ข้ามไปเนื้อหา

ฉบับร่าง:กรมทรัพย์สินทางปัญญา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา)

กรมทรัพย์สินทางปัญญา (อังกฤษ: Department of Intellectual Property) เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งให้ความคุ้มครองและปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

กรมทรัพย์สินทางปัญญา
Department of Intellectual Property
ภาพรวมกรม
ก่อตั้ง3 พฤษภาคม พ.ศ. 2535; 32 ปีก่อน (2535-05-03)
ประเภทส่วนราชการ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
บุคลากร539 คน (พ.ศ. 2566)[1]
งบประมาณต่อปี485,975,300 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
ฝ่ายบริหารกรม
  • นุสรา กาญจนกูล, อธิบดี
  • อาวุธ วงศ์สวัสดิ์, รองอธิบดี
  • กนิษฐา กังสวนิช, รองอธิบดี
  • กิตติวัฒน์ ปัจฉิมนันท์, รองอธิบดี
ต้นสังกัดกรมกระทรวงพาณิชย์
เว็บไซต์เว็บไซต์ของกรม

ประวัติ

[แก้]

กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดตั้งตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบในการบริหารงานและการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ และกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร

โดยมีการโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนจากกรมทะเบียนการค้า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร และของกรมศิลปากร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายลิขสิทธิ์ มาอยู่รวมในหน่วยงานเดียวกัน จนถึงปัจจุบัน[3]

อำนาจหน้าที่

[แก้]

กรมทรัพย์สินทางปัญญา มีหน้าที่ดำเนินการการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตามความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นภาคี ส่งเสริมการปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลง ดำเนินการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมการใช้สิทธิอย่างเป็นธรรมและสร้างวินัยทางการค้า ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ การบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและการอนุญาโตตุลาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา[4]

หน่วยงานภายใน

[แก้]

กรมทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งส่วนราชการออกเป็น 11 หน่วยงาน และ 2 กลุ่ม ดังต่อไปนี้[5]

  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กองกฎหมาย
  • กองเครื่องหมายการค้า
  • กองป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
  • กองพัฒนาความร่วมมือทรัพย์สินทางปัญญา
  • กองลิขสิทธิ์
  • กองส่งเสริมการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา
  • กองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
  • กองสิทธิบัตร
  • กองสิทธิบัตรออกแบบ
  • ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • กลุ่มตรวจสอบภายใน
  • กลุ่มพัฒนาระบบราชการ

อ้างอิง

[แก้]
  1. กรมทรัพย์สินทางปัญญา, รายงานประจำปี 2566 กรมทรัพย์สินทางปัญญา, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2567
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๖๐, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  3. กรมทรัพย์สินทางปัญญา, ประวัติความเป็นมา, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2567
  4. กรมทรัพย์สินทางปัญญา, อำนาจหน้าที่, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2567
  5. กรมทรัพย์สินทางปัญญา, โครงสร้างกรม, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2567

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]