ซีคันยีโซ ดลามีนี
ซีคันยีโซ ดลามีนี | |
---|---|
เจ้าหญิงซีคันยีโซในพิธีอุมลังกา เมื่อ พ.ศ. 2549 | |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ การสื่อสาร และเทคโนโลยี | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 | |
นายกรัฐมนตรี | เทมบา มาซูกู |
ก่อนหน้า | ดูมีซานี อึนดลางามันดลา |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 1 กันยายน พ.ศ. 2530 อึมบาบานี อาณาจักรสวาซิแลนด์ |
คู่อาศัย | คาเยลีฮเล แพทริก ดลามีนี |
บุตร | พีโกลเวซเว คูคันยา พาซีกา เอไลฮู ดลามีนี[1][2] |
บุพการี |
|
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยไบโอลา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ |
อาชีพ | นักร้อง |
พระราชวงศ์สวาซิแลนด์ |
---|
|
เจ้าหญิงซีคันยีโซ ดลามีนี (อักษรโรมัน: Sikhanyiso Dlamini; ประสูติ 1 กันยายน พ.ศ. 2530) เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกจากทั้งหมดสามสิบพระองค์ในสมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 แห่งเอสวาตินี ประสูติแต่สมเด็จพระราชินีลาอึมบีกีซา หรือ ซีโบเนโล อึมโงเมตูลู (Sibonelo Mngometulu) พระราชินีพระองค์ที่สาม พระองค์ถูกจัดอยู่ในราชนิกุลรุ่นเยาว์ที่มีเสน่ห์มากสุดในโลก ลำดับที่ 20 โดยเว็บไซต์ฟอร์บส์ดอตคอม ของสหรัฐ[3][4] นอกจากนี้ยังเป็นแร็ปเปอร์หญิง ทรงใช้พระนามว่า ปาชู (Pashu)[5][2]
ปัจจุบันเจ้าหญิงซีคันยีโซทรงดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ การสื่อสาร และเทคโนโลยีของประเทศเอสวาตินี[6]
พระชนม์ชีพช่วงต้นและการศึกษา
[แก้]เจ้าหญิงซีคันยีโซเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ที่ประสูติแต่ซีโบเนโล อึมโงเมตูลู พระองค์มีพระอนุชาและพระขนิษฐาอีก 13 พระองค์ ทั้งยังมีประยูรญาติทางฝ่ายพระชนกไม่ต่ำกว่าสองร้อยคนที่สืบสันดานจากกษัตริย์ซอบูซาที่ 2 พระอัยกา[7] ผู้มีพระมเหสี 70 พระองค์ และมีพระราชบุตรอีก 201 พระองค์ เจ้าหญิงซีคันยีโซเป็นหนึ่งในพระราชนัดดาจากที่มีทั้งหมดราวหนึ่งพันพระองค์[5]
เจ้าหญิงซีคันยีโซทรงเข้ารับการศึกษาจากวิทยาลัยเซนต์เอดมุนส์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในฮาร์ตฟอร์ดเชอร์ สหราชอาณาจักร ต่อมาทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการละครที่มหาวิทยาลัยไบโอลา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ[8] ครั้น พ.ศ. 2555 พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาโทสาขาการสื่อสารดิจิทัลจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ที่ซิดนีย์ พระองค์ประทับในย่านกลีบร่วมกับเยมมา โชโล (Yemma Sholo) ผู้ช่วยส่วนพระองค์ที่ถูกส่งมาจากพระราชวัง[5]
กษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ซึ่งเป็นพระชนก ริเริ่มให้มีพิธีกรรม อุมช์วาโช (Umchwasho) อันเป็นพิธีกรรมรักษาพรหมจรรย์ตามประเพณีของสวาซิแลนด์ เพื่อใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ เจ้าหญิงซีคันยีโซกลายเป็นประเด็นในการโต้เถียง เพราะประทับอยู่ต่างประเทศ[9] ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ต่างประเทศเพื่อทรงศึกษาต่อนั้น ทรงมีชื่อเสียงอย่างยิ่งในเรื่องของการเพิกเฉย ไม่ยอมปฏิบัติตนตามขนบธรรมเนียมประเพณีของมาตุภูมิ[10]
การทำงาน
[แก้]กษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 ทรงสนับสนุนให้เจ้าหญิงซีคันยีโซเปิดตัวมูลนิธิอิมบาลี (the Imbali Foundation) ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557[11] โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ การศึกษา และจิตวิญญาณของเหล่าอิมบาลีเยมาสวาตี (Imbali YemaSwati) ซึ่งเป็นกองทหารหญิงพรหมจรรย์ นอกจากนี้เจ้าหญิงซีคันยีโซยังทรงจัดการประกวดนางงามการท่องเที่ยวสวาซิแลนด์ (Miss Swaziland Tourism)[12] ในเวลาต่อมาสมาคมคนหูหนวกสวาซิแลนด์ของให้เจ้าหญิงอุปถัมภ์การประกวด นางงามหูหนวกแอฟริกา (Miss Deaf Africa) โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย[13]
เจ้าหญิงซีคันยีโซเป็นนักแสดงและแร็ปเปอร์หญิงของเอสวาตินี มีชื่อในการแสดงว่า ปาชู[5][2] ระหว่างที่ทรงเข้าฝึกงาน (Internship Programs) ที่มหาวิทยาลัยลิมกกวิง ประเทศมาเลเซีย ในระยะสั้น พระองค์มีซิงเกิลเพลง "เฮลยัวร์มาเจสตี" (Hail Your Majesty) เพื่อสรรเสริญพระชนก โดยเพลงถูกเปิดตัวครั้งแรกระหว่างการพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่กษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ณ มหาวิทยาลัยลิมกกวิง[14]
นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นคณะกรรมการของเอ็มทีเอ็น สวาซิแลนด์ (MTN Swaziland) บริษัทโทรคมนาคมเคลื่อนที่ข้ามชาติ[15] ทรงแต่งตั้งมูฮัมมัด กาดีร์ (Muhammad Qadeer) นักธุรกิจชาวมาเลเซีย เป็นทูตพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศสวาซิแลนด์[16]
ปัจจุบันเจ้าหญิงซีคันยีโซทรงดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ การสื่อสาร และเทคโนโลยีของประเทศเอสวาตินี ในรัฐบาลรักษาการณ์ของเทมบา มาซูกู ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561[6]
ข้อวิพากษ์วิจารณ์
[แก้]มีรายงานใน ไทมส์ออฟสวาซิแลนด์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2546 อ้างว่า เมื่อคราวที่เจ้าหญิงซีคันยีโซเสด็จเยือนสหรัฐ และสหราชอาณาจักร รัฐบาลสวาซิแลนด์ออกค่าใช้จ่ายค่าเดินทางแก่เจ้าหญิงเกือบ 1 ล้านยูโร (หรือเท่ากับ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธ[17]
พ.ศ. 2548 กษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 พระชนก ดำรัสสั่งห้ามมิให้เจ้าหญิงซีคันยีโซทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการลงโทษที่เจ้าหญิงแสดงกิริยามารยาทไม่เหมาะสมในพระราชพิธีหมั้นของกษัตริย์อึมสวาตีที่ 3 กับว่าที่พระมเหสีพระองค์ใหม่ จนเจ้าหน้าที่ควบคุมพระราชพิธีต้องใช้ไม้เท้าทุบตีเจ้าหญิงซีคันยีโซ กระทั่งหลังพ้นโทษ เจ้าหญิงซีคันยีโซเมื่อมีพระชันษาได้ 17 ปี ทรงจัดงานเลี้ยงฉลองวันประสูติในที่ประทับของพระชนนีโดยการเปิดเพลงเสียงดังลั่นและเสวยน้ำจัณฑ์[18]
ในปีรุ่งขึ้น เจ้าหญิงซีคันยีโซทรงวิพากษ์วิจารณ์ประเพณีหลายเมียของผู้ชายสวาซิแลนด์ไว้ว่า "การมีเมียหลายคนมันเป็นประโยชน์กับผู้ชาย แต่สำหรับฉันมองว่ามันไม่ยุติธรรมและเลวร้าย" ต่อมาสำนักพระราชวัง "ปิดปาก" เจ้าหญิง และไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์เจ้าหญิงอีก[19]
พ.ศ. 2563 เจ้าหญิงซีคันยีโซทรงใช้เงินภาษีของประชาชนออกรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ราคา 600,000 ยูโร แก่คาเยลีฮเล แพทริก ดลามีนี (Patrick Khayelihle Dlamini) ทหารหนุ่มที่พระองค์คบหา เพราะคาเยลีฮเลมอบรถฟ็อลคส์วาเกินโปโล แก่ลินเดลวา ราเดเบ (Lindelwa Radebe) หญิงที่เขาคบหาอีกคน[20]
ชีวิตส่วนพระองค์
[แก้]เจ้าหญิงซีคันยีโซทรงคบหากับคาเยลีฮเล แพทริก ดลามีนี (Patrick Khayelihle Dlamini) ซึ่งเป็นทหาร[20] มีพระประสูติกาลพระโอรส พีโกลเวซเว คูคันยา พาซีกา เอไลฮู ดลามีนี (Phikolwezwe Kukhanya Phasika Elihu Dlamini) หรือ พีโก (Phiko) เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563[1][2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Karabo Mokoena (21 April 2021). "King Mswati's baby grandchild gets mega birthday party". The Citizen. สืบค้นเมื่อ 25 October 2022.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Kate Berbano (14 July 2021). "Meet eSwatini's rapping royal Princess Sikhanyiso: the daughter of King Mswati III released a single under the alias Pashu and had some wild teenage experiences". South China Morning Post. สืบค้นเมื่อ 25 October 2022.
- ↑ British blue blood top 'Hottest Royal' list CNN's Stephanie Busari May 29, 2008
- ↑ ฟอร์บส์ยกเจ้าชายวิลเลียมราชวงศ์รุ่นเยาว์เซ็กซี่สุดในโลก[ลิงก์เสีย]
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 Frost, Carleen (5 May 2012). "Royal rapper Princess Sikhanyiso Dlamini of Swaziland masters Sydney". Sydney Daily Telegraph. สืบค้นเมื่อ 13 July 2014.
- ↑ 6.0 6.1 Ike Dibie, Michael (4 November 2018). "eSwantini appoints King Mswati's daughter as ICT Minister". สืบค้นเมื่อ 4 July 2019.
- ↑ Matsebula, Bhekie (4 December 2001). "Profile: Troubled King Mswati". BBC News. สืบค้นเมื่อ 12 May 2011.
- ↑ Busari, Stephanie (29 May 2008). "British blue blood top 'Hottest Royal' list". CNN. สืบค้นเมื่อ 12 May 2011.
- ↑ Matsebula, Bhekie (17 December 2001). "Swazi princess dons chastity tassel". BBC News. สืบค้นเมื่อ 12 May 2011.
- ↑ "Swazi women fear losing their trousers". BBC News. 24 June 2002. สืบค้นเมื่อ 12 May 2011.
- ↑ Tshabalala, Nontobeko (22 June 2014). "King approves Imbali Foundation". Times of Swaziland. สืบค้นเมื่อ 19 November 2014.
- ↑ Manyathela, Thobeka (22 June 2014). "Imbali Foundation to Host Miss Tourism SD". Times of Swaziland. สืบค้นเมื่อ 19 November 2011.
- ↑ Masuku, Kwazi (30 June 2014). "DPM Pledges Support for Miss Deaf Pageant". The Swazi Observer. สืบค้นเมื่อ 19 November 2014.
- ↑ Yee, Pete (10 July 2014). "'Royal Rapper' Sikhanyiso shines". Limkokwing University. สืบค้นเมื่อ 19 November 2011.
- ↑ Dlamini, Welcome (4 June 2012). "Sikhanyiso for MTN board". Times of Swaziland. สืบค้นเมื่อ 26 November 2015.
- ↑ Motau, Phephile (10 November 2015). "Princess Sikhanyiso Appoints Malaysian to promote country". Times of Swaziland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-08. สืบค้นเมื่อ 26 November 2015. She recently recuse herself from being Miinister of ICT
- ↑ "The Issue of 'E1 Million Spent on Princess Sikhanyiso' and The Issue of 'Building' Royal Palaces" (Press statement). Swaziland Prime Minister's office. 26 January 26, 2004.
- ↑ Domestic whippings in Swaziland, Aug 2005 - CORPUN ARCHIVE szd00508
- ↑ "The princess's polygamy slur". Mail & Guardian. 1 September 2006.
- ↑ 20.0 20.1 Zweli Martin Dlamini (23 December 2020). "EXPOSED: Princess Sikhanyiso buys Mercedes Benz worth over E600,000.00 for military boyfriend with taxpayers money". Swaziland News. สืบค้นเมื่อ 25 October 2022.