ข้ามไปเนื้อหา

ซีนโคมะเล่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซีนโคมะเล่
ซีนโคมะเล่ ราว พ.ศ. 2413
เกิดมะมยีน
พ.ศ. 2395
พม่า
เสียชีวิตพ.ศ. 2473
อาชีพนักนาฏศิลป์หลวง
คู่สมรสแลดอโอะแห่งตอง-ดวี่นจี้
เจ้าชายยะนอง
มองบะ
บุตรยา-บว่า และ เทะท่า (กับแลดอโอะ)
ทเวทิน (กับมองบะ)
มะปุ (บุตรบุญธรรม)

ซีนโคมะเล่ (พม่า: ဆင်ခိုးမလေး; ออกเสียง: [sʰɪɴ gó mɑ lé]; แปลว่า สาวน้อยที่ถูกช้างพาไป; ชื่อเกิด มะมยีน; พ.ศ. 2395–2473)[1] เป็นนักนาฏศิลป์หลวงในราชสำนักพม่า ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในช่วงปลายสมัยโก้นบอง[2]

เธอเป็นที่โปรดปรานของพระนางศุภยาลัตอย่างมาก จนในสมัยนั้นมีพระราชโองการว่าไม่ควรมีนักนาฏศิลป์ในราชสำนักคนอื่นนอกจากซีนโคมะเล่[3] นักนาฏศิลป์ในราชสำนักร่วมสมัยเพียงคนเดียวของเธอคือยี่นดอมะเล่ซึ่งเคยแสดงละครในราชสำนักก่อนหน้าเธอ ทั้งสองคนนี้กล่าวกันว่าเป็นมารดาของศิลปะการละครยุคต้นของมัณฑะเลย์[4]

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

มะมยีนเป็นบุตรคนโตจากพี่น้องห้าคน[note 1] เกิดเมื่อ พ.ศ. 2395 ที่เมืองตอง-ดวี่นจี้ เธอเริ่มสนใจนาฏศิลป์แบบดั้งเดิม และด้วยความสามารถเธอจึงกลายเป็นนักนาฏศิลป์[note 2] ที่มีชื่อเสียงในบริเวณเมืองตอง-ดวี่นจี้ ตอนอายุได้ 12 ปี เมื่ออายุได้ 19 ปี เธอได้สมรสกับผู้ดูแลนาข้าวหลวง (แลดอโอะ, လယ်တော်အုပ်) แห่งตอง-ดวี่นจี้ และให้กำเนิดบุตรชายสองคน ได้แก่ ยา-บว่า (ညာဘွား) และ เทะท่า (သက်ထား)

อาชีพนักนาฏศิลป์ของราชวงศ์

[แก้]

เมื่อเธอมาถึงมัณฑะเลย์เพื่อศึกษาต่อวิชานาฏศิลป์ราชสำนัก เจ้าชายแห่งยะนองผู้ทรงอำนาจและโหดเหี้ยมได้นำเธอไปเป็นภรรยาคนหนึ่ง[4] เจ้าชายแห่งยะนองได้ยกย่องเธอให้สูงขึ้น แม้ว่าเขาจะมีภรรยาที่ถูกกฎหมายหกคน แต่ซีนโคมะเล่เป็นเหรัญญิกของบ้าน ลูกชายของพวกเขาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก[5] มากกว่าหกปีหลังการสมรส เจ้าชายแห่งยะนองได้รับความพิโรธจากพระนางศุภยาลัต เนื่องจากเขาเข้าไปพัวพันคดีของพระเจ้าสีป่อกับได้ง์คีนคีนและฆ่าตัวตายในเรือนจำ เมื่อสามีของเธอเสียชีวิต ซีนโคมะเล่เรียนนาฏศิลป์โยดะยา (ไทย) ภายใต้การฝึกสอนของอูโบเมียะเป็นเวลาสามปีโดยได้รับพระราชานุญาตจากพระนางศุภยาลัต ในที่สุดเธอก็กลายเป็นนักนาฏศิลป์คณะละครราชสำนักอินทราวุธแทนที่ยี่นดอมะเล่

หลายปีต่อมา เธอได้สมรสกับแลดอโอะอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สามีของเธอเสียชีวิตในเวลาไม่นานหลังการสมรสของพวกเขา หลังจากการสละราชสมบัติของพระเจ้าสีป่อใน พ.ศ. 2428 นักนาฏศิลป์ราชสำนักหลายคนได้ย้ายมาที่ย่างกุ้งรวมถึงซีนโคมะเล่[6] ที่ย่างกุ้งเธอได้สมรสกับมองบะ ผู้อาวุโสของเขตจิมยะไนง์ และให้กำเนิดบุตร งะทเวทิน เนื่องจากเธอไม่มีลูกสาว เธอจึงรับหลานสาวเป็นลูกบุญธรรมชื่อ มะปุ

ชีวิตในภายหลัง

[แก้]

ใน พ.ศ. 2453 ซีนโคมะเล่เดินทางไปรัตนคีรีเพื่อแสดงละครราชสำนักในพิธีของพระราชธิดาทั้งสี่ของพระเจ้าสีป่อ เธอได้รับค่าตอบแทนเป็นเหรียญทอง 0.15 วิส เมื่อเธอมาถึงบ้านเกิดของเธอที่เมืองตอง-ดวี่นจี้ คณะนาฏศิลป์ดั้งเดิมก่อตั้งขึ้นพร้อมกับครอบครัวของเธอแต่ถูกยุบไปหลังจากนั้นไม่นาน ตั้งแต่นั้นมา ซีนโคมะเล่ก็กลายมาเป็นแม่ค้าขายไม้จันทน์เพื่อหาเลี้ยงชีพที่มี่นละ

ซีนโคมะเล่ใช้ชีวิตด้วยความยากจนหาบเร่ค้าขายและเสียชีวิตใน พ.ศ. 2473 อายุ 78 ปี

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

ชื่อศิลปินของเธอ ซีนโคมะเล่ มีความหมายว่า "สาวน้อยที่ถูกช้างอุ้มไป" ว่ากันว่าเจ้าชายแห่งยะนองอุ้มเธอไปบนช้างเพื่อสมรสกับเจ้าชาย ตั้งแต่นั้นมาทุกครั้งที่เธอแสดงนาฏศิลป์ เธอและผู้ชมจะใช้ชื่อ ซีนโคมะเล่ เสมอ[7]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. น้องชายทั้งสี่ของเธอ ได้แก่ โกยินจี้, โกยินกะเล, โกเจาะโลน และโกโพตูดอ
  2. การแสดงนาฏศิลป์และละครพม่าในสมัยก่อนแสดงบนพื้นดินโดยมีผู้ชมรายล้อมอยู่

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ဆင်ခိုးမလေး?". www.lostfootsteps.org (ภาษาพม่า).
  2. Maṅʻ (Moṅʻ), Khaṅʻ (1987). စာတမ်းငယ် စာပေစာတမ်းများ (ภาษาพม่า). စာပေဗိမာန်.
  3. မြန်မာ့စွယ်စုံကျမ်း (ภาษาพม่า). မြန်မာနိုင်ငံ ဘာသာပြန်စာပေအသင်း. 1954.
  4. 4.0 4.1 "ပဒေသရာဇ်ခြေတော်တင် ပါရမီရှင်အမျိုးသမီးတဦး". BBC News (ภาษาพม่า).
  5. ညင်း, စောမုံ (1976). ဗမာအမျိုးသမီး (ภาษาพม่า). ပိတောက်လှိုင်းစာပေ.
  6. ငွေတာရီမဂ္ဂဇင်း (ภาษาพม่า).
  7. Arts of Asia (ภาษาอังกฤษ). Arts of Asia Publications. 2007.