ชต็อลเลิน
ชต็อลเลินสำหรับวันคริสต์มาส | |
ประเภท | ขนมอบ |
---|---|
แหล่งกำเนิด | เยอรมนี |
ภูมิภาค | รัฐซัคเซิน |
ส่วนผสมหลัก | ผลไม้เชื่อมหรือตากแห้ง ถั่ว เครื่องเทศ (กระวานและอบเชย) และน้ำตาล |
ชต็อลเลิน (เยอรมัน: Stollen, ออกเสียง: [ˈʃtɔlən] หรือ [ʃtɔln] ) เป็นขนมปังหวานที่ผสมถั่ว เครื่องเทศ และผลไม้แห้งหรือเชื่อม เคลือบด้วยน้ำตาล เป็นขนมปังที่ชาวเยอรมันนิยมรับประทานในช่วงคริสต์มาส ชต็อลเลินมีชื่อเรียกอีกสองชื่อได้แก่ ไวนัคทซ์ชต็อลเลิน (Weihnachtsstollen ตามคำว่า Weihnachten ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อเทศกาลคริสต์มาสในภาษาเยอรมัน) และ คริสท์ชต็อลเลิน (Christstollen)
ส่วนผสม
[แก้]ชต็อลเลินเป็นขนมปังที่มีลักษณะคล้ายเค้กซึ่งทำจากแป้ง น้ำ และยีสต์ และมักจะผสมผิวส้มลงไปในแป้งด้วย นอกจากนี้ยังผสมเปลือกส้มเชื่อม ลูกเกด และอัลมอนด์ และเครื่องเทศได้แก่กระวานและอบเชย ส่วนผสมอื่น ๆ ซึ่งเติมเพิ่มตามความชอบได้แก่นม น้ำตาล เนย เกลือ เหล้ารัม ไข่[1] วานิลลา[2] ผลไม้แห้ง ถั่ว และมาร์ซิแพน (ถั่วอัลมอนด์บดผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง) ชต็อลเลินขนาดมาตรฐานจะมีน้ำหนักประมาณ 2.0 kg (4.4 lb) แต่ชต็อลเลินที่ขนาดเล็กกว่านั้นก็พบได้ทั่วไปเช่นกัน หลังจากนำออกจากเตาอบจะนำไปเคลือบด้วยเนยจืดและคลุกน้ำตาลทันที ซึ่งจะทำให้ขนมปังมีความชื้นและเก็บได้นาน[3]
ชต็อลเลินแบบเดรสเดิน ซึ่งเป็นขนมปังเนื้อแน่นและมีไส้ผลไม้และแต่เดิมเรียกว่า อัลเลอร์ไฮลิเกินชตรีทเซิล (Allerheiligenstriezel) หรือ ชตรีทเซิล (Striezel) นั้นมีหลักฐานอ้างอิงที่เก่าแก่ที่สุดคือเอกสารราชการใน ค.ศ. 1474[4] และยังคงมีชื่อเสียง[5] ชต็อลเลินแบบเดรสเดินนี้จะผลิตโดยร้านขนมปัง 150 แห่งในเดรสเดินเท่านั้น โดยมีตราประทับพิเศษซึ่งมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ผู้แข็งแกร่ง
ประวัติ
[แก้]ชต็อลเลินในยุคแรกนั้นจะมีส่วนผสมเพียงสามชนิดได้แก่แป้ง ข้าวโอ๊ต และน้ำ[6] ชต็อลเลินเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลคริสต์มาสครั้งแรกในการประชุมสังคายนาแห่งเทรนต์ใน ค.ศ. 1545[7] และมีส่วนผสมเพียงสี่อย่างได้แก่แป้ง ยีสต์ น้ำมัน และน้ำ
ในช่วงยุคกลาง ผู้คนจะถือศีลอดในช่วงเวลาเทศกาลเตรียมการรับเสด็จ (Advent) ก่อนวันคริสต์มาสและคนทำขนมปังจะไม่สามารถใช้เนยได้ ใช้ได้แต่เพียงน้ำมันเท่านั้น ทำให้ขนมปังที่ได้แข็งและไม่อร่อย[4] ในศตวรรษที่ 15 เจ้าชายแอนสท์ เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกประจำนครรัฐซัคเซินและพระอนุชา ดยุกอัลเบร็ชท์แห่งซัคเซินได้มีพระราชสาส์นไปยังสมเด็จพระสันตะปาปาในกรุงโรม เนื่องจากน้ำมันในซัคเซินมีราคาแพงและหายาก สมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 ไม่ทรงยินยอม ห้าสมณกาลต่อมา ในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 8[7] พระองค์ได้ทรงมีพระราชสาส์นไปยังเจ้านครรัฐว่าพระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เนยแทนได้ แต่จำกัดเพียงเจ้านครรัฐและครอบครัวเท่านั้น ในขณะที่สามัญชนทั่วไปที่จะใช้เนยต้องจ่ายภาษีรายปีในอัตราเทียบเท่ากับทองคำ 1/20 กุลเดินเพื่อสมทบทุนสร้างอาสนวิหารไฟรแบร์ค ก่อนที่ภาษีรายปีดังกล่าวจะยกเลิกเมื่อรัฐซัคเซินเปลี่ยนมานับถือนิกายโปรเตสแตนต์
สูตรการทำชต็อลเลินเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษหลังจากนั้น โดยมีการผสมส่วนผสมที่ให้ความหวานชุ่มเช่นมาร์ซิแพน เป็นต้น ในสหราชอาณาจักร ชต็อลเลินเริ่มได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยความนิยมชต็อลเลินในสหราชอาณาจักรนั้นเทียบเท่ากับมินซ์พายหรือคริสต์มาสพุดดิงซึ่งเป็นอาหารตามธรรมเนียมดั้งเดิม ชต็อลเลินสามารถหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักร หรือแม้แต่ในครัวเรือนก็นิยมทำรับประทานเอง[8]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Recipe for Dresdner Weihnachtsstollen Mimi Sheraton, The German Cookbook, from Random House
- ↑ "Learning and Teaching German".
- ↑ Felicity Cloake (15 December 2016). "How to bake the perfect stollen". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 31 May 2017.
- ↑ 4.0 4.1 "City of Dresden - Tourism - The original Dresden Stollen". 22 January 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-22. สืบค้นเมื่อ 2019-12-22.
- ↑ Meyers Lexikon เก็บถาวร 2009-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน: "Besonders bekannt ist der Dresdner Stollen" ("the Dresden Stollen is especially well-known")
- ↑ Von Gänsen, Karpfen, Lebkuchen und Stollen เก็บถาวร 2007-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Dtsch Med. Wochenschrift 2003;128: 2691–2694 (p. 4)
- ↑ 7.0 7.1 (haftungsbeschränkt), Bäckerei & Konditorei Gnauck UG. "The History of the Christ Stollen from Dresden - Bäckerei & Konditorei Gnauck". Bäckerei & Konditorei Gnauck.
- ↑ Jay Rayner: Christmas taste test: stollen