จิ๋ว พิจิตร
จิ๋ว พิจิตร | |
---|---|
เกิด | 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ดิเรก เกศรีระคุปต์ |
เสียชีวิต | 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553 (87 ปี) โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร |
คู่สมรส | ประมวล เกศรีระคุปต์ ขวัญจิต ศรีประจันต์ |
อาชีพ | นักแต่งเพลง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2497 - 2553 (56 ปี) |
จิ๋ว พิจิตร (16 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 - 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553) นักแต่งเพลงชาวไทย ที่มีผลงานมีชื่อเสียงจำนวนมาก รวมทั้งเพลงแหล่ และเพลงบวชนาค เจ้าของฉายาปรมาจารย์เพลงแหล่ [1]
ประวัติ
[แก้]จิ๋ว พิจิตร มีชื่อจริงคือ ดิเรก เกศรีระคุปต์ เกิดที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เป็นบุตรของ นายเปรื้อง และ นางสงวน เกศีระคุปต์ มีพี่น้องด้วยกัน 6 คน โดยจิ๋วเป็นคนโต สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนปัทมโรจน์ราษฎร์บำรุง อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง จากนั้นจึงเป็นครูประชาบาลเพียงปีกว่าๆ ก็ลาออก สมัยเป็นครูสอนหนังสือเคยแต่งเพลงเชียร์กีฬาประจำโรงเรียนไว้มากมาย และยังเคยร้องเพลงประกวดตามงานวัดในจังหวัดอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียง ได้รับรางวัลชนะเลิศมาหลายครั้ง
จิ๋ว พิจิตร ได้คลุกคลีอยู่กับคณะละคร ส. นาฏศิลป์ ที่อำเภอปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาได้เป็นนักแสดงตัวตลกของคณะลิเกแก้วมณี ที่อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และเริ่มใช้ชื่อ "จิ๋ว พิจิตร" นับแต่นั้นมา จนกระทั่ง บุญสม อยุธยา หรือ พร ภิรมย์ ชักชวนจิ๋วเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้าสู่วงการเพลง โดยให้การสนับสนุนและสอนวิธีการแต่งเพลง
งานเพลงแรกในชีวิตของ จิ๋ว พิจิตร คือ "ชายไร้โบสถ์" ขับร้องโดย สมยศ ทัศนพันธุ์ บันทึกแผ่นเสียงเมื่อปี พ.ศ. 2497 [2] ต่อมาได้แต่งเพลงอีกเป็นจำนวนกว่า 2,000 เพลง โดยเพลงที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดี มีทั้งเพลงแหล่ เพลงบวชนาค และเพลงทั่วไป ซึ่งมีนักร้องต้นฉบับและนักร้องคนอื่นๆ นำมาขับร้องใหม่อีกหลายครั้ง ได้แก่ "21 มิถุนาขอลาบวช", "แบ่งสมบัติ", "ปีหน้าแต่งแน่", "หน้าด้านหน้าทน" ขับร้องโดย ไวพจน์ เพชรสุพรรณ "กับข้าวเพชฌฆาต", "ม่ายขันหมาก", "ผัวฉันหาย" ขับร้องโดย ขวัญจิต ศรีประจันต์ "เดือนคว่ำเดือนหงาย" ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ "สุโขทัยระทม" ขับร้องโดย เพชร โพธาราม "สายัณห์คอยแฟน" ขับร้องโดย สายัณห์ สัญญา และ "คาถามหานิยม" ขับร้องโดย ยอดรัก สลักใจ เป็นต้น[1]
ครูจิ๋ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์แนวเพลงเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะเพลงงานบวชนาค ถือเป็นเพลงที่มีเนื้อหาสาระ สะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวชนบท และเชิดชูการทดแทนบุญคุณของบุพการีผู้มีพระคุณในการบวช
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]ครูจิ๋ว พิจิตร สมรสกับ นางประมวล เกศรีระคุปต์ มีบุตรทั้งสิ้น 7 คน และมีบุตรกับขวัญจิต ศรีประจันต์1คน คือ กานต์ เสร็จกิจ จนกระทั่งช่วงบั้นปลายชีวิต ครูจิ๋วเริ่มมีสภาพร่างกายเจ็บปวด แม้ตนเองจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากคนลูกทุ่งส่วนมาก รวมถึงศิษย์และนักร้องลูกทุ่งที่ครูจิ๋วแต่งเพลงไว้ให้ แต่ก็ได้รับการดูแลจากลูกๆ อย่างเอาใจใส่
ครูจิ๋วเสียชีวิต เมื่อช่วงค่ำคืนของวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เนื่องจากกระแสปอดติดเชื้อ และเกิดโรคแทรกซ้อน ภายหลังเข้ารับการรักษาตัวที่ห้องไอซียู วชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร สิริอายุได้ 87 ปี 3 เดือน[3]
ผลงาน
[แก้]- ต่อมาได้แต่งเพลงอีกเป็นจำนวนกว่า 2,000 เพลง โดยเพลงที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดี มีทั้งเพลงแหล่ เพลงบวชนาค และเพลงทั่วไป ซึ่งมีนักร้องต้นฉบับและนักร้องคนอื่นๆ นำมาขับร้องใหม่อีกหลายครั้ง อาทิ
- "ชายไร้โบสถ์" ขับร้องโดย สมยศ ทัศนพันธุ์ บันทึกแผ่นเสียงเมื่อปี พ.ศ. 2497 [2]
- "21 มิถุนาขอลาบวช", "แบ่งสมบัติ", "ปีหน้าแต่งแน่", "หน้าด้านหน้าทน" ขับร้องโดย ไวพจน์ เพชรสุพรรณ
- "กับข้าวเพชฌฆาต", "ม่ายขันหมาก", "ผัวฉันหาย" ขับร้องโดย ขวัญจิต ศรีประจันต์
- "เดือนคว่ำเดือนหงาย" ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ
- "สุโขทัยระทม" ขับร้องโดย เพชร โพธาราม
- "สายัณห์คอยแฟน" ขับร้องโดย สายัณห์ สัญญา
- "คาถามหานิยม" ขับร้องโดย ยอดรัก สลักใจ เป็นต้น[1]
- "หม้ายขันหมาก" ขับร้องโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์
ผลงานภาพยนตร์
[แก้]- มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. (2545)
รางวัลเกียรติยศ
[แก้]- รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเพลง "กล่อมลูก" ขับร้องโดย ขวัญจิต ศรีประจันต์
- รางวัลพระราชทานรางวัลเพลงดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ในเพลง "กับข้าวเพชฌฆาต" ขับร้องโดย ขวัญจิต ศรีประจันต์
- ได้รับเกียรติสูงสุดจากคณะกรรมการโครงการพัฒนาดอยตุง โดย พลเอก อรุณ ปริวัติธรรม ซึ่งเป็นประธานอำนวยการจัดทำเพลงถวายสดุดีสมเด็จย่า ครบ 90 พรรษา เพลงที่แต่ง คือ "สมเด็จย่า" ขับร้องโดย ยอดรัก สลักใจ[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "บทความ จิ๋ว พิจิตร ครูเพลงที่โลกลืม จาก สยามดารา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-23. สืบค้นเมื่อ 2011-06-24.
- ↑ 2.0 2.1 "ความหลังในวัยเยาว์ กับผู้ชายชื่อ 'จิ๋ว พิจิตร' โดย แคน สาริกา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-09. สืบค้นเมื่อ 2011-06-24.
- ↑ 3.0 3.1 "อาลัยครูจิ๋ว พิจิตร ปรมาจารย์เพลงลูกทุ่งผู้ล่วงลับ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-26. สืบค้นเมื่อ 2011-06-24.