ข้ามไปเนื้อหา

จังหวัดชิงะ

พิกัด: 35°7′N 136°4′E / 35.117°N 136.067°E / 35.117; 136.067
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ชิงะ)
จังหวัดชิงะ

滋賀県
การถอดเสียงญี่ปุ่น
 • ญี่ปุ่น滋賀県
 • โรมาจิShiga-ken
ธงของจังหวัดชิงะ
ธง
โลโกอย่างเป็นทางการของจังหวัดชิงะ
ตรา
ที่ตั้งของจังหวัดชิงะ
พิกัด: 35°7′N 136°4′E / 35.117°N 136.067°E / 35.117; 136.067
ประเทศญี่ปุ่น
ภูมิภาคคันไซ
เกาะฮนชู
เมืองหลวงโอตสึ
เขตการปกครองอำเภอ: 3, เทศบาล: 19
การปกครอง
 • ผู้ว่าราชการไทโซ มิกาซูกิ
พื้นที่
 • ทั้งหมด4,017.38 ตร.กม. (1,551.12 ตร.ไมล์)
อันดับพื้นที่อันดับที่ 38
ประชากร
 (1 ตุลาคม 2015)
 • ทั้งหมด1,412,916 คน
 • อันดับอันดับที่ 28
 • ความหนาแน่น350 คน/ตร.กม. (910 คน/ตร.ไมล์)
รหัส ISO 3166JP-25
เว็บไซต์http://www.pref.shiga.lg.jp
สัญลักษณ์
สัตว์ปีกนกเป็ดผีเล็ก (Tachybaptus ruficollis)
ดอกไม้กุหลาบพันปี (Rhododendron metternichii var. hondoense)
ต้นไม้เมเปิลญี่ปุ่น (Acer palmatum)

จังหวัดชิงะ (ญี่ปุ่น: 滋賀県โรมาจิShiga-ken) เป็นจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่บริเวณภาคคันไซ มีเมืองหลวงอยู่ที่นครโอตสึ มีขนาดพื้นที่ทั้งสิ้น 4,017.36 ตารางกิโลเมตร

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ในสมัยก่อน ชิงะ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ มณฑลโอมิ (ญี่ปุ่น: 近江国โรมาจิŌmi no kuni) หรือโกชู (ญี่ปุ่น: 江州โรมาจิGōshū) ก่อนที่จะมีการใช้ระบบการบริหารราชการแบบแบ่งจังหวัดขึ้น มณฑลโอมิเป็นเพื่อนบ้านกับนาระ และเกียวโต เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างญี่ปุ่นตะวันตกและตะวันออก ในช่วง ค.ศ. 667 ถึง ค.ศ. 672 นั้น จักรพรรดิเท็นจิทรงสร้างพระราชวังที่โอตสึ จากนั้น ในปี ค.ศ.742 จักรพรรดิโชมุทรงสร้างพระราชวังที่ชิงารากิ ในช่วงต้นของยุคเฮอัง พระภิกษุไชโชเติบโตขึ้นที่โอตสึและได้สร้างวัดเอ็นเรียกุซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายมหายานแบบเท็นได และได้ปัจจุบันได้เป็นหนึ่งในมรดกโลกพร้อมกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์อีกหลายแห่งในเกียวโต

ในยุคกลางนั้น มณฑลโอมิถูกปกครองจากตระกูลซาซากิ ตามด้วยตระกูลรกกากุ ตระกูลเคียวโงกุ และตระกูลอาซาอิ จากนั้นในทศวรรษ 1570 โอดะ โนบูนางะได้เข้ายึดโอมิและสร้างปราสาทอาซูจิขึ้นที่ริมทะเลสาบบิวะฝั่งตะวันออกเมื่อปี ค.ศ. 1579 หลังจากนั้นมณฑลโอมิก็มีไดเมียวปกครองหลายคน และในสมัยนั้น ยังมีนินจาอยู่ที่แถบนี้มากด้วย

ในปี ค.ศ. 1600 อิชิดะ มิตสึนาริ กำเนิดขึ้นที่ทางตะวันออกของนางาฮามะและได้สร้างปราสาทซาวายามะ เพื่อใช้ในการสงครามต้านทัพของโทกูงาวะ อิเอยาซุในจังหวัดกิฟุ หลังจากศึกในครั้งนั้น อิเอยาซุได้ให้อิอิ นาโอมาซะ เป็นผู้ครองปราสาทซาวายามะคนใหม่ นาโอมาซะปกครองแคว้นฮิโกเนะ ซึ่งมีชื่อเสียงในยุคของอิอิ นาโอซูเกะ เมื่ออิอิ นาโอซูเกะได้เข้าไปรับใช้รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ก็ได้เป็นผู้ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศตะวันตกและยุติการปิดประเทศญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

เมื่อมีการยกเลิกระบบศักดินาในญี่ปุ่น มณฑลโอมิก็ถูกแบ่งเป็น 8 จังหวัด หลังจากนั้นก็ถูกรวมเข้าเป็นจังหวัดเดียวเป็นจังหวัดชิงะเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1872

สภาพภูมิศาสตร์

[แก้]
ภาพถ่ายดาวเทียมของจังหวัดชิงะ

จังหวัดชิงะมีอาณาเขตติดกับจังหวัดฟูกูอิทางทิศเหนือ จังหวัดกิฟุทางทิศตะวันออก จังหวัดมิเอะทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และจังหวัดเกียวโตทางทิศตะวันตก มีทะเลสาบบิวะตั้งอยู่ตอนกลางของจังหวัด มีภูเขาฮิระและยอดเขาฮิเอทางทิศตะวันตก ภูเขาอิบูกิทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภูเขาซูซูกะทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทางทิศเหนือมีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นกว่าทางใต้ที่มีอากาศอบอุ่น

ทะเลสาบบิวะ เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น แบ่งออกเป็น 4 พื้นที่หลัก ๆ คือ โคโฮกุ (ญี่ปุ่น: 湖北โรมาจิKohokuทับศัพท์: ทะเลสาบตอนเหนือ) โคเซ (ญี่ปุ่น: 湖西โรมาจิKoseiทับศัพท์: ทะเลสาบตะวันตก) โคโต (ญี่ปุ่น: 湖東โรมาจิKotōทับศัพท์: ทะเลสาบตะวันออก) และโคนัง (ญี่ปุ่น: 湖南โรมาจิKonanทับศัพท์: ทะเลสาบตอนใต้)

ในการสำรวจเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2008 พื้นที่ร้อยละ 37 ถูกกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ (อัตราส่วนที่สูงที่สุดของทุกจังหวัดในญี่ปุ่น)

การปกครอง

[แก้]

จังหวัดชิงะประกอบด้วย 13 นคร 3 อำเภอ และ 6 เมือง ได้แก่

นคร

[แก้]
แผนที่จังหวัดชิงะ

อำเภอและเมือง

[แก้]

เศรษฐกิจ

[แก้]

จังหวัดชิงะมีพื้นที่ 1 ใน 6 เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีการปลูกข้าวกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่การเกษตรและเป็นสินค้าหลัก นาข้าวมีขนาดค่อนข้างเล็กและสร้างรายได้ค่อนข้างน้อย ชาวนาส่วนใหญ่มักจะอาศัยรายได้จากแหล่งอื่น ทางตะวันออกของจังหวัดชิงะมีชื่อเสียงในเรื่องของปราสาทต่าง ๆ และทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดเป็นแหล่งปลูกชาเขียวที่มีชื่อเสียง ส่วนทะเลสาบบิวะนั้นก็เป็นแหล่งประมงที่สำคัญของจังหวัด

ในยุคกลาง โดยเฉพาะยุคเอโดะนั้น ประชาชนชาวจังหวัดชิงะมีอาชีพค้าขายเป็นหลัก และพ่อค้าโอมิ (ญี่ปุ่น: 近江商人โรมาจิŌmi shōnin) ก็มีชื่อเสียงอย่างมาก บริษัทใหญ่หลายๆบริษัทอย่าง นิปปงไลฟ์ อิโตจุ มารูเบนิ ทากาชิมายะ วาโก้ และยันมาร์ก็ถูกก่อตั้งขึ้นโดยชาวชิงะ

เมื่อเข้าสู่ช่วงทศวรรษที่ 1960 จังหวัดชิงะเริ่มพัฒนาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม มีโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่มากมาย เช่น ไอบีเอ็มเจแปน แคนนอน ยันมาร์ดีเซล มิตซูบิชิ และโทเรย์ จนเติบโตขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้เป็นอันดับสองของชิงะที่ตัวเลข 44.8 เปอร์เซ็นต์[1] ส่วนอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างสิ่งทอ เครื่องปั้น ยา และพัดก็ยังมีการผลิตจากจังหวัดนี้อยู่เช่นกัน

ประชากร

[แก้]

ประชากรของจังหวัดชิงะอาศัยอยู่กันหนาแน่นที่ริมฝั่งทะเลสาบบิวะทางตอนใต้ โดยมีนครโอตสึเป็นเมืองหลวง ส่วนเมืองทางตะวันออกอย่างคูซัตสึและโมริยามะก็ยังอยู่ในระยะที่เดินทางสัญจรไปกลับเกียวโตได้สะดวก ส่วนฝั่งตะวันตกและทิศเหนือของทะเลสาบนั้นเป็นพื้นที่ชนบท มีรีสอร์ทและหาดทรายสีขาวอยู่มากมาย

ในช่วงปีหลัง ๆ นี้ ชาวบราซิลได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำงานในโรงงานหลายแห่งในจังหวัดชิงะ นับเป็นประชากรที่มีอัตราส่วนสูงที่สุดในกลุ่มชาวต่างประเทศ คือ ร้อยละ 36 จากการสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2010[2]

วัฒนธรรม

[แก้]

ทางตอนเหนือของนครนางาฮามะ เป็นสถานที่ตั้งของโรงละครหุ่นบุนรากุที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นเช่นเดียวกับที่โอซากะ แต่เดิมโรงละครแห่งนี้อยู่ในเขตเมืองบิวะ แต่ต่อมาได้ผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนครนางาฮามะในปี ค.ศ. 2006

จังหวัดชิงะมีพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะซางาวะ (โมริยามะ) พิพิธภัณฑ์ทะเลสาบบิวะ (คูซัตสึ) และพิพิธภัณฑ์มิโฮะ (โคกะ) นอกจากนี้ในนครโคกะก็ยังมีบ้านนินจาที่ปัจจุบันรักษาเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมอีกด้วย

วัฒนธรรมร่วมสมัย

[แก้]

อาคารเรียนหลังเก่าของโรงเรียนประถมโทโยซาโตะในเมืองโทโยซาโตะซึ่งสร้างในปี ค.ศ. 1937 และออกแบบโดยวิลเลียม เมอร์เรลล์ วอรีส์ สถาปนิกชาวอเมริกัน[3] ถูกใช้เป็นต้นแบบของโรงเรียนมัธยมปลายซากุระงาโอกะในซีรีส์อนิเมะ เค-อง! และได้เปิดให้นักท่องเที่ยวและแฟนการ์ตูนได้เข้าชม[4]

อาหาร

[แก้]

ชาวชิงะรับประทานปลาจากทะเลสาบบิวะมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว อาหารที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชิงะคือซูชิปลาไนหมัก (ญี่ปุ่น: 鮒寿司โรมาจิfuna-zushi) เป็นซูชิแบบดั้งเดิมที่มีกลิ่นฉุน นอกจากนี้ ชิงะยังขึ้นชื่อในเรื่องของเนื้อโอมิ โดยย่านฮิโกเนะเคยมีเนื้อที่ถูกนำไปเป็นอาหารบำรุงสุขภาพของโชกุน

นอกจากนี้ ทางตอนเหนือของชิงะก็ชื่อเสียงในเรื่องสึเกโมโนะ (ผักดอง) จากรากพืช นครนางาฮามะก็ขึ้นชื่อเรื่องของบะหมี่โซเม็งใส่ปลาแมกเคอเรลย่าง และฮิโกเนะก็มีบะหมี่จัมปงที่มีชื่อเสียง

การศึกษา

[แก้]

จังหวัดชิงะ มีมหาวิทยาลัยชั้นนำอยู่หลายแห่งด้วยกัน ดังนี้

  • มหาวิทยาลัยชิงะ (ฮิโกเนะและโอตสึ)
  • มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ชิงะ (โอตสึ)
  • มหาวิทยาลัยจังหวัดชิงะ (ฮิโกเนะ)
  • มหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบเซอัง (โอตสึ)
  • มหาวิทยาลัยเซเซ็ง (ฮิโกเนะ)
  • สถาบันชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพนางาฮามะ (นางาฮามะ)
  • มหาวิทยาลัยบิวาโกกากูอิง (ฮิงาชิโอมิ)
  • วิทยาลัยกีฬาบิวาโกเซเก
  • มหาวิทยาลัยริตสึเมกัง (เกียวโตและคูซัตสึ)
  • มหาวิทยาลัยรีวโกกุ (เกียวโตและโอตสึ)
  • วิทยาลัยชิงะ (โอตสึ)
  • วิทยาลัยชิงาบุงเกียว (นางาฮามะ)

การท่องเที่ยว

[แก้]
ปราสาทฮิโกเนะ

ชิงะมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย แต่ยังถือว่าเป็นรองเพื่อนบ้านอย่างเกียวโตอยู่พอสมควร จังหวัดชิงะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนประมาณ 65,000 คนในปี ค.ศ. 2000 ขณะที่ทั้งประเทศมีนักท่องเที่ยวมาเยือน 4 ล้านคน[5]

สถานีรถไฟหลักของชิงะคือ สถานีไมบาระ ทางตอนเหนือของจังหวัด และสถานีโอตสึ ทางตอนใต้ของจังหวัด นักท่องเที่ยสามารถเดินทางไปยังสถานีโอตสึได้จากเกียวโตและโอซากะได้อย่างสะดวกสบายด้วยรถไฟความเร็วสูง

สถานที่ที่สำคัญที่สุดของจังหวัดชิงะคือทะเลสาบบิวะ โดยทางตอนเหนือเป็นจุดชมวิวของทะเลสาบที่สวยงาม มีจัดชมดอกซะกุระบานที่มีชื่อเสียงในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ส่วนทางตะวันตกของทะเลสาบมีหาดทรายสีขาว นักท่องเที่ยวนิยมมาท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน ส่วนทางตอนใต้หรือเมืองรอบ ๆ โอตสึนั้นเป็นสถานที่สวยงามที่ฮิโรชิเงะ นักวาดภาพโบราณของญี่ปุ่นได้มาวาดภาพอูกิโยะที่มีชื่อเสียง ปัจจุบัน ทิวทัศน์ในภาพวาดได้เปลี่ยนไปแล้วจากความเจริญของเมือง หลงเหลือไว้เพียงแต่วัดมังเงสึ หรือวัดลอยน้ำทางตอนเหนือของโอตสึ

ทะเลสาบบิวะล้อมรอบด้วยภูเขาที่สวยงามมากมาย มีภูเขาฮิระที่เป็นสถานที่ปิกนิกที่ได้รับความนิยม ถนนโอกูบิวาโกะเป็นถนนที่มีชื่อเสียงของทะเลสาบตอนเหนือ ส่วนทางตอนใต้นั้น เต็มไปด้วยโรงแรมและสถานที่พักตากอากาศชมทิวทัศน์ทะเลสาบ ทั้งจากชายฝั่งและด้วยการล่องเรือ

นอกจากชิงะจะมีธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกมากมาย โดยในจังหวัดชิงะมีสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติอยู่มากถึง 807 แห่ง สถานที่ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือปราสาทฮิโกเนะ ปราสาทสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ปัจจุบันหอคอยของปราสาทยังได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ส่วนเมืองใกล้ ๆ อย่างนางาฮามะก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังมีศาลเจ้าฮิโยชิและศาลเจ้าทางะที่มีชื่อเสียงอีกเช่นกัน

ในบางช่วงของปีจะมีเทศกาลที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างเทศกาลแห่เรือฮิกิยามะ ที่จะจัดขึ้น 10 แห่งในเมืองนางาฮามะ โอตสึ ไมบาระ ฮิโนะ และมินากูจิ โดยเทศกาลล่องเรือที่นางาฮามะในเดือนเมษายน จัดเป็นเทศกาลล่องเรือที่ใหญ่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศญี่ปุ่น ส่วนเมืองฮิงาชิโอมิก็ยังจัดเทศกาลว่าวเป็นประจำในเดือนพฤษภาคมของทุกปีริมฝั่งแม่น้ำ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Shiga Prefecture. "滋賀県の紹介(滋賀県なんでも一番)" [Introduction of Shiga prefecture; Best scores of Shiga] (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-13. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.
  2. Shiga Prefecture. "外国人登録者数国籍別人員調査結果 平成22年(2010年)12月31日末現在" [The investigation of the number of foreign registrations by nationality as of December 31, 2010] (PDF) (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-21. สืบค้นเมื่อ 2011-05-13.
  3. Toyosato Elementary School. "豊郷小学校メモリー|旧豊郷小学校の思い出と、そして、これから。" (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-30. สืบค้นเมื่อ 2018-11-04.
  4. Biwako Visitors Bureau Public Interest Incorporated Association. "Toyosato Elementary School Old School Buildings". สืบค้นเมื่อ 2018-11-04.
  5. Shiga Prefecture. "湖国観光交流ビジョン 第2章 滋賀県観光の現状と課題" [The vision for tourism and exchange of the Lake Country. Chapter 2: present situation and problem about the Shiga tourism] (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-21. สืบค้นเมื่อ 2011-05-13.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]