อำเภอชะอำ
อำเภอชะอำ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Cha-am |
คำขวัญ: ทะเลใส หาดทรายขาว เจ้าพ่อเขาใหญ่ศักดิ์สิทธิ์ คนจิตใจงาม | |
แผนที่จังหวัดเพชรบุรี เน้นอำเภอชะอำ | |
พิกัด: 12°47′59″N 99°58′1″E / 12.79972°N 99.96694°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | เพชรบุรี |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 660.65 ตร.กม. (255.08 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 81,541 คน |
• ความหนาแน่น | 123.43 คน/ตร.กม. (319.7 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 76120 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 7604 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอชะอำ ถนนนราธิป ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ชะอำ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด ซึ่งมีหาดทรายขาว ยาว และยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งเป็นรายได้ให้กับด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจการโรงแรม ธุรกิจการค้าของที่ระลึก ร้านอาหาร การประมง เป็นต้น นอกจากนี้ชะอำยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากชาวไทยและชาวต่างประเทศในระดับต้น ๆ ของประเทศไทย
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอชะอำตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้อิอิ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอท่ายาง
- ทิศตะวันออก จรดอ่าวไทย
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอหัวหิน (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอท่ายาง
ประวัติ
[แก้]อำเภอชะอำตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2444 ที่บ้านนายาง หมู่ที่ 3 ตำบลนายาง เดิมใช้ชื่อว่า อำเภอนายาง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2457 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอนายางไปตั้งที่บ้านหนองจอกและเปลี่ยนชื่อเป็นเป็น อำเภอหนองจอก (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอท่ายาง) จนกระทั่งหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา กระทรวงมหาดไทยได้ย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจอกมาตั้งที่บ้านชะอำ ตำบลชะอำ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2487[1]เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สะดวกแก่การปกครองและภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอชะอำ[2]ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2487
- วันที่ 5 พฤษภาคม 2444 แบ่งเขตแขวงเมืองเพชรบุรีออกเป็น 6 อำเภอ จัดตั้งอำเภอนายาง และตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านนายาง[3]
- วันที่ 29 เมษายน 2460 เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอนายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็น อำเภอหนองจอก[4]
- วันที่ 8 มิถุนายน 2464 มีพระราชองการขนานนามที่หลวงใน ตำบลบางกราที่จัดสร้างขึ้นใหม่ว่า มฤคทายวัน [5]
- วันที่ 1 เมษายน 2480 เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดเพชรบุรี กับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยโอนพื้นที่หมู่ 7 ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอหนองจอก จังหวัดเพชรบุรี ไปขึ้นกับตำบลหัวหิน กิ่งอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[6]
- วันที่ 1 ตุลาคม 2480 ยกฐานะตำบลชะอำ และตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอหนองจอก จังหวัดเพ็ชร์บุรี เป็นเทศบาลตำบลชะอำ[7]
- วันที่ 2 กันยายน 2484 โอนพื้นที่ตำบลหาดเจ้าสำราญ อำเภอหนองจอก ไปขึ้นกับอำเภอเมืองเพชรบุรี และโอนพื้นที่หมู่ 1 (ในขณะนั้น) ของตำบลหนองขนาน อำเภอหนองจอก ไปขึ้นกับตำบลหนองพลับ อำเภอเมืองเพชรบุรี[8]
- วันที่ 26 ธันวาคม 2487 เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอหนองจอก จังหวัดเพชรบุรี เป็น อำเภอชะอำ[2]
- วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2490 เปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่อำเภอชะอำ (1,2,3,4,5,6)[9]
- (1) โอนพื้นที่หมู่ 1,2,3,4,5,6,7,8,9,10,11,12,13 (ในขณะนั้น) ของตำบลหนองจอก อำเภอชะอำ ไปขึ้นกับอำเภอท่ายาง
- (2) โอนพื้นที่หมู่ 15 (ในขณะนั้น) ของตำบลหนองจอก อำเภอชะอำ ไปขึ้นกับตำบลบางเก่า
- (3) โอนพื้นที่ตำบลหนองขนาน อำเภอชะอำ ไปขึ้นกับ อำเภอเมืองเพชรบุรี
- (4) โอนพื้นที่หมู่ 12,15 (ในขณะนั้น) ของตำบลไร่มะขาม อำเภอชะอำ ไปตั้งเป็นหมู่ 22,34 ของตำบลหนองขนาน
- (5) โอนพื้นที่ตำบลมาบปลาเค้า อำเภอชะอำ ไปขึ้นกับ อำเภอท่ายาง
- (6) โอนพื้นที่ตำบลไร่มะขาม (ยกเว้นพื้นที่หมู่ 12,15) อำเภอชะอำ ไปขึ้นกับอำเภอบ้านลาด
- วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลหนองกระเจ็ด แยกออกจากตำบลไร่มะขาม ตั้งตำบลดอนยาง แยกออกจากตำบลหนองขนาน[10]
- วันที่ 9 กรกฎาคม 2511 ตั้งตำบลเขาใหญ่ แยกออกจากตำบลนายาง[11]
- วันที่ 8 ตุลาคม 2511 จัดตั้งสุขาภิบาลนายาง ในท้องที่ทั้งหมดของตำบลนายาง และตำบลเขาใหญ่[12]
- วันที่ 7 ตุลาคม 2512 จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ในท้องที่อำเภอชะอำ และอำเภอท่ายาง[13]
- วันที่ 10 สิงหาคม 2519 ตั้งตำบลหนองศาลา แยกออกจากตำบลบางเก่า[14]
- วันที่ 2 สิงหาคม 2526 ตั้งตำบลไร่ใหม่พัฒนา แยกออกจากตำบลห้วยทรายเหนือ[15]
- วันที่ 11 กันยายน 2527 ตั้งตำบลสามพระยา แยกออกจากตำบลห้วยทรายเหนือ[16]
- วันที่ 30 มิถุนายน 2530 ตั้งตำบลดอนขุนห้วย แยกออกจากตำบลเขาใหญ่[17] และรับพื้นที่สุขาภิบาลนายาง ในท้องที่ทั้งหมดของตำบลดอนขุนห้วย
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลนายาง เป็นเทศบาลตำบลนายาง
- วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 ยกฐานะจากเทศบาลตำบลชะอำ เป็นเทศบาลเมืองชะอำ[18]
- วันที่ 11 ตุลาคม 2550 เปลี่ยนชื่อหมู่ที่ 1 บ้านวังยาว ตำบลดอนขุนห้วย เป็นชื่อ บ้านสระพระพัฒนา[19] เนื่องจากชื่อหมู่บ้านซ้ำกันสองหมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านวังยาว และหมู่ที่ 7 บ้านวังยาว ตำบลดอนขุนห้วย ทำให้เกิดความสับสนในการประสานงาน และติดต่อราชการ
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอชะอำแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 9 ตำบล 67 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[20] |
---|---|---|---|
1. | ชะอำ | Cha-am | 41,328
|
2. | บางเก่า | Bang Kao | 3,758
|
3. | นายาง | Na Yang | 3,773
|
4. | เขาใหญ่ | Khao Yai | 10,013
|
5. | หนองศาลา | Nong Sala | 2,511
|
6. | ห้วยทรายเหนือ | Huai Sai Nuea | 4,314
|
7. | ไร่ใหม่พัฒนา | Rai Mai Phatthana | 5,996
|
8. | สามพระยา | Sam Phraya | 5,368
|
9. | ดอนขุนห้วย | Don Khun Huai | 5,190
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอชะอำประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลเมืองชะอำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลชะอำทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลนายาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนายาง ตำบลเขาใหญ่ และตำบลดอนขุนห้วยทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลบางเก่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางเก่าทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองศาลา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองศาลาทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทรายเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยทรายเหนือทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใหม่พัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไร่ใหม่พัฒนาทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลสามพระยา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสามพระยาทั้งตำบล
เศรษฐกิจ
[แก้]ธุรกิจเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบทบาททางด้านการบริการ โดยเฉพาะการค้า การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของจังหวัดเพชรบุรี อำเภอชะอำจึงเป็นเมืองที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทำให้มีนักธุรกิจมาลงทุนหลายพันล้าน ส่วนการท่องเที่ยวอำเภอชะอำเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติที่ได้รับความนิยมสูงสุดจึงทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตมากขึ้น
จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยว ทำให้บริการด้านการท่องเที่ยวรวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของจังหวัดเพชรบุรีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ถนน ไฟฟ้า ร้านขายอาหาร ที่พักแรม ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างที่พักตากอากาศ การขายอาหาร ตลอดจนการบริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องธุรกิจท่องเที่ยว มีส่วนชักนำให้เกิดการบุกรุก จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชากรด้วย
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
[แก้]ในอำเภอชะอำยังมีโครงการที่เกี่ยวกับพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงได้พระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนี้
- โครงการพระราชประสงค์หุบกะพง เป็นโครงการเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินทำกินเกษตรกรผู้ยากจนในรูปแบบของหมู่บ้านสหกรณ์ จะเน้นในด้านเกษตรและกิจกรรมสหกรณ์
- ศูนย์สาธิตสหกรณ์ดอนขุนห้วย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากโครงการหุบกะพงมุ่งเน้นการจัดหาที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรที่ยากจน
- ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยทราย เป็นพื้นที่เขตอับฝน เนื่องมาจากป่าไม้ถูกทำลาย ดินขาดการบำรุงรักษาทำให้เกิดการพังทลายค่อนข้างสูง และราษฎรส่วนใหญ่ปลูกไร่สับปะรด โดยใช้สารเคมีมากทำให้คุณภาพของดินต่ำลงด้วย พระองค์มีพระราชดำรัสว่า หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด จึงให้แนวทางการแก้ไขให้เป็นศูนย์การพัฒนาด้านการเกษตรควบคู่ไปกับการปลูกป่า และช่วยส่งเสริมราษฎรสร้างรายได้จากการสร้างผลิตผลจากป่าไม้กับปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ในรูปแบบของเกษตรผสมผสานควบคู่กันไป
จะเห็นได้ว่า ศูนย์การพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ คือมีทั้งการศึกษาการทดลองและสาธิต เพื่อให้เห็นผลทุกด้าน ดังนั้นราษฎรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตได้อย่างแท้จริง จึงนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและเป็นการเพิ่มรายได้อีกต่อไป
สถานที่ท่องเที่ยว
[แก้]ชะอำ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในจังหวัดเพชรบุรี เป็นชายหาดติดทะเลฝั่งอ่าวไทย แต่เดิม ชะอำ เป็นเพียงตำบลหนึ่ง ขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอก แต่ภายหลังที่หัวหินมีชื่อเสียง ที่ดินแถบชายทะเลถูกจับจองหมด พวกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้น จึงพยายามหาสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ โดยการนำของ สมเด็จกรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์ และได้พบว่า หาดชะอำ เป็นชายหาดที่สวยงามไม่แพ้หัวหิน ชะอำ จึงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นมา ชะอำ ได้รับการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้น และได้ย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจอก มาตั้งที่ตำบลชะอำ และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอชะอำ
หาดชะอำ
[แก้]อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 41 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าชายหาด ระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่สวยงาม และมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี เดิมชะอำเป็นเพียงตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอก เป็นชายหาดที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากตั้งแต่สมัยโบราณ ตามประวัติเล่ากันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จมาที่นี่พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน จนกระทั่งชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ มาจนปัจจุบัน
บริเวณวัดเนรัญชราราม ใกล้กับหาดชะอำเหนือ มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ชื่อว่า พระควัมปติ หรือพระปิดทวาร ที่สร้างขึ้นตามหลักพุทธปรัชญาเพื่อชี้ให้เห็นถึงการตัดกิเลสด้วยวิธีการปิดช่องทางเข้าของกิเลสทั้งหลาย
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
[แก้]ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก ตำบลห้วยทรายเหนือ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 216 เลยหาดชะอำมา 8 กิโลเมตร เป็นพระตำหนักที่ประทับริมทะเล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2466 ได้รับขนานนามว่า "พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง" พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันพุธ ค่าเข้าชม ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 15 บาท
-
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
-
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
-
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
-
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
-
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
[แก้]เป็นศูนย์เรียนรู้ และเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ความรู้ และการฝึกอบรมระดับสากลด้านการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายครบวงจร ตั้งอยู่ภายในบริเวณค่ายพระรามหก ถนนเพชรเกษม ระหว่างอำเภอชะอำและอำเภอหัวหิน ทางเข้าทางเดียวกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
อุทยานแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2546 และเพื่อเป็นการฟื้นฟูพัฒนาสิ่งแวดล้อมป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ และที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ในบริเวณนี้ให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภายในอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เพื่อกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
วนอุทยานเขานางพันธุรัต
[แก้]เป็นเทือกเขาหินปูนที่มีความสวยงามเอกลักษณ์ โดดเด่นมองเห็นได้จากริมถนนใหญ่ ทอดยาวตามแนวเหนือ - ใต้ มองดูคล้ายนางยักษ์ (นางพันธุรัต) นอนอยู่ มีโกศอยู่ทางทิศใต้ และมีปฏิมากรรมธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องสังข์ทอง ตั้งอยู่ที่บ้านเขาไม้นวล หมู่ 2 ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,562 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงให้อนุรักษ์พื้นที่บริเวณเขานางพันธุรัตไว้เป็นมรดกของชาติ
สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
[แก้]ตั้งอยู่ที่ตำบลสามพระยา ในเนื้อที่ 340 ไร่ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี 2545 รางวัลยอดเยี่ยม ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ศูนย์แห่งนี้ดำเนินการโดยมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการทำฟาร์มผสมผสานที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ในท้องถิ่นที่เคยแห้งแล้งเนื่องจากการบุกรุกถางป่า และได้รับการพัฒนาฟื้นฟูให้กลับคืนความสมบูรณ์ ด้วยการจัดหาแหล่งน้ำควบคู่กับการเพาะปลูกพืช และนำผลการทดลองที่ประสบผลสำเร็จนำไปขยายผลสู่เกษตรกร เป็นแนวทางสู่เกษตรยั่งยืน
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)
[แก้]เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ 3 ยอด ยอดที่สูงที่สุดสูง 95 เมตร แต่เดิมชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า "เขาสมน" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้าง จนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403 พระราชทานนามว่า พระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่า "เขาวัง" สืบมาจนบัดนี้ พระนครคีรีมีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่างๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิกผสมสถาปัตยกรรมจีน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี
[แก้]ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปหล่อโลหะสำริดและทองเหลืองที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่างๆ ในพระที่นั่ง และเครื่องกระเบื้องของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.00 น. ทุกวัน
ชายฝั่งทะเลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
[แก้]ชายฝั่งทะเลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นชายฝั่งทะเลในพื้นที่แหลมผักเบี้ย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียกชื่อชายฝั่งทะเลของจังหวัดเพชรบุรี-จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีความยาว 200 กิโลเมตร [21] มีความยาวคอดไปถึงอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ [22] เพื่อแสดงถึงวีรกรรม พระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ให้ปรากฏพระนามบนแผนที่ [23]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจอก จังหวัดเพชรบุรี ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ ตอนที่ ๖๒ ง ประกาศ ณ วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ หน้าที่ ๑๙๓๒
- ↑ 2.0 2.1 พุทธศักราช ๒๔๘๗ (เปลี่ยนชื่อ อำเภอหนองจอก เป็น อำเภอชะอำ และอำเภอหนองโดน เป็น อำเภอบ้านหมอ)[ลิงก์เสีย] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ ตอนที่ ๗๗ ก ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ หน้าที่ ๑๑๖๕
- ↑ [1]ประกาศกระทรวงมหาดไทย [ปรับปรุงการจัดตั้งแบ่งเขตแขวงเมืองเพ็ชร์บุรีเสียใหม่ โดยให้มี ๖ อำเภอ และการจัดกรมการอำเภอ]
- ↑ [2] เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ
- ↑ [3] ประกาศ ขนานนามเปลี่ยนนามตำบลบางกรา แขวงจังหวัดเพชรบุรี
- ↑ [4] เก็บถาวร 2012-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด พุทธศักราช ๒๔๗๙
- ↑ [5]พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พุทธศักราช ๒๔๘๐
- ↑ [6]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอในจังหวัดเพชรบุรี
- ↑ [7]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอในจังหวัดพิษณุโลก ศรีสะเกษ ตราด สิงห์บุรี อ่างทอง เพชรบุรี และระนอง
- ↑ [8] เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ
- ↑ [9]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
- ↑ [10]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลนายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
- ↑ [11]พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ในท้องที่อำเภอชะอำ และอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๑๒
- ↑ [12]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
- ↑ [13]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
- ↑ [14]ประกาศรกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอชะอำและอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
- ↑ [15]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
- ↑ [16] เก็บถาวร 2012-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง
- ↑ [17]ประกาศจังหวัดเพชรบุรี เรื่อง เปลี่ยนแปลงชื่อหมู่บ้าน หมู่ที่ ๑ ตำบลดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
- ↑ พระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๔๙ เล่มที่ ๑๒๓ ตอนที่ ๘๐ ก ประกาศ ณ วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ หน้า ๑
- ↑ "ชายฝั่งทะเลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-06. สืบค้นเมื่อ 2010-10-21.
- ↑ "ประชาสัมพันธ์การเรียกชื่อชายฝั่งทะเล ตั้งแต่บริเวณหาดเจ้าสำราญ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ถึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า"ชายฝั่งทะเลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช"". สำนักงานเทศบาลเมืองชะอำ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2010.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อำเภอชะอำ