ชิกะ คูโรดะ
ชิกะ คูโรดะ | |
---|---|
黒田チカ | |
คูโรดะใน ค.ศ. 1948 | |
เกิด | 24 มีนาคม ค.ศ. 1884 จังหวัดซางะ |
เสียชีวิต | 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1968 จังหวัดฟูกูโอกะ | (84 ปี)
ศิษย์เก่า | โรงเรียนฝึกหัดครูวิทยาศาสตร์สตรีชั้นสูง มหาวิทยาลัยหลวงโทโฮกุ |
รางวัล | รางวัลมาจิมะ |
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | เคมีอินทรีย์ |
สถาบันที่ทำงาน | โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีชั้นสูงโตเกียว มหาวิทยาลัยหลวงโทโฮกุ มหาวิทยาลัยโอจาโนมิซุ |
มีอิทธิพลต่อ | ริโก มาจิมะ วิลเลียม เฮนรี เพอร์คิน |
ชิกะ คูโรดะ (ญี่ปุ่น: 黒田チカ; โรมาจิ: Kuroda Chika; 24 มีนาคม ค.ศ. 1884 – 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1968) เป็นนักเคมีชาวญี่ปุ่นซึ่งวิจัยเกี่ยวกับสีในธรรมชาติ เธอเป็นสตรีชาวญี่ปุ่นคนแรกที่สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต
ชีวประวัติ
[แก้]คูโรดะเกิดใน ค.ศ. 1884 ที่จังหวัดซางะ เธอสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดครูประจำจังหวัดซางะแผนกหญิง (ปัจจุบันคือคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยซางะ) ใน ค.ศ. 1901 และเข้าทำงานเป็นครูเป็นเวลาหนึ่งปี หลังจากนั้นเธอจึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูวิทยาศาสตร์สตรีชั้นสูงระหว่าง ค.ศ. 1902 และ ค.ศ. 1906 แล้วเข้าสอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูประจำจังหวัดฟูกูอิแผนกหญิงเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนจะกลับเข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดครูประจำจังหวัดซางะใน ค.ศ. 1907 จนจบการศึกษาใน ค.ศ. 1909 เธอเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีโตเกียวในเวลาต่อมา หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1913 เมื่อมหาวิทยาลัยหลวงโทโฮกุเป็นมหาวิทยาลัยหลวงแห่งแรกที่เปิดรับนักศึกษาหญิง เธอได้เข้าศึกษาที่ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับนักศึกษาหญิงรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอที่มหาวิทยาลัยหลวงโทโฮกุคือศาสตราจารย์ริโก มาจิมะ (ญี่ปุ่น: 真島利行; โรมาจิ: Majima Rikō) ซึ่งทำให้คูโรดะสนใจด้านเคมีอินทรีย์ โดยเฉพาะสีย้อมธรรมชาติ งานวิจัยที่เธอทำร่วมกับศาสตราจารย์มาจิมะนั้นเกี่ยวข้องกับสีย้อมจากดอกมูราซากิหรือ Lithospermum erythrorhizon[1] เธอสำเร็จการศึกษาระดับวิทยาศาสตรบัณฑิตใน ค.ศ. 1916 และเป็นสตรีชาวญี่ปุ่นคนแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับนี้[2]
หลังจบการศึกษาใน ค.ศ. 1916 คูโรดะเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยหลวงโทโฮกุก่อนจะย้ายไปเป็นศาสตราจารย์ที่โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีชั้นสูงโตเกียวใน ค.ศ. 1918 ในปีเดียวกันนั้นเองเธอได้เป็นผู้หญิงคนแรกที่นำเสนอผลงานต่อสมาคมเคมีแห่งประเทศญี่ปุ่น โดยเธอนำเสนอผลงานวิจัยสีย้อมจากดอกมูราซากิ[2] จากนั้นใน ค.ศ. 1921 เธอเดินทางไปทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเกี่ยวกับอนุพันธ์ของกรดพทาโลนิก (phthalonic acid) โดยมีวิลเลียม เฮนรี เพอร์คินเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นระยะเวลาสองปีก่อนเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นและดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่สถาบันเดิม ใน ค.ศ. 1924 เธอได้รับมอบหมายจากสถาบันริเก็งให้ทำวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างของคาร์ทามิน ซึ่งเป็นสีธรรมชาติจากดอกคำฝอย ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวทำให้เธอได้รับปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต ใน ค.ศ. 1929[1][3] เธอเป็นสตรีชาวญี่ปุ่นคนที่สองที่สำเร็จปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ต่อจากโคโนะ ยาซูอิ นักชีววิทยาด้านเซลล์[4]
ตลอดช่วงทศวรรษ 1930 และ 1940 งานวิจัยของคูโรดะมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์สีจากดอกผักปลาบเอเชีย (Commelina communis) เปลือกมะเขือม่วง ถั่วเหลืองสีดำ ใบชิโซะแดง และหนามเม่นทะเล รวมไปถึงอนุพันธ์ของแนฟโทควิโนน[1] เธอได้รับรางวัลมาจิมะจากสมาคมเคมีแห่งประเทศญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1936 ต่อมาใน ค.ศ. 1949 เธอได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโอจาโนมิซุในกรุงโตเกียว และในขณะเดียวกันก็เริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับสีในเปลือกหัวหอม การสกัดผลึกเควอร์ซิทิน[note 1] จากเปลือกหัวหอมนำไปสู่การสังเคราะห์ยาเคอรูทิน ซี ซึ่งเป็นยาลดความดัน[1][2] ศาสตราจารย์คูโรดะเกษียณอายุใน ค.ศ. 1952 แต่ยังคงสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโอจาโนมิซุในฐานะศาสตราจารย์เกียรติคุณ เธอได้รับเหรียญเกียรติยศแถบสีม่วงใน ค.ศ. 1959 และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนมงกุฎชั้นที่สามใน ค.ศ. 1965
ศาสตราจารย์คูโรดะเริ่มมีอาการโรคหัวใจตั้งแต่ ค.ศ. 1967 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1968 ที่จังหวัดฟูกูโอกะขณะที่เธอมีอายุได้ 84 ปี[1]
สิ่งสืบเนื่อง
[แก้]มหาวิทยาลัยโทโฮกุได้สถาปนารางวัลชิกะ คูโรดะใน ค.ศ. 1999 เพื่อเป็นเกียรติให้กับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์[3]
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ [เคฺวอ-ซิ-ทิน]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "Chika Kuroda (1884~1968)". Ochanomizu University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 November 2015. สืบค้นเมื่อ 8 November 2015.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Haines, Catharine M. C. (2001). International Women in Science: A Biographical Dictionary to 1950. ABC-CLIO. p. 164. ISBN 978-1-57607-090-1.
- ↑ 3.0 3.1 "About TUMUG >> Archive". Tohoku University Center for Gender Equality Promotion. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-06. สืบค้นเมื่อ 28 June 2020.
- ↑ Kodate, Naonori; Kodate, Kashiko (2015). Japanese Women in Science and Engineering: History and Policy Change. Routledge. p. 24. ISBN 978-1-317-59505-2.