ข้ามไปเนื้อหา

ตักศิลา

พิกัด: 33°44′45″N 72°47′15″E / 33.74583°N 72.78750°E / 33.74583; 72.78750
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ตักษศิลา)
ตักศิลา *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ประเทศ ปากีสถาน
ประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(iii) (vi)
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2523 (คณะกรรมการสมัยที่ 4)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ตักศิลา (ละติน: Taxila; ตัก-กะ-สิ-ลา)[1] หรือ ตักสิลา (Takkasilā; ตัก-กะ-สิ-ลา) ในภาษาบาลี หรือ ตักษศิลา (Takṣaśilā; ตัก-สะ-สิ-ลา) ในภาษาสันสกฤต[2] เป็นชื่อเมืองอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน เป็นมหาวิทยาลัยและเป็นศูนย์กลางของศิลปวิชาการ ในอดีตของอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาล มีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์สั่งสอนศิลปวิทยาต่าง ๆ แก่ศิษย์ที่มาเล่าเรียนในแถบดินแดนชมพูทวีป บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายท่านที่สำเร็จการศึกษาจากที่แห่งนี้ เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล หมอชีวกโกมารภัจจ์ องคุลีมาล

ปัจจุบันนี้ตักศิลาอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงอิสลามาบาด คงเหลือแต่ซากเมืองให้ได้เห็น มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญคือ พิพิธภัณฑ์ตักศิลา ซึ่งได้เก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่และภูมิปัญญาของชาวตักศิลายุคต่าง ๆ เอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ รวมถึง ซากสถูปเจดีย์ วัดวาอาราม และปฏิมากรรม แบบศิลปะคันธาระ จำนวนมาก อันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้คน จนรัฐบาลปากีสถานได้อนุรักษ์ไว้เป็นโบราณสถานภายใต้การสนับสนุนขององค์การยูเนสโก

เมืองตักศิลาถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เป็นนครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ เป็นหนึ่งในบรรดา 16 แคว้นของชมพูทวีป สถาปนาขึ้นโดยชาวอารยัน ตักศิลาตกอยู่ภายใต้อารยธรรมมากมาย เช่น อารยธรรมกรีกโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช และอารยธรรมฮินดูหลายราชวงศ์ ในสมัยพุทธกาลมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำแคว้นและรุ่งเรืองมานับพันปี โดยมีความรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้สร้างตักศิลาให้มีชื่อเสียงพร้อมๆ กับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ชนชาติเฮฟทาไลต์ (Hephthalite) ได้ยกทัพมาตีอินเดียและทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้เมืองตักศิลาพินาศสูญสิ้นแต่บัดนั้น

มรดกโลก

[แก้]

ตักศิลาได้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2523 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้

  • (iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
  • (vi) - มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากล เล่ม 2 (อักษร M-Z), พิมพ์ครั้งที่ 1, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 584.
  2. พระธรรมปิฎก (ปยุตฺโต). (2538). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หน้า 61-89.

33°44′45″N 72°47′15″E / 33.74583°N 72.78750°E / 33.74583; 72.78750