ตะขาบน้ำตก
ตะขาบน้ำตก | |
---|---|
![]() | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ ![]() | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์ขาปล้อง Arthropod |
ชั้น: | Chilopoda |
อันดับ: | Scolopendromorpha |
วงศ์: | Scolopendridae |
สกุล: | Scolopendra Siriwut, Edgecombe & Panha, 2016 |
สปีชีส์: | Scolopendra cataracta |
ชื่อทวินาม | |
Scolopendra cataracta Siriwut, Edgecombe & Panha, 2016 |
ตะขาบน้ำตก หรือเรียกว่า Scolopendra cataracta เป็นตะขาบสปีชีส์หนึ่งในวงศ์ Scolopendridae [1][2] เป็นตะขาบสะเทินน้ำสะเทินบกชนิดแรกของโลกที่ถูกค้นพบ สามารถเติบโตได้ยาวถึง 20 เซนติเมตร (0.66 ฟุต)[2] [3]
การค้นพบ
[แก้]นายจอร์จ เบคคาโลนี นักกีฏวิทยาและภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอน[4] ค้นพบตะขาบน้ำตกครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี [5] เมื่อ พ.ศ. 2544 ขณะที่เขามาพักผ่อนในประเทศไทย นายเบคคาโลนีบรรยายลักษณะของตะขาบว่า "มันดูน่าสยดสยอง มันมีขายาวมากและมีสีดำแกมเขียว" เขาพบตะขาบสายพันธุ์นี้เมื่อเขาไปพลิกหินก้อนหนึ่งริมลำธาร[2] โดยสิ่งที่เขาสังเกตได้ก็คือ ตะขาบตัวนี้รีบวิ่งหนีไปยังลำธาร แทนที่จะวิ่งเข้าป่า ซึ่งพฤติกรรมนี้ถือว่าผิดปกติ เนื่องจากตะขาบทั่วไปนั้นจะพยายามหลีกเลี่ยงน้ำ[3] จากนั้น ตะขาบตัวนี้ก็ว่ายน้ำเข้าไปหลบซ่อนอยู่ใต้ก้อนหินในลำธาร[2] หลังจับตะขาบตัวนี้ได้ นายเบคคาโลนีก็พบว่า มันมีลักษณะการว่ายน้ำคล้ายกับปลาไหล[3] นายเบคคาโลนีจึงได้เก็บตะขาบตัวนั้นกลับไปที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอน เพื่อนำไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านตะขาบคนหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญคนนั้นมีข้อกังขาเกี่ยวกับการค้นพบของนายเบคคาโลนี เพราะตะขาบในกลุ่ม Scolopendra มักจะอาศัยอยู่ตามที่แห้ง และจนถึงตอนนั้นยังไม่เคยมีการค้นพบตะขาบสะเทินน้ำสะเทินบกมาก่อนเลย[2]
ตัวอย่างตะขาบของนายเบคคาโลนีถูกจัดเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์หลายปี โดยไม่มีการค้นพบข้อมูลเพิ่มเติม[2] จนกระทั่งนายเกรกอรี เอดจ์คอมบ์ เพื่อนร่วมงานของนายเบคคาโลนี และนายวรุฒ ศิริวุฒิ นักเรียนชาวไทยของเขา ได้เก็บรวบรวมตะขาบอีกสองตัวใกล้น้ำตกในประเทศลาว จากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ พบว่าตะขาบสองตัวนี้เป็นตะขาบสายพันธุ์ใหม่ พวกเขาจึงได้ตั้งชื่อสายพันธุ์ว่า Scolopendra cataracta ซึ่งมาจากภาษาละติน แปลว่าน้ำตก [2]
จนถึงปัจจุบัน มีการเก็บตัวอย่างตะขาบน้ำตกไว้ได้เพียงสี่ตัวเท่านั้น ตะขาบตัวแรกถูกเก็บมาจากประเทศเวียดนามเมื่อปี พ.ศ. 2471 แต่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นตะขาบธรรมดา จึงถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอนโดยไม่มีการค้นหาเพิ่มเติม[2] ตะขาบตัวที่สองคือตะขาบที่นายเบคคาโลนีพบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนตะขาบสองตัวสุดท้ายถูกเก็บได้โดยนายเอดจ์คอมบ์ที่ประเทศลาว[2]
ลักษณะ
[แก้]ตะขาบน้ำตก จัดเป็นตะขาบยักษ์ เติบโตได้ยาวประมาณ 200 มิลลิเมตร (7.9 นิ้ว)[2] มีขายาวและมีสีดำแกมเขียว [3] และเมื่อถูกพบเห็นจะพยายามหลบหนีโดยการไปซ่อนตัวใต้น้ำ มีการพบเห็นตะขาบสายพันธุ์นี้วิ่งอยู่ตามริมลำธาร หรือบางครั้งก็ลงไปว่ายน้ำในท่าทางคล้ายกับปลาไหล เมื่อตะขาบชนิดนี้ขึ้นมาจากน้ำ น้ำบนผิวของมันจะไหลออกไปโดยไม่เกาะตัวอยู่บนผิว[2] เนื่องจากผิวของมันนั้นมีสมบัติไฮโดรโฟบิก ทำให้ผิวของตะขาบชนิดนี้สามารถแห้งได้อย่างรวดเร็ว
ที่อยู่อาศัย
[แก้]ตะขาบน้ำตกมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ในประเทศลาว ประเทศไทย และ ประเทศเวียดนาม [2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Bonato L.; และคณะ (2016). "Scolopendra cataracta Siriwut, Edgecombe, Panha, 2016". ChiloBase 2.0 – A World Catalogue of Centipedes (Chilopoda). สืบค้นเมื่อ 27 November 2020.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 Bates, M. (26 June 2016). "'Horrific' First Amphibious Centipede Discovered". National Geographic. สืบค้นเมื่อ 1 July 2016.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 Holmes, O. (1 July 2016). "Giant swimming, venomous centipede discovered by accident in world-first". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 1 July 2016.
- ↑ "Dr George Beccaloni – Curator, Orthopteroidea and Wallace Collection". Natural History Museum, London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-07. สืบค้นเมื่อ 1 July 2016.
- ↑ Nijhuis, M. (3 July 2016). "It's always a joy to discover a new species. But there is a downside..." The Guardian. สืบค้นเมื่อ 3 July 2016.