ซามูเอล คูนาร์ด
ซามูเอล คูนาร์ด | |
---|---|
![]() | |
เกิด | 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1787 แฮลิแฟกซ์ โนวาสโกเชีย |
เสียชีวิต | 28 เมษายน ค.ศ. 1865 เคนซิงตัน ลอนดอน ประเทศอังกฤษ | (77 ปี)
อาชีพ | เจ้าของกิจการขนส่ง |
คู่สมรส | ซูซาน ดัฟฟัส (สมรส 1815; เสียชีวิต 1828) |
บุตร | 9 |
บิดามารดา | เอบราแฮม คูนาร์ด มาร์กาเรต เมอร์ฟี |
เซอร์ ซามูเอล คูนาร์ด บารอเนตที่ 1 (อังกฤษ: Sir Samuel Cunard, 1st Baronet; 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1787 – 28 เมษายน ค.ศ. 1865) เป็นเจ้าของกิจการเดินเรือชาวอังกฤษ-แคนาดา เกิดในแฮลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย ผู้ก่อตั้งสายการเดินเรือคูนาร์ด ซึ่งเป็นการสร้างการเชื่อมต่อเส้นทางเดินเรือจักรไอน้ำตามกำหนดการครั้งแรกกับทวีปอเมริกาเหนือ[1] เขาเป็นบุตรชายของช่างไม้และพ่อค้าไม้ฝีมือดีที่หลบหนีสงครามปฏิวัติอเมริกาและมาตั้งรกรากในแฮลิแฟกซ์[2]
ครอบครัวและชีวิตช่วงต้น
[แก้]ซามูเอล คูนาร์ดเป็นบุตรชายคนที่สองของเอบราแฮม คูนาร์ด (1756–1824) สมาชิกกลุ่มเควกเกอร์และมาร์กาเรต เมอร์ฟี (1758–1821)[3] โรมันคาทอลิก ครอบครัวคูนาร์ดเป็นครอบครัวชาวเควกเกอร์ที่อพยพมาจากวุร์สเตอร์เชอร์ ในบริเตน แต่ถูกบังคับให้หนีไปเยอรมนีในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ด้วยการข่มเหงทางศาสนา จึงทำให้พวกเขาใช้นามสกุลคุนเดอร์ (Kunder) แทน ปู่ทวดของซามูเอลเคยเป็นช่างย้อมผ้าในเครเฟ็ลท์ แต่อพยพไปยังเพนซิลเวเนียใน ค.ศ. 1683 ในอเมริกาพวกเขาใช้นามสกุลคูนาร์ด ต่อมาลูกหลานของเขาบางคน รวมทั้งปู่ของเขา ซามูเอล ได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นคูนาร์ด เอบราแฮมเป็นผู้ภักดีต่อราชวงศ์อังกฤษและย้ายไปอยู่ที่แฮลิแฟกซ์ใน ค.ศ. 1773 หลังสงครามปฏิวัติอเมริกา เขาแต่งงานกับมาร์กาเรต เมอร์ฟี ผู้ลี้ภัยกลุ่มภักดีอีกคนหนึ่งในปีนั้น ครอบครัวของมาร์กาเรตมีถิ่นกำเนิดจากไอร์แลนด์และย้ายมาที่แฮลิแฟกซ์จากเซาท์แคโรไลนา[4][5] เอบราแฮมและมาร์กาเรตมีลูกเก้าคน เป็นผู้หญิงสองคนและผู้ชายเจ็ดคน (วิลเลียม 1789–1823, ซามูเอล 1787–1865, เอ็ดเวิร์ด 1798–1851, โจเซฟ 1799–1865, จอห์น ทอมัส และเฮนรี)
เอบราแฮมเป็นช่างไม้ผู้ชำนาญงานซึ่งทำงานให้กับกองทหารอังกฤษในแฮลิแฟกซ์และกลายเป็นเจ้าของที่ดินและพ่อค้าไม้ผู้มั่งคั่ง โรคพิษสุราเรื้อรังของมาร์กาเรตเป็นแรงผลักดันให้ซามูเอลต้องรับผิดชอบภาระต่าง ๆ ตั้งแต่ยังเด็ก ทักษะในการทำธุรกิจของซามูเอลปรากฏให้เห็นชัดเจนตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เขาบริหารร้านค้าทั่วไปของตัวเองจากสินค้าที่ได้มาจากการประมูลที่ท่าเรือ ต่อมาเขาเข้าร่วมกับพ่อของเขาในธุรกิจไม้ของครอบครัวซึ่งขยายไปสู่การลงทุนในการขนส่ง[3]
วัยผู้ใหญ่และอาชีพการงาน
[แก้]ในช่วงสงคราม ค.ศ. 1812 คูนาร์ดอาสาเข้ารับราชการในกองพันที่ 2 ของกองกำลังอาสาสมัครกรมทหารแฮลิแฟกซ์และได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก เขาเคยดำรงตำแหน่งสาธารณะหลายตำแหน่ง เช่น นักดับเพลิงอาสาและกรรมการประภาคาร และรักษาชื่อเสียงไว้ไม่เพียงแต่ว่าเป็นนักธุรกิจที่ชาญฉลาดเท่านั้น แต่ยังเป็นพลเมืองที่ซื่อสัตย์และใจกว้างอีกด้วย[3]
คูนาร์ดเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในธุรกิจการเดินเรือของแฮลิแฟกซ์และเป็นหนึ่งใน 12 บุคคลที่มีอิทธิพลเหนือกิจการของโนวาสโกเชีย เขาได้รับสัญญาจัดหาไปรษณีย์และเรือตรวจการณ์ประมงให้กับรัฐ คูนาร์ดขยายธุรกิจไม้และการขนส่งของครอบครัวด้วยการลงทุนในการล่าปลาวาฬ นำเข้าชา และการทำเหมืองถ่านหิน รวมทั้งลงทุนในบริษัทธนาคารแฮลิแฟกซ์ (Halifax Banking Company) และคลองชูเบนาเคดี (Shubenacadie Canal) เรือล่าวาฬที่ส่งไปไกลในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้แทบไม่เคยทำกำไรได้[3] เขาซื้อที่ดินจำนวนมากในรัฐพรินซ์เอดเวิร์ดไอแลนด์ โดยครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าของที่ดินถึงหนึ่งในเจ็ดของรัฐ ซึ่งทำให้เขาต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับข้อพิพาทอันยืดเยื้อระหว่างผู้เช่าบนเกาะและเจ้าของที่ดินที่ไม่อยู่ในประเทศที่เป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่[6][3]
เรือจักรไอน้ำ
[แก้]
คูนาร์ดทดลองใช้ไอน้ำอย่างระมัดระวังในตอนแรก จนได้เป็นผู้อำนวยการก่อตั้งบริษัทเรือจักรไอน้ำแฮลิแฟกซ์ (Halifax Steamboat Company) ซึ่งได้ต่อเรือจักรไอน้ำลำแรกในโนวาสโกเชียใน ค.ศ. 1930 ซึ่งก็คือเอสเอส เซอร์ ชาลส์ โอเกิล (SS Sir Charles Ogle) ที่ประสบความสำเร็จและให้บริการมายาวนานสำหรับบริการเรือข้ามฟากแฮลิแฟกซ์–ดาร์ทมัธ[3] เรือจักรไอน้ำลำแรกถูกสร้างโดยแอรอน แมนบีเมื่อ ค.ศ. 1822[1] คูนาร์ดดำรงตำแหน่งประธานบริษัทใน ค.ศ. 1836 และได้จัดหาพลังงานไอน้ำให้กับเรือข้ามฟากลำที่สองชื่อบ็อกเซอร์ (Boxer) ใน ค.ศ. 1838[7] คูนาร์ดเป็นผู้นำนักลงทุนจากแฮลิแฟ็กซ์ให้รวมกิจการกับธุรกิจในเกแบ็กใน ค.ศ. 1931 เพื่อต่อเรือเดินสมุทรลำแรกชื่อว่าโรยัลวิลเลียม (Royal William) ที่แล่นระหว่างเกแบ็กและแฮลิแฟ็กซ์ แม้ว่าโรยัลวิลเลียมจะประสบปัญหาหลังจากที่ต้องสูญเสียทั้งฤดูกาลเนื่องจากการกักอหิวาตกโรค แต่คูนาร์ดก็ยังได้เรียนรู้บทเรียนอันมีค่าเกี่ยวกับการดำเนินการเรือจักรไอน้ำ เขาว่าจ้างเรือกลไฟชายฝั่งชื่อโพโชฮอนทัส (Pochohontas) ใน ค.ศ. 1832 สำหรับบริการขนส่งไปรษณีย์ไปยังพรินซ์เอดเวิร์ดไอแลนด์ และต่อมาได้ซื้อเรือจักรไอน้ำขนาดใหญ่ขึ้นชื่อว่าเคปเบรตัน (Cape Breton) เพื่อขยายบริการ[8]
ประสบการณ์ของคูนาร์ดในการทำงานกับเรือจักรไอน้ำ รวมถึงการสังเกตเครือข่ายรถไฟที่ขยายตัวในอังกฤษ ทำให้เขาได้รับแรงบันดาลใจในการสำรวจการสร้างกองเรือจักรไอน้ำข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งจะแล่นข้ามมหาสมุทรอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับที่รถไฟแล่นข้ามแผ่นดิน เขาเดินทางไปสหราชอาณาจักรเพื่อแสวงหาผู้ลงทุนใน ค.ศ. 1837 เขาก่อตั้งบริษัทร่วมกับนักธุรกิจอีกหลายคนเพื่อประมูลสิทธิ์การดำเนินการบริการไปรษณีย์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างอังกฤษกับอเมริกาเหนือ และประสบความสำเร็จในการเสนอราคา ต่อมาบริษัทได้กลายเป็น บจ.เรือจักรไอน้ำคูนาร์ด (Cunard Steamships Limited)
ใน ค.ศ. 1840 เรือจักรไอน้ำลำแรกของบริษัทชื่อบริแทนเนีย (Britannia) ได้ออกเดินทางจากลิเวอร์พูลไปยังแฮลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย และต่อไปยังบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ โดยมีคูนาร์ดและผู้โดยสารอีก 63 คนอยู่บนเรือ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของบริการผู้โดยสารและขนส่งสินค้าประจำ บริษัทของคูนาร์ดสร้างชื่อเสียงในด้านความรวดเร็วและความปลอดภัยมายาวนานโดยไม่มีใครตำหนิได้ และทำให้เรือเดินทะเลประสบความสำเร็จ ท่ามกลางคู่แข่งหลายรายที่สูญเสียเรือและทรัพย์สินมากมาย เรือของคูนาร์ดประสบความสำเร็จ แต่ต้นทุนที่สูงทำให้คูนาร์ดมีหนี้สินจำนวนมากใน ค.ศ. 1842 และเขาต้องหนีจากเจ้าหนี้ในแฮลิแฟกซ์ไปยังอังกฤษ[9] อย่างไรก็ตาม ภายใน ค.ศ. 1843 เรือของคูนาร์ดมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้และเริ่มจ่ายเงินปันผลเล็กน้อยแต่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คูนาร์ดแบ่งเวลาของเขาระหว่างโนวาสโกเชียและอังกฤษ แต่ปล่อยให้การดำเนินงานในโนวาสโกเชียอยู่ในมือของเอ็ดเวิร์ดและวิลเลียม ลูกชายของเขามากขึ้น เนื่องจากธุรกิจดึงดูดให้เขาต้องใช้เวลาในลอนดอน[10]
ใน ค.ศ. 1850 คูนาร์ดออกเดินทางพิเศษไปยังโนวาสโกเชียและนิวบรันสวิก โดยในขณะนั้นโจเซฟ คูนาร์ด นักธุรกิจไม้และการขนส่ง พี่ชายของเขาในนิวบรันสวิกล้มละลาย เป็นผลให้มีคนต้องออกจากงานถึง 1,000 คน คูนาร์ดกู้เงินและค้ำประกันหนี้ทั้งหมดของพี่ชายของเขาในโนวาสโกเชีย นิวบรันสวิก และบอสตันด้วยตนเอง โจเซฟย้ายไปอยู่ที่ลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ซึ่งซามูเอลช่วยให้เขาฟื้นฟูกิจการเดินเรือของเขาขึ้นมาใหม่
มุมมองส่วนตัว
[แก้]ตลอดชีวิตส่วนตัว คูนาร์ดไม่ใช่คนเคร่งศาสนา และหลายคนมองว่าเขาเป็นผู้ไม่นับถือศาสนา บนเตียงมรณะ คูนาร์ดปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพิธีกรรมสุดท้ายและประกาศว่าเขา "ไม่รู้สึก ไม่ยอมรับ และไม่เชื่อ"[11] ความเห็นของเขาเกี่ยวกับการเป็นทาสในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คำกล่าวของเขาเกี่ยวกับการเดินทางแยกเชื้อชาติของเฟรเดอริค ดักลาส ซึ่งจัดเตรียมไว้โดยตัวแทนของบริษัทคูนาร์ดในลิเวอร์พูลบนเรือเดินสมุทรของเขาใน ค.ศ. 1845 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขาต่อต้านการแบ่งแยกเชื้อชาติทุกรูปแบบ "ไม่มีใครเสียใจไปมากกว่าฉันอีกแล้วกับสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนาที่เกิดขึ้นกับคุณดักลาสระหว่างการเดินทางจากลิเวอร์พูล แต่ฉันรับรองกับคุณได้ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกบนเรือจักรไอน้ำที่ฉันเกี่ยวข้องด้วย[12] ทัศนคติของเขาเกี่ยวกับเชื้อชาติสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของชาวอังกฤษในสมัยนั้น ซึ่งมองว่าการปฏิบัติต่อคนผิวดำอย่างไม่ดีเป็นเรื่องผิดทางศีลธรรม แม้พวกเขาจะยังคิดว่าคนผิวดำด้อยกว่าคนผิวขาวทั้งทางสังคมและทางสติปัญญาก็ตาม[ต้องการอ้างอิง]
ชีวิตช่วงหลัง
[แก้]คูนาร์ดเป็นเจ้าของบริษัทหลายแห่งในแคนาดา หลังจากที่เขาเสียชีวิตและการเปลี่ยนแปลงในสัญญาส่งไปรษณีย์ของอังกฤษ หุ้นส่วนของเขาในอังกฤษได้ยกเลิกการให้บริการในแคนาดาของเขา และเป็นเวลา 50 ปีก่อนที่เรือของเขากลับจะมาที่แคนาดาอีกครั้ง[13] บริษัทถ่านหินของเขาในโนวาสโกเชีย ซึ่งเขาซื้อมาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับเรือเดินทะเล ยังคงเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของครอบครัวในโนวาสโกเชียและดำเนินการต่อจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในชื่อคูนาร์ดฟิวเอิลส์ (Cunard Fuels) ซึ่งต่อมาถูกครอบครัวเออร์วิงแห่งนิวบรันสวิกซื้อกิจการไป
ใน ค.ศ. 1859 คูนาร์ดได้รับการแต่งตั้งเป็นบารอเนตโดยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย[14]
เซอร์ ซามูเอล คูนาร์ด เสียชีวิตที่เคนซิงตัน ในลอนดอน เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1865 และถูกฝังอยู่ที่สุสานบรอมป์ตัน ในลอนดอน[13] ชิดกำแพงด้านตะวันออก
มรดก
[แก้]ในพิพิธภัณฑ์การเดินเรือแห่งแอตแลนติกในแฮลิแฟกซ์ ส่วนสำคัญของชั้นสองจะอุทิศให้กับชีวิตของเขา สายการเดินเรือคูนาร์ด และเรือที่มีชื่อเสียงของบริษัท[15] รูปปั้นสำริดขนาดใหญ่ของซามูเอล คูนาร์ดถูกสร้างขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2006 ที่บริเวณริมน้ำแฮลิแฟกซ์ ข้างท่าเรือโอเชียนเทอร์มินัลซึ่งเรือเดินทะเลของคูนาร์ดใช้งานมานาน[16] แสตมป์ที่มีรูปเหมือนของคูนาร์ดได้รับการออกโดยแคนาดาโพสต์ใน ค.ศ. 2004[3]
แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากบริษัทคู่แข่งและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่บริษัทที่เจริญรุ่งเรืองนี้ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดก็ดูดซับบริษัทอื่นๆ จำนวนมาก เช่น บจ.เรือจักรไอน้ำแคนาดาเหนือ (Canadian Northern Steamships Limited) และคู่แข่งหลักอย่างไวต์สตาร์ไลน์ เจ้าของเรือโอลิมปิกที่ประสบความสำเร็จ และอดีตเจ้าของเรือไททานิกที่ประสบความล้มเหลวใน ค.ศ. 1934 หลังจากนั้น คูนาร์ดได้ครองตลาดการค้าผู้โดยสารในแอตแลนติกด้วยเรือเดินทะเลที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกบางลำ เช่น อาร์เอ็มเอส ควีนแมรี (RMS Queen Mary)[17] และอาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ (RMS Queen Elizabeth)[18] ชื่อของเขายังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันในสายการเดินเรือคูนาร์ด ซึ่งปัจจุบันเป็นสาขาอันทรงเกียรติของอาณาจักรเรือสำราญคาร์นิวัลไลน์ (Carnival Line)[19]
ครอบครัว
[แก้]ซามูเอล คูนาร์ดแต่งงานกับซูซาน ลูกสาวของวิลเลียม ดัฟฟัส พ่อค้าสินค้าแห้ง[20] เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1815 โดยมีบุตรด้วยกัน 9 คน[21] เป็นลูกชาย 2 คน (เอ็ดเวิร์ด ค.ศ. 1816–1869 และวิลเลียม ค.ศ. 1825–1906) และลูกสาว 7 คน (แมรี ค.ศ. 1817–1885, ซูซาน ค.ศ. 1819–, มาร์กาเรต แอนน์ ค.ศ. 1820–1901, ซาราห์ เจน ค.ศ. 1821–1902, แอนน์ เอลิซาเบธ ค.ศ. 1823–1862, อิซาเบลลา ค.ศ. 1827–1894 และเอลิซาเบธ ค.ศ. 1828–1889)[22] วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1828 ซูซานเสียชีวิตเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนหลังการคลอดเอลิซาเบธ คูนาร์ดไม่เคยแต่งงานอีก และบอกกับลูกชายบนเตียงมรณะว่าเขา "ฝันถึงแม่ที่รักของแก...และว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ดีจริง ๆ"[23]
เซอร์ ซามูเอล คูนาร์ด ถูกสืบทอดทั้งธุรกิจและตำแหน่งบารอเนตโดยเซอร์ เอ็ดเวิร์ด คูนาร์ด บารอนเนตที่ 2 ผู้ซึ่งบุตรชายคนโตของเขาได้แต่งงานกับแมรี บาช แม็กอีเวอส์ (ลูกสาวของบาช แม็กอีเวอร์ส) และตำแหน่งบารอเนตก็ถูกส่งต่อมายังเธอ บาช เอ็ดเวิร์ด คูนาร์ด บารอนเนตที่ 3 บุตรชายของพวกเขา แต่งงานกับแม่บ้านสังคมชื่อเอเมอรัลด์ เลดี คูนาร์ด (ค.ศ. 1872–1948) พวกเขามีลูกสาวหนึ่งคนชื่อแนนซี คูนาร์ด (ค.ศ. 1896–1965) นักเขียน ทายาท และนักรณรงค์ทางการเมือง
วิลเลียม คูนาร์ด บุตรชายคนที่สองของเซอร์ ซามูเอล คูนาร์ด แต่งงานกับลอรา ชาร์ลอตต์ ฮาลิเบอร์ตัน ลูกสาวของทอมัส แชนด์เลอร์ ฮาลิเบอร์ตัน นักเขียนและนักการเมือง ทั้งคู่มีลูกชายสามคนและลูกสาวหนึ่งคน[24] วิลเลียมสร้างโรงเรียนคนหูหนวกแฮลิแฟกซ์ มาร์กาเรต ลูกสาวของซามูเอล คูนาร์ด แต่งงานกับวิลเลียม ลีห์ เมลลิช (ค.ศ. 1813–1864) ทหาร เจ้าของที่ดิน และนักคริกเก็ต
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "United Kingdom – ERIH". www.erih.net. สืบค้นเมื่อ 2022-11-04.
- ↑ "Sir Samuel Cunard". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 October 2016. สืบค้นเมื่อ 20 December 2010.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 Langley 2006
- ↑ Lownds 1987.
- ↑ Smy 1997.
- ↑ Boileau p. 94
- ↑ Boileau, p. 40
- ↑ Boileau, pp. 49–50
- ↑ Fox, p.104
- ↑ Boileau, pp. 75–76
- ↑ Fox, p. 55
- ↑ Fox, p. 200
- ↑ 13.0 13.1 Boileau, p. 96
- ↑ "No. 22235". The London Gazette. 1 March 1859. p. 953.
- ↑ "Mauretania/Lusitania Model Refit Completed", Cunard Steamship Society, Dec. 17, 2011
- ↑ Richard H. Wagner, "Sir Samuel and the New Queen Victoria", Beyond Ships, originally published in The Porthole, The World Ship Society, January 2007)
- ↑ "Queen Mary". สืบค้นเมื่อ 2010-05-17.
- ↑ "Queen Elizabeth (1939)". สืบค้นเมื่อ 2010-05-17.
- ↑ "WLCL Homepage". สืบค้นเมื่อ 25 December 2008.
- ↑ Fox, p. 44
- ↑ "Mellish, Lt.–Col. Henry". Who's Who: 1093. 1919.
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อDCB
- ↑ Fox, p. 49
- ↑ Morgan, Henry James, บ.ก. (1903). Types of Canadian Women and of Women who are or have been Connected with Canada. Toronto: Williams Briggs. p. 68.