ซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหิน
ไม้กลายเป็นหิน (อังกฤษ: petrified wood) คือซากดึกดำบรรพ์ของพืชประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นจากท่อนไม้ถูกฝังกลบอยู่ใต้ผิวดินในสภาพที่ขาดออกซิเจนทำให้เนื้อไม้ไม่เน่าเปื่อย และถูกฝังแช่อยู่ในสารละลายซิลิก้าที่มีความเข้มข้นสูงเพียงพอ ในสภาพแวดล้อมที่ท่อนไม้และสารละลายซิลิกาได้สัมผัสกับออกซิเจนเป็นบางช่วงเวลาทำให้สารละลายซิลิกาตกตะกอนในรูปของซิลิกาเจล สะสมตัวแทนที่โมเลกุลของเนื้อไม้ (replacement) จนทำให้ท่อนไม้ที่เป็นเนื้อสารอินทรีย์เปลี่ยนไปเป็นเนื้อหินซิลิกาแต่ยังคงรักษาโครงสร้างเนื้อไม้ดั้งเดิมเอาไว้
ด้วยระยะเวลานับเป็นหมื่นเป็นแสนปีหรือมากกว่านี้ ไม้กลายเป็นหินจะค่อย ๆ สูญเสียน้ำทีละน้อยและค่อย ๆ พัฒนาเป็นโอปอลที่มีสีสันสวยงามได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมลทินซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ปะปนอยู่ในเนื้อของซิลิกาออกไซด์ ซึ่งแร่ธาตุต่าง ๆ ให้สีสันต่าง ๆ กันไป เช่น
- คาร์บอน ให้ สีดำ
- โคบอลต์ ให้ สีเขียว/น้ำเงิน
- โครเมียม ให้ สีเขียว/น้ำเงิน
- ทองแดง ให้ สีเขียว/น้ำเงิน
- เหล็กออกไซด์ ให้ สีแดง/น้ำตาล/เหลือง
- แมงกานีส ให้ สีชมพู/ส้ม
- แมงกานีสออกไซด์ ให้ สีดำ/เหลือง
แหล่งไม้กลายเป็นหินในประเทศไทย
[แก้]มีรายงานการค้นพบไม้กลายเป็นหินในประเทศไทยหลายแห่ง ทั้งที่มีอายุเก่าแก่ถึงยุคไทรแอสซิกที่อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้รับการศึกษาวิจัยโดยนักบรรพชีวินวิทยาพืชชาวญี่ปุ่นว่า เป็นไม้สนสกุล อะรอคาริออกไซลอน (Araucarioxylon sp.) และยังมีรายงานการค้นพบกระจัดกระจายในชั้นหินมหายุคมีโซโซอิกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านโกรกเดือนห้า อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ที่เป็นที่มาของการก่อสร้างและพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน และพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
แหล่งไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 30 ตารางกิโลเมตรถูกค้นพบในเขตวนอุทยานไม้กลายเป็นหิน (Bantak Petrified Forest Park) อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก จากการสำรวจขุดค้นพบว่าท่อนไม้กลายเป็นหินฝังตัวอยู่ใต้ชั้นกรวดยุคควอเทอร์นารีซึ่งเป็นกรวดแม่น้ำโดยพิจารณาจากความเรียบและกลมมนของเม็ดกรวด จากการสำรวจภาคพื้นดินพบท่อนไม้โผล่ให้เห็นหลายสิบท่อน และได้มีการขุดขึ้นมาเพื่อจัดแสดงและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้วจำนวน 8 ท่อนจากจำนวน 7 หลุมขุดค้น จากการวิจัยพบว่าเป็นไม้ทองบึ้ง (Koompassioxylon elegans) จำนวน 6 ท่อน และไม้มะค่าโมง (Pahudioxylon sp.) จำนวน 2 ท่อน (วิฆเนศ ทรงธรรม 2553) ถือว่าเป็นแหล่งไม้กลายเป็นหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
อ้างอิง
[แก้]- วิฆเนศ ทรงธรรม (2553) ธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาแหล่งไม้กลายเป็นหิน อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก. กรมทรัพยากรธรณี สำนักคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ 68 หน้า
- Asama, K. (1973) Some younger Mesozoic plants from the Lom Sak Formation, Thailand. In T. Kobayashi and R. Toriyama (eds.), Geology and Palaeontology of Southeast Asia, pp. 39-46, Tokyo University Press, Japan.