ข้ามไปเนื้อหา

ป้อมนาหรครห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ป้อมนหาร์การห์)
ป้อมนาหรครห์
नाहरगढ़ का किला
Nahargarh Fort
ด้านบนของกำแพงป้อมและมุขป้อม
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทป้อมปราการ
สถาปัตยกรรมฮินดู, ราชปุต
เมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน
ประเทศอินเดีย
เริ่มสร้างค.ศ. 1734
ปรับปรุงค.ศ. 1868
ผู้สร้างมหาราชาสะหวายจัย สิงห์ที่ 2
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างหินทรายสีแดง

ป้อมนาหรครห์ (ราชสถานและฮินดี: नाहरगढ़ का किला; อังกฤษ: Nahagarh Fort) เป็นป้อมปราการที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาของเทือกเขาอะระวัลลี โดยตั้งอยู่สูงตระหง่านเหนือนครชัยปุระ ในรัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย

เมื่อร่วมกันกับป้อมอาเมร์และป้อมชยครห์แล้ว ทั้งสามปราการนี้เคยเป็นเสาหลักในการป้องกันการรุกรานจากข้าศึกต่าง ๆ ต่อชัยปุระ โดยแรกป้อมปราการแห่งนี้มีชื่อว่า "สุทรรศนครห์" (Sudarshangarh) แต่ในภายหลังได้กลายมาเป็น "นาหรครห์" ซึ่งหมายความว่า "ถ้ำเสือ" โดยเชื่อกันว่าที่มาของคำว่า "นาหระ" นั้นมาจาก นาหระ สิงห์ โภมิยา (Nahar Singh Bhomia)[1] ซึ่งวิญญาณนั้นได้หลอกหลอนในระหว่างก่อสร้างและเป็นอุปสรรคสำคัญในการก่อสร้างป้อมแห่งนี้[2] จึงได้มีการสร้างศาลภายในบริเวณวัดเพื่อเป็นที่สถิตวิญญาณภายในป้อมแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อป้อมนาหรครห์[3]

ประวัติ

[แก้]

สร้างในปีค.ศ. 1734 โดยมหาราชาสไว ชัย สิงห์ที่ 2 กษัตริย์ผู้ก่อตั้งนครชัยปุระ ซึ่งเป็นเมืองที่ป้อมตั้งตระหง่านอยู่บนบริเวณยอดหน้าผาด้านบนของตัวเมือง โดยมีการสร้างกำแพงเมืองขนาดใหญ่และมีความยาวครอบคลุมไปถึงเขาลูกใกล้เคียง รวมเป็นป้อมปราการขนาดใหญ่เมื่อเชื่อมกับป้อมชยครห์ ซึ่งตั้งอยู่เหนือเมืองหลวงเก่าที่อาเมร์ ถึงแม้ว่าป้อมปราการแห่งนี้จะไม่ได้ถูกรุกรานโดยศัตรูตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ยังมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ อาทิเช่น การทำสนธิสัญญาสงบศึกกับจักรวรรดิมราฐาเพื่อยุติสงครามในศตวรรษที่ 18[4] และในเหตุการณ์กบฏอินเดีย ค.ศ. 1857 ชาวยุโรปที่อยู่อาศัยในแถบนี้รวมทั้งชาวอังกฤษได้ถูกเชิญขึ้นไปลี้ภัยบนป้อมแห่งนี้โดยกษัตริย์แห่งชัยปุระ มหาราชาสะหวาย ราม สิงห์ เพื่อเป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรง[5]

บริเวณหลังคาดาดฟ้าของป้อม
ทิวทัศน์ของเมืองชัยปุระจากด้านบนป้อม

ต่อมาในปี ค.ศ. 1868 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของมหาราชา สะหวาย ราม สิงห์ ได้มีการขยายต่อเติมป้อมปราการแห่งนี้ให้กว้างขวางขึ้นอีก และในปี ค.ศ. 1883–ค.ศ. 1892 ได้มีการสร้างพระตำหนักหลายแห่งภายในป้อม โดยพระบัญชาของมหาราชา สะหวาย มัดโฮ สิงห์ โดยมีมูลค่าการก่อสร้างเกือบ 350,000 รูปี[6] โดยเฉพาะพระตำหนักมธเวนทรภวัน (Madhavendra Bhawan) ซึ่งสร้างโดยมหาราชา สไว มัทโห สิงห์ ประกอบไปด้วยส่วนของพระมเหสีและพระสนม และส่วนสำหรับประทับเป็นการส่วนพระองค์ โดยแต่ละห้องจะเชื่อมต่อกันโดยทางเดินกลางซึ่งตกแต่งด้วยงานเขียนภาพปูนเปียก (fresco) นอกจากจุดประสงค์เพื่อป้องกันการรุกรานแล้ว ป้อมนหาการห์ยังเป็นสถานที่ประทับยามที่มหาราชาเสด็จออกล่าสัตว์อีกด้วย[7]

จนกระทั่งเดือนเมษายน ค.ศ. 1944 รัฐบาลแห่งรัฐราชสถานได้ใช้ป้อมแห่งนี้เป็นสถานที่บอกเวลาที่คำนวณได้จากสัมราฏยันตระ (Samrat Yantra) ซึ่งตั้งอยู่ในชันตระมันตระ และจะมีการยิงปืนใหญ่จากป้อมแห่งนี้เป็นอาณัติสัญญาณอีกด้วย

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Naravane, M. S. The Rajputs of Rajputana: a glimpse of medieval Rajasthan.
  2. "Nahargarh Fort".
  3. Jaipur forts and monuments
  4. Naravane, M. S. The Rajputs of Rajputana.
  5. Sarkar, Jadunath. A History of Jaipur.
  6. R. K. Gupta; S. R. Bakshi (2008). Rajasthan Through The Ages: Jaipur Rulers and Administration. ISBN 9788176258418.
  7. "Jaipur Hub". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 October 2006. สืบค้นเมื่อ 28 August 2006.