ข้ามไปเนื้อหา

ดอกแก้ว ธีระโคตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดอกแก้ว ธีระโคตร
เกิด21 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 (74 ปี)
จังหวัดเชียงราย
อาชีพช่างทอผ้า
รางวัลครูช่างศิลปหัตถกรรม เมื่อ พ.ศ. 2557

ดอกแก้ว ธีระโคตร เกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2493[1] เป็นช่างทอผ้า ครูช่างศิลปหัตถกรรม ชาวไทลื้อ จังหวัดเชียงราย มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน (ผ้าทอไทลื้อ)

ดอกแก้ว ธีระโคตร จบการศึกษาระดับมัธยมชั้นที่ 6 จากกศน. อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้สืบทอดและอนุรักษ์การทอผ้าไทลื้อจากแม่วรรณ วงค์ชัย และแม่อุ้ยเลา วงศ์ชัย การทอผ้าในช่วงแรกเริ่มจากลายพื้นทั่วไปที่ไม่มีลาย[2] จากนั้นฝึกการทอแบบมีลวดลายของไทลื้อ จนเมื่อ พ.ศ. 2532 จัดตั้ง กลุ่มทอผ้าไตลื้อ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดเทคนิคการทอผ้า และการย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น

แม่ดอกแก้วเป็นวิทยากรอบรมเรื่องการทอผ้าของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและเผยแพร่องค์ความรู้การทอผ้าไทลื้อ จนเมื่อ พ.ศ. 2544 ได้รับโล่เกียรติคุณเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จัดการศึกษานอกโรงเรียนดีเด่น โดยกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ คนดีศรีเชียงราย ประจำปี 2551 ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น สาขาศิลปหัตถกรรม ระดับจังหวัด โดยสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย และได้รับการเชิดชูเกียรติจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม เมื่อ พ.ศ. 2557[3]

ผ้าของแม่ดอกแก้วมีเนื้อเรียบแน่น แต่ละผืนลวดลายไม่ซ้ำกัน มีการสลับการเล่นสีของเส้นฝ้ายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ แม่ดอกแก้วได้ปรับวัสดุจากฝ้ายมาเป็นฝ้ายทอคั่นด้วยเส้นไหม ทำให้ผ้ามีความมันวาว สวยงาม มีการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อและผ้าซิ่นให้ทันมีความร่วมสมัย[4] สินค้าของกลุ่มมีจำหน่ายบนเครื่องบินของสายการบินไทย มีสินค้าประเภทผ้าคลุมไหล่ ผ้าถุง ผัโพกหัวและผ้าตัดเสื้อ รวมทั้งมีการจำหน่ายยังต่างประเทศ[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "นางดอกแก้ว ธีรโคตร - ด้าน : ศิลปกรรมหัตถกรรม" (PDF). มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.[ลิงก์เสีย]
  2. "ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอไทลื้อศรีดอนชัย (กระเป๋า)". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "ผ้าทอ ไทลื้อ หัตถศิลป์อันทรงคุณค่า". สนุก.คอม.
  4. "การดำรงอยู่ของผ้าทอไทลื้อในจังหวัดเชียงราย : บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ". วารสารสังคมศาสตร์วิชาการ.
  5. สราวุธ คำฟูบุตร. "สัมผัสวิถีไทลื้อเชียงของหนุน2ชุมชนเป็นศูนย์เรียนรู้หัตถกรรมสร้างรายได้และท่องเที่ยว".