิเคราะห์เชิงดุลยภาพระยะยาว ยังได้สนับสนุนผลลัพธ์ซึ่งได้จากการคำนวณฟังก์ชันการผลิตแบบก้าวกระโดดเชิงเส้นตรง (LINEX)[16]
มรดกทางวัฒนธรรม
[แก้]คลิฟฟอร์ด เอช. ดักลาส เห็นแย้งกับนักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิค ผู้ซึ่งยอมรับเฉพาะตัวแปรการผลิตว่ามีเพียง 3 ประการ แม้ดักลาสมิได้ปฏิเสธถึงบทบาทของตัวแปรการผลิตเหล่านี้ แต่ก็แย้งว่า “มรดกทางวัฒนธรรม” ควรนับเป็นตัวแปรขั้นปฐมภูมิเช่นกัน ดักลาสนิยามมรดกทางวัฒนธรรมว่าเป็นองค์ความรู้ เทคนิค และกระบวนการที่สะสมต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งย้อนหลังกลับไปได้ถึงต้นกำเนิดแห่งอารยธรรม (หรือเรียกกันว่า ความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์) ด้วยเหตุนี้ มนุษยชาติจึงไม่มีความจำเป็นต้อง “คิดค้นวงล้อใหม่” ตลอดเวลา ดักลาสกล่าวว่า “เราเป็นเพียงผู้ดูแลมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ และด้วยนิยามนั้นเอง มรดกทางวัฒนธรรมนับเป็นทรัพย์สินของเราทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น”[17] ในขณะที่อดัม สมิธ เดวิด ริคาร์โด และคาร์ล มากซ์ ต่างอ้างว่า แรงงานเป็นผู้สรรค์สร้างมูลค่าทั้งปวง เพียงเท่านั้น แม้ดักลาสมิได้ปฏิเสธว่าต้นทุนทั้งปวงล้วนเกี่ยวโยงกับค่าใช้จ่ายทางแรงงานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน) แต่ดักลาสปฏิเสธว่าแรงงานในโลกยุคปัจจุบันนั้นเป็นเพียงตัวแปรเดียวที่ก่อให้เกิดความมั่งคั่ง ดักลาสวิเคราะห์อย่างระมัดระวังเพื่อระบุข้อแตกต่างระหว่างมูลค่า ต้นทุน และราคา และกล่าวอ้างว่าตัวแปรหนึ่งที่มักทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องธรรมชาติและฟังก์ชันของเงินตรา คือการที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายมักเสพย์ติดในประเด็นข้อที่ว่า มูลค่ามีความสัมพันธ์กับการกำหนดราคาและรายได้[18] ในอีกแง่มุมนั้น แม้ดักลาสยอมรับในเรื่อง “มูลค่าใช้สอย” ในฐานะที่เป็นทฤษฎีมูลค่าที่ชอบธรรม แต่ดักลาสแย้งว่ามูลค่านั้นเป็นเพียงดุลยพินิจ และไม่สามารถวัดได้ในฐานะวัตถุ
ปีเตอร์ โครพอตกิน เสนอว่าทรัพย์สินทางปัญญาควรถือกรรมสิทธิ์โดยส่วนรวม เนื่องจากชิ้นงานเหล่านี้เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะเพื่อรังสรรค์ขึ้น โครพอตกินมิได้แย้งว่าสินค้าที่แรงงานเป็นผู้ลงมือผลิตควรเป็นกรรมสิทธิ์ของแรงงานเอง แต่ชี้ให้เห็นว่าสินค้าแต่ละชิ้นล้วนมาจากน้ำพักน้ำแรงของปัจเจกแต่ละคน เนื่องจากปัจเจกเหล่านั้นย่อมต้องพึ่งพาภูมิปัญญาและแรงงานกายภาพของผู้ที่ได้ลงแรงก่อนหน้า เช่นเดียวกับผู้ที่สร้างสรรค์โลกทั้งใบก่อนหน้าห้วงเวลาดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เอง โคพอตกินจึงประกาศว่ามนุษย์ทุกคนต่างมีส่วนคุณูปการต่อผลิตภัณฑ์ทางสังคมโดยรวม [19] โคพอตกินยังกล่าวต่อไปว่า อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางมิให้มนุษย์อ้างในสิทธิ์ดังกล่าว คือกลไกของรัฐที่พร้อมปกป้องทรัพย์สินเอกชนด้วยความรุนแรง นอกจากนี้โคพอตกินยังได้เปรียบเทียบความสัมพันธ์นี้กับระบบศักดินา และสรุปว่า แม้รูปแบบการปกป้องเช่นนี้จะเปลี่ยนแปลงไป แต่หัวใจสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่ได้รับการปกป้องในทรัพย์สินกับผู้ไร้ที่ดินนั้น เหมือนกันสนิทกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าศักดินาและไพร่ติดที่ดิน[19]
ดูเพิ่มเติม
[แก้]- อุปสงค์ตัวแปรเงื่อนไข
- ต้นทุนการผลิตของกฏแห่งมูลค่า
- ผลตอบแทนลดน้อยถอยลง
- ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
- บรรญัติศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ต่างจากการใช้งานทั่วไป
- ผลตอบแทนของตัวแปรการผลิต (เศรษฐศาสตร์)
- ตลาดปัจจัยการผลิต
- โลกแห่งปัจจัย
- อุปสงค์แรงงาน
- ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน
- เศรษฐศาสตร์แรงงาน
- ต้นทุนปัจจัยส่วนเพิ่ม
- ปัจจัยการผลิต
- เศรษฐศาสตร์จุลภาค
- หลักการพาเรโต
- ความสัมพันธ์ทางการผลิต
- ทฤษฎีการผลิตพื้นฐาน
- แบบจำลองผลิตภาพ
- โลกแห่งผลิตภาพ
- ทฤษฎีฐานทรัพยากร
- การดูดซับทางสังคม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Paul A. Samuelson and William D. Nordhaus (2004). Economics, 18th ed., "Factors of production", "Capital", Human capital", and "Land" under Glossary of Terms.
- ↑ O'Sullivan, Arthur; Sheffrin, Steven M. (2003). Economics: Principles in Action. Upper Saddle River, New Jersey 07458: Pearson Prentice Hall. p. 4. ISBN 978-0-13-063085-8.
- ↑ Michael Parkin; Gerardo Esquivel (1999). Macroeconomía (in Spanish) (5th ed.). Mexico: Addison Wesley. p. 160. ISBN 968-444-441-9.
- ↑ Milton Friedman (2007). Price Theory. Transaction Publishers. p. 201. ISBN 978-0-202-30969-9.
- ↑ Classical price theory follows "costs of reproduction" and does not allow for "factor" gains. The great questions of Rent, Wages, and Profits must be explained by the proportions in which the whole produce is divided between landlords, capitalists, and laborers, and which are not essentially connected with the doctrine of value. (Ricardo Johnson, David, 1820; 1951, "The Works and Correspondence of David Ricardo", edited by Piero Sraffa, 10 Volumes, Cambridge: Cambridge University Press 1951–1955, VIII, p. 197.
- ↑ Adam Smith (1776), The Wealth of Nations, B.I, Ch. 6, Of the Component Parts of the Price of Commodities in paragraph I.6.9.
- ↑ Benchimol, J., 2015, Money in the production function: a new Keynesian DSGE perspective, Southern Economic Journal, Volume 82, Issue 1, pp. 152-184.
- ↑ "Das Kapital", chapter 7, section 1.
- ↑ 9.0 9.1 Robert U. Ayres; Benjamin Warr (2009). The Economic Growth Engine: How Energy and Work Drive Material Prosperity. Edward Elgar Publishing. ISBN 978-1-84844-182-8.
- ↑ 10.0 10.1 Eric Zencey (2012). The Other Road to Serfdom & the Path to Sustainable Democracy. U of New England. ISBN 978-1-58465-961-7.
- ↑ Herman Daly; Joshua Farley (2011). Ecological Economics: Principles and Applications. Washington: Island. ISBN 978-1-59726-681-9.
- ↑ "Agents of production". Encyclopaedia Britannica. 1 (14 ed.). 1930. p. 346.
- ↑ "White Collar: The American Middle Classes," 1956. Oxford: Galaxy Books, pp. 94–100.
- ↑ Pienaar, M.D. (2014). Intequisms: Accounting of ideas, chap. 6. Centurion: Africahead, 2nd edition, Kindle eBook, Amazon.com.
- ↑ R. Kümmel: The Productive Power of Energy and its Taxation เก็บถาวร 2017-08-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 4th European Congress Economy and Managers of Energy in Industry, Porto, Portugal, 27.-30. Nov. 2007.
- ↑ R. Stresing; D. Lindenberger; R. Kümmel (2008). "Cointegration of Output, Capital, Labor, and Energy" เก็บถาวร 2017-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (PDF). European Physical Journal B. 66 (2): 279–287. doi:10.1140/epjb/e2008-00412-6.
- ↑ Douglas, C.H. (22 January 1934). "The Monopolistic Idea เก็บถาวร 2020-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" address at Melbourne Town Hall, Australia. The Australian League of Rights: Melbourne. Retrieved 28 February 2008.
- ↑ Douglas, C.H. (1973). Social Credit (PDF). New York: Gordon Press. p. 60. ISBN 0-9501126-1-5. Archived from the original (PDF) on 9 February 2010.
- ↑ Kropotkin, Petr Alekseevich (2015). The Conquest of Bread. Priestland, David (This edition, using the 1913 text, first published in Penguin Classics in 2015 ed.). London: Penguin Classics. ISBN 9780141396118. OCLC 913790063.
เอกสารเพิ่มเติม
[แก้]- AP U.S. History (condensed). 2007.
- "Produktionsfaktoren" (ภาษาเยอรมัน). Google Knol. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-23. สืบค้นเมื่อ 2010-02-16.