ข้ามไปเนื้อหา

ชลมหัล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชลมหัล
जल महल
Jal Mahal
พระราชวังชัล มหัล กลางทะเลสาบมันสาคร
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระราชวัง
สถาปัตยกรรมผสมระหว่างราชปุตและโมกุล
เมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน
ประเทศประเทศอินเดีย
พิกัด26°57′13″N 75°50′47″E / 26.9537°N 75.8463°E / 26.9537; 75.8463
เริ่มสร้างคริสต์ศตวรรษที่ 16
ปรับปรุงคริสต์ศตวรรษที่ 18
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างหินทรายสีแดง

ชลมหัล (ฮินดี: जल महल, อังกฤษ: Jal Mahal) พระราชวังกลางน้ำซึ่งตั้งเด่นสง่าอ ยู่กลางทะเลสาบมันสาคร (Man Sagar) ใกล้กับชัยปุระ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย โดยพระราชวังแห่งนี้และทิวทัศน์ของทะเลสาบโดยรอบถูกต่อเติมและปรับปรุงโดยมหาราชา สะหวาย ชัย สิงห์ที่ 2 ตัวพระราชวังนั้นสร้างได้อย่างสวยงามตามสถาปัตยกรรมราชปุตและโมกุล ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งก่อสร้างในรัฐราชสถาน โดยพระราชวังนี้นั้นมีความสวยงามเนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบและโดยมีเทือกเขานหาร์การห์ตั้งอยู่เบื้องหลัง ตัวอาคารสร้างโดยใช้หินทรายสีแดง ประกอบด้วยทั้งหมด 5 ชั้นซึ่ง 4 ชั้นล่างจะถูกน้ำท่วมเมื่อทะเลสาบมีระดับน้ำสูงสุด โดยเหลือเพียงชั้นบนสุดซึ่งจะเผยขึ้นมาเหนือน้ำ[1] ฉัตรีซึ่งเป็นยอดหลังคาทรงสี่เหลี่ยมนั้นสร้างในแบบสถาปัตยกรรมเบงกอล ส่วนฉัตรีบริเวณสี่มุมของอาคารนั้นเป็นทรงแปดเหลี่ยม เนื่องจากตั้งอยู่ในน้ำเป็นเวลาอันยาวนานทำให้ฐานของพระราชวังนั้นเริ่มทรุดโทรมลงเนื่องจากกระแสน้ำและน้ำท่วม ทำให้มีการบูรณะเมื่อประมาณ 10-15 ปีที่แล้ว แต่ผลงานที่ได้นั้นมีปัญหาด้านวัตถุดิบที่ใช้ไม่ตรงกับของจริงอิงตามประวัติศาสตร์ค้นคว้าโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยล่าสุดได้มีโครงการร่วมฯเพื่อทำการบูรณะครั้งใหญ่ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการโดยรัฐบาลรัฐราชสถาน[2]

ทะเลสาบมันสาคร

[แก้]
เขื่อนมันสาคร

ทะเลสาบมันสาคร (Man Sagar) ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของชัยปุระ ระหว่างเมืองหลวงเก่าคือ แอมแมร์ กับชัยปุระซึ่งเป็นเมืองหลักของรัฐราชสถานในปัจจุบัน กินพื้นที่กว้างถึง 300 เอเคอร์ (121 เฮกตาร์) และติดกับเทือกเขาอะราวัลลีทางทิศเหนือ ตะวันตก และตะวันออก ในขณะที่ทางทิศใต้นั้นประกอบด้วยที่ราบสูงที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย ป้อมนหาร์การห์ซึ่งตั้งตะหง่านอยู่บนเทือกเขาด้านบนนั้นสามารถมองเห็นทิวทัศน์บริเวณทะเลสาบนี้ได้เป็นอย่างดี รวมถึงทิวทัศน์ของชัยปุระอีกด้วย โดยทะเลสาบแห่งนี้เกิดขึ้นโดยการสร้างเขื่อนเพื่อกั้นข้ามแม่น้ำดาร์ภวาตี (Darbhawati) ระหว่างเทือกเขาขิลาการห์ และเขานหาร์การห์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 พื้นที่รับน้ำของทะเลสาบนั้นมีขนาดประมาณ 23.5 ตารางกิโลเมตร (9.1 ตารางไมล์) แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยประมาณร้อยละ 50 ที่เหลือเป็นพื้นที่ราบสูงสลับเนินเขาของเทือกเขาอะราวัลลี บริเวณทะเลสาบนี้มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 657.4 มิลลิเมตร (25.88 นิ้ว) ต่อปี (ร้อยละ 90 ของปริมาณน้ำฝนเกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน) บริเวณเขื่อนมีประตูระบายน้ำสำหรับการชลประทานซึ่งเก็บกักน้ำไว้บริเวณอ่างเก็บน้ำ (ซึ่งจำนวนความต้องการใช้น้ำนั้นมีถึง 2,410,000 ลูกบาศก์เมตรในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม) นอกจากนี้ยังมีกระแสน้ำซึ่งไหลมาจากแม่น้ำพรหมบุตร และนักทะลัย ซึ่งยังมีรายงานถึงน้ำเสียซึ่งไหลมาและยังไม่ได้ถูกบำบัด ซึ่งประกอบด้วยโลหะปนเปื้อนเข้ามายังทะเลสาบด้วย[3][4][5][6]

ในอดีตนั้นทะเลสาบแห่งนี้เคยมีปริมาณน้ำที่น้อยกว่านี้มาก ในปีค.ศ. 1596 ได้มีภัยแล้งเกิดขึ้นจึงมีการขาดแคลนน้ำขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งมหาราชาแห่งแอมแมร์นั้นก็มิได้ทรงนิ่งนอนพระราชหฤทัย ทรงให้สร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำสำหรับเมืองแอมแมร์ของพระองค์ โดยเขื่อนนั้นสร้างขึ้นจากดินและหิน ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของหุบเขาบริเวณร้อยต่อระหว่างหุบเขาแอมแมร์และอมาการห์ ซึ่งต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้ถูกปรับปรุงให้เป็นโครงสร้างหินอย่างแข็งแรงจนกระทั่งปัจจุบัน มีขนาดความยาว 300 เมตร (980 ฟุต) และกว้าง 28.5–34.5 เมตร (94–113 ฟุต)โดยมีทางระบายน้ำทั้งหมดสามแห่งสำหรับการชลประทานพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณต้นน้ำ ต่อจากนั้นมา ทะเลสาบ เขื่อน และพระราชวังที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบนี้ก็ได้ผ่านการบูรณะมาหลายครั้งในหลายรัชสมัย โดยครั้งสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดนั้นเกิดขึ้นในรัชสมัยของมหาราชา สะหวาย จัย สิงห์ที่ 2 แห่งแอมแมร์ ซึ่งเป็นสมัยที่มีสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากที่สุด อาทิเช่น ป้อมแอมแมร์ ป้อมชัยคฤห์ ป้อมนหาร์การห์ ป้อมขิลังการห์ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันสถานที่เหล่านี้สามารถเดินทางเข้าถึงได้โดยสะดวกโดยทางถนน[6][7][1]

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Jal Mahal gets a Rs1000 cr facelift". rediff.com. สืบค้นเมื่อ 2009-09-12.
  2. Brown, Lindsay (2008). Rajasthan, Delhi and Agra. Goitare and Jal Mahal. Lonely Planet. p. 160. ISBN 1-74104-690-4, 9781741046908. สืบค้นเมื่อ 2009-09-13. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |isbn=: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthor= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  3. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ ilfs
  4. "Mansagar Lake". Rainwater Harvesting.org. สืบค้นเมื่อ 2009-08-12.
  5. "Lake Restoration toward Creating Tourism Infrastructure". Indian Institute of Science: Seminar Proceedings. สืบค้นเมื่อ 2009-09-12.
  6. 6.0 6.1 Dr. K.N.Joshi. "Impact of Urbanization on Urban Lake Using High Resolution Satellite Data and GIS(A Case Study of Man Sagar Lake of Jaipur, Rajasthan)" (pdf). Jaipur: Institute of Development Studies. สืบค้นเมื่อ 2009-09-19.[ลิงก์เสีย] อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "Joshi" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  7. "Tourism deal". Down to Earth: Science and Environment on Line. สืบค้นเมื่อ 2009-09-12.[ลิงก์เสีย]