ข้ามไปเนื้อหา

ซังกุง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซังกุง
ฮันกึล
상궁
ฮันจา
อาร์อาร์sanggung
เอ็มอาร์sanggung

ซังกุง (เกาหลี상궁; ฮันจา尙宮; อาร์อาร์sanggung; เอ็มอาร์sangkung) เป็นตำแหน่งขั้น 5 ชั้นเอก ในแนมย็องบู (ฝ่ายใน) เป็นตำแหน่งสูงสุดเท่าที่นางรับใช้ในวังจะมีได้ หากจะขึ้นสูงกว่านี้ จะต้องถวายตัวเป็นพระสนม สัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของซังกุงคือ ชุดสีเขียว และผมปลอมขนาดใหญ่[1]

การปกครองของฝ่ายใน

[แก้]

การปกครองสตรีในราชสำนักของราชวงศ์โชซอนเกิดขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1397 ในสมัยพระเจ้าแทโจ โดยแบ่งนางในเป็นฮย็อนอึยสองตำแหน่ง ซึกอึยสองตำแหน่ง จันดอกสามตำแหน่ง ซุนซองสามตำแหน่ง ซังกุงสามตำแหน่ง คารยองสี่ตำแหน่ง ซากุปสี่ตำแหน่ง และซาชิกสี่ตำแหน่ง ประกอบด้วยนางในหลายชั้น ตั้งแต่จอง 1 พุม จนถึงจอง 9 พุม

ในสมัยพระเจ้าเซจงมหาราช เริ่มมีการแต่งตั้งนางในเฉพาะหน้าที่ต่าง ๆ และในสมัยพระเจ้าซองจง ได้บัญญัติตำแหน่งต่าง ๆ ของนางในลงไปในเคียงกุงแดจอน (กฎหมายราชวงศ์โชซอน) มีซังกุงอยู่ที่ตำแหน่งจอง 5 พุม แต่นั้นเป็นต้นมา

นางกำนัลในราชสำนัก

[แก้]

นางกำนัลในราชสำนักนั้นถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง และยังเป็นกลไกหลักในการรับผิดชอบห้องเครื่อง (ซูรากัน หรือ โซจูบัง) และเครื่องเสวยสำหรับกษัตริย์ (ซูราซัง) และเชื้อพระวงศ์ เครื่องเสวยที่มีคุณประโยชน์ต่อพระวรกายคือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นสิ่งแรกดังนั้นนางกำนัลทั้งหลายที่มีหน้าที่ในการปรุงอาหารจะต้องพิถีพิถัน และมีความชำนาญในการประกอบอาหารเป็นอย่างดี

รวมทั้งยังมีนางในห้องเย็บปัก (จาซูดัง) ที่ต้องผ่านการฝึกฝนในการเย็บเสื้อผ้าและปักลวดลายบนอาภรณ์ของพระราชวงศ์และผ้าม่านต่าง ๆ ในวัง

ตำแหน่งของนางกำนัล

[แก้]

นางกำนัลที่เข้าสู่วังหลวงในช่วงแรก อายุ 4 ถึง 6 ปี เรียกว่านางกำนัลฝึกหัดจะต้องผ่านการฝึกอบรมทักษะ และกฎระเบียบต่าง ๆ ของราชสำนักอย่างเคร่งครัด เมื่ออายุครบ 15 ปี ก็จะได้เลื่อนขั้นเป็นนางกำนัลฝ่ายใน ส่วนการเลื่อนขั้นในแต่ละครั้งจะมีการทดสอบและแข่งขันกัน ฉะนั้นนางกำนัลทุกคนต้องสั่งสมบารมี และรวบรวมพวกพ้องให้มีเสียงข้างมากที่สุดเพื่อจะได้มีอำนาจเหนือบรรดานางกำนัลในลำดับชั้นเดียวกันเอง นางกำนัล ยังไม่มียศ จะต้องผ่านการทดสอบ ออชองเคียงยอน เพื่อจะเป็นนางใน จอง 9 พุม ถ้าไม่ผ่านก็จะถูกขับออกจากวัง

ลำดับชั้นของนางกำนัล

[แก้]

นางกำนัลของเกาหลีมีแบ่งหลายระดับ ระดับสูงสุดคือ "ซังกุงปกครอง" มีหน้าที่ดูแลตรวจตราทุกอย่าง ในวังหลวง ถัดมาก็คือ "รองซังกุงปกครอง" "ซังกุงรับบัญชา" "ซังกุงพี่เลี้ยง" "ซังกุงสาวใช้" และ ทุกแผนกก็จะมีหัวหน้าซังกุงอีกคนคอยกำกับดูแล เรียกว่าซังกุงสูงสุด ในวังของเกาหลีมีนางกำนัลประมาณ 600 คน

การจะเป็นซังกุงได้นั้น นอกจากมีประสบการณ์และผลงานโดดเด่นแล้ว ยังต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี เพราะพวกเธอมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่พระราชา ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องออกจากวัง ให้คนอื่นมาเป็นแทน ผู้ที่เป็นซังกุงในระดับสูง แม้ป่วยก็บอกใครไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องให้คนสนิท หรือญาติพี่น้องมาทำงานแทน เพื่อรักษาอำนาจของตนให้คงอยู่

การแต่งกายของนางกำนัล

[แก้]

นางกำนัลปกติจะใส่สีเขียว และเมื่อทำงานตามที่ต่าง ๆ เช่น ห้องเครื่อง จะใส่สีม่วงทับ (สีม่วงแบบเกาหลีคือสีม่วงอมแดง) และนางกำนัลยังมีชุดทางการในวัง เรียกว่า ฮวาลยอ (ชุดที่เอามือซุกเข้าไปได้ เพราะสตรีในวังจะต้องปกปิดมือและเท้า) ของนางกำนัลเป็นสีคราม

ส่วนของซังกุงนั้น ฮวาลยอสีเขียว ถ้าเป็นซังกุงตำแหน่งสูง ฮวาลยอสีจะเขียวเข้ม ซังกุงยังมีชุดพิธีการที่สูงขึ้นไปอีก เรียกว่า วอนซัม เป็นชุดผ่าจนถึงรักแร้ และมีชายแขนเสื้อที่ยาวจรดพื้น ดังรูปฮันซังกุงด้านบน

ส่วนนางกำนัลที่ได้รับเลื่อนขั้นให้เป็นซังกุงแล้วต้องสวมที่ครอบผมซึ่งทำจากผมปลอม (คาเช) ถ้าที่ครอบผมมีขนาดใหญ่อลังการ และสวยงามเท่าใด ก็จะแสดงได้ถึงยศลำดับชั้นสูง นอกจากนี้ซังกุงชั้นสูงจำเป็นต้องประดับคังโดซึ่งเป็นผ้าสีสด เพื่อบ่งบอกลำดับขั้นของตัวเองไว้ที่ครอบผมด้วย แต่การใส่ผมปลอมอลังการได้ยกเลิกไปในการปฏิรูปของพระเจ้ายองโจ เปลี่ยนไปม้วนผมไว้ด้านหลังและเสียบปิ่นปักผมแทน และปิ่นแต่ละคนก็บ่งบอกถึงฐานะ คาเชจึงใส่เฉพาะในพิธีสำคัญเท่านั้น

นางกำนัลชั้นสูงนั้นแม้จะมีห้องพักรับรอง และมีบริวารคอยรับใช้อย่างสุขสบายก็จริง แต่ยามใดที่เจ็บไข้ถึงขั้นรุนแรงนางกำนัลเหล่านั้นก็จะถูกส่งตัวออกจากวังหลวงโดยทันที เพราะนอกจากกษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ในราชสำนักแล้ว ผู้อื่นไม่สามารถตายในวังได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมาช้านาน กฎเหล็กดังกล่าวจึงสร้างความเศร้าโศก และสะเทือนจิตใจในช่วงบั้นปลายชีวิตของบรรดานางกำนัลเป็นที่สุด ในการปกครองนั้น จะมีซังกุงปกครองเป็นผู้ปกครองนางกำนัลในทั้งหมด แม้กระทั่งซังกุงสูงสุดของฝ่ายงานต่าง ๆ ก็ต้องขึ้นตรงต่อซังกุงปกครอง

ตำแหน่งสูงสุดของซังกุง

[แก้]

เนื่องจากซังกุงคือผู้ถวายการรับใช้แก่พระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระสนม พระโอรส พระธิดา รวมถึงเชื้อพระวงศ์องค์อื่น ๆ ดังนั้นตำแหน่งของซังกุงจึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่

  1. ซังกุงทั่วไป คือนางกำนัลที่มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในพระราชวัง รวมไปถึงการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเชื้อพระวงศ์ โดยมีตำแหน่งซังกุงปกครองทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยทั้งหมด มีอำนาจสามารถปลดนางกำนัลคนใดก็ได้ และคอยสนองพระราชโองการของพระมหากษัตริย์
  2. ซังกุงที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระสนม ถือได้ว่าบุคคลเหล่านี้จัดเป็นสนมทั้งหมด สนมของเกาหลีแบ่งออกเป็น 8 ชั้นคือ
  • 1. พระสนมขั้นหนึ่ง ชั้นพระสนมบิน (빈,嬪) ชอง 1 พุม (เป็นการเรียงลำดับของระบบข้าราชการของโชซอน เท่ากับ ระดับ 1) มีพระนามแตกต่างกันออกไป เช่น ฮีบิน คยองบิน ซุกบิน ชางบิน มยองบิน อันบิน เป็นต้น เช่นพระสนมคยองบิน ตระกูลปาร์ค ในพระเจ้าจุงจง
  • 2. พระสนมขั้นสอง ชั้นพระสนมควีอิน (귀인, 貴人 ) ชง 1 พุม เช่น พระสนมขั้นสองควีอิน ตระกูลปาร์ค ในพระเจ้าเซจงมหาราช
  • 3. พระสนมขั้นสาม ชั้นพระสนมโซอึย (소의, 昭儀 ) ชอง 2 พุม เช่น พระสนมขั้นสามโซอึย ตระกูลยู ในพระเจ้าซุกจง
  • 4. พระสนมขั้นสี่ ชั้นพระสนมซุกอึย (숙의,淑儀) ชง 2 พุม เช่น พระสนมขั้นสี่ซุกอึย ตระกูลคิม ในพระเจ้าทันจง
  • 5. พระสนมขั้นห้า ชั้นพระสนมโซยง (소용,昭容) ชอง 3 พุม เช่น พระสนมขั้นห้าโซยง ตระกูลฮง ในพระเจ้าเซจงมหาราช
  • 6. พระสนมขั้นหก ชั้นพระสนมซุกยง (숙용,淑容) ชง 3 พุม เช่น พระสนมขั้นหกซุกยง ตระกูลควอน ในพระเจ้าซองจง
  • 7. พระสนมขั้นเจ็ด ชั้นพระสนมโซวอน (소원,昭媛) ชอง 4 พุม เช่น พระสนมขั้นเจ็ดโซวอน ตระกูลซิน ในองค์ชายควางแฮ
  • 8. พระสนมขั้นแปด ชั้นพระสนมซุกวอน (숙원,淑媛) ชง 4 พุม เช่น พระสนมขั้นแปดซุกวอน ตระกูลลี ในพระเจ้าเซจงมหาราช

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hyegyŏnggung Hong Ssi (1996). The Memoirs of Lady Hyegyŏng: The Autobiographical Writings of a Crown Princess of Eighteenth-century Korea. แปลโดย JaHyun Kim Haboush. University of California Press. p. 62. ISBN 0-520-20055-1.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

SEON IN - JOO (20-04-2016).เจาะลึก “นางวัง” แห่งราชวงศ์โชซอน ( ตอนที่ 2  ตอนจบ). http://asiancastle.net/?p=3288%0ACopyright+©2016+WWW.ASIANCASTLE.NET เก็บถาวร 2018-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน