ชมพูบดีสูตร
ชมพูบดีสูตร เป็นพระสูตรนอกพระไตรปิฎก จัดอยู่ในหมวดสุตตสังคหะ คือหนังสือในหมวดสุตตันตปิฎก กล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระองค์เป็นพระจักรพรรดิราชทรมานท้าวมหาชมพูผู้เป็นมิจฉาทิฐิจนท้าวมหาชมพูเลื่อมใสออกผนวชเป็นพระอรหันต์[1] สันนิษฐานว่าน่าจะมีต้นเค้ามาจากคัมภีร์ฝ่ายมหายานและนํามาแต่งเป็นภาษาบาลีในภายหลัง พบต้นฉบับในประเทศไทย ประเทศพม่า[2] ประเทศกัมพูชา[3] และประเทศลาว[4]
นักวิชาการพม่าสันนิษฐานว่า เรื่องชมพูบดีน่าจะแพร่หลายจากพม่าเข้าสู่ประเทศไทยและประเทศลาวโดยพระสงฆ์นิกายเถรวาทที่เป็นชาวมอญ มีการค้นพบการสวดมนต์โดยพระสงฆ์ 3 รูป แทนพระพุทธเจ้า พระเจ้าราชาธิราชและพระเจ้าชมพูบดี[5] ในประเทศไทยได้รับความนิยมมากในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานปรากฏในสมัยอยุธยาตอนกลาง คือ พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย และปรากฏหลักฐานว่าในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งส่งหนังสือชมพูบดีวัตถุไปให้แก่พระเจ้าเกียรติศิริกษัตริย์ลังกาผ่านพระสงฆ์ซึ่งเดินทางมาสืบพระพุทธศาสนา ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังเฉพาะในภาคกลาง ภาคเหนือของประเทศไทย และที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาวในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24–25 เท่านั้น ไม่พบในที่อื่นเช่น พม่า ตัวอย่างสถานที่พบ เช่น วัดนางนองวรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร จังหวัดสมุทรปราการ วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น[6]
ที่มา
[แก้]พระสูตรเรื่องชมพูบดีสูตร น่าจะมาจากพระสูตรชื่อ พระเจ้ากัปผิณะ (มหากปินะ)[7] ที่เก่าสุดอยู่ในคัมภีร์อวทาน-ศตกะ (พุทธศตวรรษที่ 3) เรื่องมหากปินะมีการแปลเป็นภาษาอื่นโดยแบ่งออกเป็น 2 สาย คือ สายแรกผ่านจากอินเดียในสมัยปาละเข้าสู่ประเทศพม่าในสมัยพุกาม เมื่อเข้าสู่พม่าแล้วน่าจะแปลจากต้นฉบับที่เป็นภาษาสันสกฤตเป็นภาษาบาลี เนื่องจากปรากฏการแปลคัมภีร์อีกหลายฉบับที่มักแปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาบาลี ต่อมาได้ส่งอิทธิพลเข้ามาในประเทศไทยก่อนจะส่งเข้าไปในประเทศลาวและกัมพูชาต่อไป อีกสายหนึ่งผ่านจากอินเดียเข้าสู่เอเชียกลาง เข้าไปยังทิเบตและจีน ดังปรากฏในทมมูกนิทานสูตรซึ่งแต่งโดยภิกษุ 5 รูปโดยรวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ มา โดยมีต้นทางมาจากอินเดีย
แก่นเรื่อง
[แก้]พระเจ้าชมพูบดีซึ่งประสูติเป็นโอรสแห่งเมืองปัญจาลนครและมีของวิเศษคู่กายคือฉลองพระบาท พระขรรค์และลูกศร ต่อมาได้เป็นกษัตริย์ครองเมือง มีมเหสีชื่อนางกาญจนเทวีมีโอรสชื่อ ศิริคุตราช กุมาร วันหนึ่งพระเจ้าชมพูบดีเหาะไปเจอปราสาทพระเจ้าพิมพิสารแล้วอิจฉาพยายามจะทําลาย แต่ไม่สามารถทำลายปราสาทได้ จึงส่งของวิเศษทั้งสองมาเพื่อจัดการกับพระเจ้าพิมพิสาร จนพระเจ้าพิมพิสารต้องขอให้พระพุทธเจ้าช่วย
ต่อมาพระพุทธองค์เห็นว่าพระเจ้าชมพูบดีสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้จึงให้พระอินทร์ไปเชิญพระเจ้าชมพูบดีมาเฝ้า ซึ่งต้องใช้กําลังบังคับจนพระเจ้าชมพูบดียอมเดินทางมา พระพุทธเจ้าได้เนรมิตเมืองให้ เมื่อพระเจ้าชมพูบดีเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าก็ให้มาฆสามเณรไปเชิญพระเจ้าชมพูบดีเสด็จพระราชดําเนินเข้าเมืองด้วยเท้า ซึ่งมาฆสามเณรก็ใช้อิทธิฤทธิ์ทําให้พระเจ้าชมพูบดีต้องลงจากหลังช้างและเดินเท้าเข้าเมือง เมื่อเข้าเมืองเห็นว่าเมืองของพระเจ้าราชาธิราช (พระพุทธเจ้า) ยิ่งใหญ่กว่าเมืองของตนจึงลดทิฐิมานะลง เมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ พระองค์ได้ปราบพยศของพระเจ้าชมพูบดีจนสุดท้ายยอมบวชเป็นภิกษุพร้อมกับกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดและเสนาอํามาตย์และได้ส่งคนกลับไปยังเมืองปัญจาลนครเพื่อแจ้งแก่มเหสีและโอรส ซึ่งต่อมาเดินทางมายังเวฬุวนารามของพระพุทธเจ้าและได้บวชเช่นกันและล้วนบรรลุอรหันต์ทั้งสิ้น
ฉบับ
[แก้]ต้นฉบับใบลานเรื่องชมพูบดีสูตรที่เก่าแก่ที่สุดที่พบ คือ ใบลาน Bibliothèque Nationale กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอาจมีอายุเก่าไปถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[6] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้ตีพิมพ์ ในชื่อ มหาชมพูปติสูตร เผยแพร่แล้วโดยหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปี พ.ศ. 2464 ต่อมาหลวงเสนาราชภักดีศรี สงคราม (เกี้ย บุณยัษฐิติ) ได้นำมาประพันธ์เป็น คำฉันท์เรื่องท้าวมหาชมภู พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2473 ในภาคใต้ของไทยยังพบกลอนสวดเรื่อง ท้าวมหาชมพู[1]
ฉบับล้านนาเรียก ชุมพูปติ หรือ ชุมพูปัตติ เช่นที่วัดป่าสักน้อย ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ คัมภีร์มีจํานวน 3 ผูก รวม 99 หน้าใบลาน
ฉบับล้านช้าง เป็นต้นฉบับจากหอสมุดแห่งชาติลาว โดยได้ทําการปริวรรตใหม่ เพราะยังไม่เคยมีการปริวรรตมาก่อน โดยในใบลานได้ระบุจุลศักราช 1268 ตรงกับพุทธศักราช 2449 มีจํานวน 5 ผูก ทั้งหมด 228 หน้าใบลาน เรียกว่า ชมพูปัตติ หรือ ชมพูปติ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "ชมพูบดีสูตร ฉบับสอบเทียบใบลาน" (PDF).
- ↑ Thiripyanchai U Mya, The Origin of the Jumbupati Image, Report of the director of archaeology survey for the year ending (30 September 1959): 28-37.
- ↑ ศานติ ภักดีคํา, จิตรกรรมฝาผนังเรื่อง "ท้าวมหาชมพู" พระอุโบสถ วัดนางนองวรวิหาร, เมืองโบราณ 32, 3 (กรกฎาคม - กันยายน 2549): 3
- ↑ ณัฐา คุ้มแก้ว, การศึกษาเชิงวิเคราะห์วรรณกรรมภาคใต้เรื่องพระยาชมพู (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552), 112.
- ↑ Thiripyanchai U Mya, The Origin of the Jumbupati Image, Report of the director of archaeology survey for the year ending, 71.
- ↑ 6.0 6.1 ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. "ชมพูบดีสูตรในจิตรกรรมฝาผนังช่วงพุทธศตวรรษที่ 24–25" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ สาโรชน์ บัวพันธุ์งาม, การศึกษาเชิงวิเคราะห์คัมภีร์อวทาน-ศตกะ (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556), 363.