จุลศีล
จุลศีล แปลว่า ศีลอย่างเล็กน้อย หมายถึงศีลที่มีระดับพื้นฐาน ที่ควรประพฤติงดเว้น เพื่อขจัดอกุศลอย่างหยาบ เช่นการงดเว้นจากฆ่าสัตว์ เป็นต้น จุลศีลนี้ คือศีลที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงในหลายพระสูตร เช่น พรหมชาลสูตร (เถรวาท) โดยทรงเตือนมิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย มิให้ยินดีหรือเหลิงเมื่อมีผู้สรรเสริญ แล้วตรัสว่า คนอาจกล่าวชมเชยพระองค์ด้วยศีล 3 ชั้น คือศีลอย่างเล็กน้อย (จุลศีล) ศีลอย่างกลาง (มัชฌิมศีล) และศีลอย่างใหญ่ (มหาศีล) [1] หรือในสามัญญผลสูตร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแก่พระเจ้าอชาตศัตรูว่าพระภิกษุต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ซึ่งพระองค์ทรงบรรยายว่าพระภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้รัษาทั้งจุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล นอกจากนี้ยังทรงแสดงไว้ในพระสูตรอื่น ๆ เช่น เกวัฏฏสูตร เป็นต้น
จุลศีล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงในพรหมชาลสูตร (เถรวาท) มีรายละเอียดดังที่ปรากฏในพรหมชาลสูตร (เถรวาท) ของพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค มีดังต่อไปนี้
- พระสมณโคดม ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
- พระสมณโคดม ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
- พระสมณโคดม ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกลเว้นจากเมถุน ซึ่งเป็นเรื่องของชาวบ้าน
- พระสมณโคดม ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จพูดคำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อ ไม่พูดลวงโลก
- พระสมณโคดม ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่บอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่บอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกกัน สมานคนที่แตกกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนที่พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนที่พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนที่พร้อมเพรียงกันกล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน
- พระสมณโคดม ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนโดยมากรักใคร่ชอบใจ
- พระสมณโคดม ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อพูดถูกกาล พูดคำจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร.
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
- พระสมณโคดม ฉันอาหารหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดการฉันในเวลาวิกาล
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึก
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการทัดทรงประดับตกแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องประเทืองผิว ซึ่งเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากที่นอนที่นั่งสูง และที่นอนที่นั่งใหญ่
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับธัญญชาติดิบ
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับสตรีและเด็กหญิง
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับนาและไร่
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเป็นทูตและการรับใช้
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการซื้อและการขาย
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยโลหะ และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวงและการตลบตะแลง
- พระสมณโคดม เว้นขาดจากการฟัน การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น การจี้ [2]
อ้างอิง
[แก้]บรรณานุกรม
[แก้]- พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1
- พระพุทธโฆสะ. สุมังคลวิลาสินี ใน พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.