ข้ามไปเนื้อหา

ฉบับร่าง:สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) (อังกฤษ: Sustainable Arts and Crafts Institute of Thailand (Public Organization)) เป็นองค์การมหาชน สังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนางานผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย รวมทั้งสนับสนุนด้านการตลาด การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ การอนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านสู่ความเป็นเลิศและเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)
Sustainable Arts and Crafts Institute of Thailand (Public Organization)
ภาพรวมสถาบัน
ก่อตั้ง1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546; 21 ปีก่อน (2546-11-01)
สถาบันก่อนหน้า
  • ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)
ประเภทองค์การมหาชน
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่เลขที่ 159 หมู่ 4 ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13290
งบประมาณต่อปี150,530,000 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
ฝ่ายบริหารสถาบัน
  • อนุชา ทีรคานนท์, ผู้อำนวยการ
  • แสงระวี สิงหวิบูลย์, รองผู้อำนวยการ
  • ว่าง, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดสถาบันกระทรวงพาณิชย์
เว็บไซต์เว็บไซต์ของสถาบัน

ประวัติ

[แก้]

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ในชื่อ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพผสมผสานเพื่อเสริมสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ต่อมามีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2564 หรือ สศท. มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ทำให้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) จนถึงปัจจุบัน[2]

อำนาจหน้าที่

[แก้]

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) มีหน้าที่จัดให้มีการแสดง การประกวด หรือการจำหน่ายศิลปหัตถกรรมไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดให้มีและบริหารแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการซื้อขายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย จัดให้มีและให้ทุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทย ทำความตกลงและร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน เข้าร่วมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน ถือหุ้นหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในกิจการของนิติบุคคลอื่นเพื่อส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน โดยต้องไม่มีวัตถุประสงค์หลักในการมุ่งแสวงหากำไร[3]

หน่วยงานภายใน

[แก้]

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) แบ่งหน่วยงานออกเป็น 10 หน่วยงาน ดังต่อไปนี้[4]

  • ฝ่ายกฎหมาย
  • ฝ่ายกฎหมายและทรัพย์สินทางปัญญา
  • ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
  • ฝ่ายตรวจสอบภายใน
  • สำนักส่งเสริมคุณค่าหัตถศิลป์
  • สำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม
  • สำนักส่งเสริมและพัฒนาการตลาด
  • สำนักสื่อสารภาพลักษณ์และจัดการวัฒนธรรมศิลปหัตถกรรม
  • สำนักยุทธศาสตร์และวิเทศสัมพันธ์
  • สำนักอำนวยการกลาง

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๖๓, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน), ประวัติความเป็นมา, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567
  3. สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (ประเทศไทย), อำนาจหน้าที่ตาม พรฎ., สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567
  4. สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน), โครงสร้าง สศท., สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]