จิตรกรชั้นครู
จิตรกรชั้นครู (อังกฤษ: Old Master) เป็นคำที่ใช้เรียกภาพเขียนที่เป็นงานเขียนของจิตรกรที่ถือกันว่าเป็นจิตรกรชั้นครู ผู้มีงานเขียนก่อราวปี ค.ศ. 1800 ส่วน “ภาพพิมพ์ของจิตรกรชั้นครู” (old master print) คืองานพิมพ์ต้นฉบับ (เช่นengraving หรือ etching) ของจิตรกรชั้นครูที่สร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน และเช่นเดียวกับ “ภาพวาดเส้นของจิตรกรชั้นครู”
ความหมาย
[แก้]ตามทฤษฎีแล้วจิตรกรชั้นครูควรจะเป็นจิตรกรผู้ได้รับการฝึกอย่างเป็นทางการ, เป็นประธานของสมาคมจิตรกรของท้องถิ่น และเขียนงานเป็นอิสระ แต่ตามความเป็นจริงแล้วภาพเขียนที่เขียนโดยลูกศิษย์หรือห้องเขียนภาพของจิตรกรชั้นครูก็อยู่ภายในเครือข่ายนี้ด้วย ฉะนั้นการจัดจิตรกรในกลุ่มนี้จึงมิได้อยู่ฝีมือของจิตรกร แต่อยู่ที่เวลาที่เขียน
ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ปีที่เริ่มเรียกว่าเป็น “จิตรกรชั้นครู” เริ่มขึ้นราวคริสต์ทศวรรษ 1450 หรือ 1470 ภาพเขียนก่อนหน้านั้นถือว่าเป็นภาพเขียน “บรรพกาล” (primitives) แต่ความแตกต่างดังว่าก็เลิกใช้กันไปแล้ว ความหมายเดิมในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ดของต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นิยามว่า “'ครูบา' (master) คือผู้มีชีวิตในช่วงเวลาก่อนที่จะเรียกว่า 'สมัยใหม่' ทีส่วนใหญ่ใช้กับจิตรกรตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 หรือ 17” คำว่า “จิตรกรชั้นครู” ปรากฏเป็นครั้งแรกในสารานุกรมของปี ค.ศ. 1840 ที่กล่าวว่า: “ในฐานะจิตรกรเขียนภาพสัตว์ เอ็ดวิน แลนด์ซีเออร์มีความสามารถเหนือกว่า 'จิตรกรชั้นครู' ไม่ว่าผู้ใด”
คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันมีในภาษาดัตช์, ฝรั่งเศส และ เยอรมัน ดัตช์อาจจะเป็นชาติแรกที่ใช้คำว่า “จิตรกรชั้นครู” ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ส่วนใหญ่จะหมายถึงจิตรกรของยุคทองของเนเธอร์แลนด์ของคริสต์ศตวรรษก่อนหน้านั้น “Les Maitres d'autrefois” ของปี ค.ศ. 1876 โดยเออแฌน โฟรมองแต็ง (Eugene Fromentin) อาจจะช่วยทำให้ความคิดนี้แพร่หลายขึ้น ในภาษาฝรั่งเศสจึงใช้คำว่า “vieux maitres” งานสะสมศิลปะอันมีชื่อของเดรสเดนที่หอจิตรกรรมชั้นครูแห่งเดรสเดนเป็นงานสะสมของพิพิธภัณฑ์เพียงสองสามแห่งที่ใช้คำว่า “จิตรกรรมชั้นครู” ในชื่อสถาบันโดยตรง แต่สถาบันอื่นก็ใช้แต่อาจจะเพียงสำหรับแผนก หรือ กอง งานสะสมศิลปะของเดรสเดนหยุดลงในภาพเขียนของสมัยบาโรก
จุดสิ้นสุดของจิตรกรชั้นครูนั้นไม่แน่นอน—แต่ที่แน่นอนคือฟรันซิสโก โกยา (ค.ศ. 1746–1828) ถือว่าเป็นจิตรกรชั้นครู ผู้มีงานเขียนและงานพิมพ์ต่อมาจนถึง ค.ศ. 1828 หรืออาจจะใช้กับจอห์น คอนสตาเบิล (ค.ศ. 1776–1837) หรือ เออแฌน เดอลาครัวซ์ (ค.ศ. 1798–1868).
นักประวัติศาสตร์ศิลป์มักจะเลี่ยงใช้คำว่าจิตรกรชั้นครูเพราะมีความหมายที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะเมื่อมีการวิจัยภาพเขียน แต่ยังคงใช้คำว่า “ภาพพิมพ์ของจิตรกรชั้นครู” (old master print) และ “ภาพวาดเส้นของจิตรกรชั้นครู” กันอยู่ แต่คำว่าจิตรกรชั้นครูยังเป็นคำที่ยังคงใช้กันในวงการการค้าขายศิลปะ ห้องประมูลภาพ (Auction house) ยังคงใช้ในการแบ่งงานสำหรับการประมูล เช่น “งานจิตรกรรมชั้นครู”, “จิตรกรรมของคริสต์ศตวรรษที่ 19” และ “จิตรกรรมสมัยใหม่” คริสตีส์นิยามว่าเป็นจิตรกรที่มีงานเขียน “ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19”
จิตรกรจากสมัยแรกๆ ที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์สามารถแยกออกมาเป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นผู้ใดอย่างเฉพาะเจาะจงได้ ก็ได้รับการขนานนามว่าเป็น 'ครูบา' (Master) ต่างๆ เช่น “ครูบาอี.เอส.” (Master E.S.) ชาวเยอรมัน จากการใช้อักษรย่อ 'อี.เอส.' บนงานหลายชิ้นที่ทำ ผู้มีงานระหว่างราว ค.ศ. 1420 ถึงราว ค.ศ. 1468, “ครูบาแห่งเฟลมาลล์” (Master of Flémalle) ที่ตั้งตามชื่อบริเวณที่เขียนภาพ, “ครูบาแห่งแมรีแห่งเบอรกันดี” ที่ตั้งตามชื่อผู้อุปถัมภ์, “ครูบาแห่งละติน 757” (Master of Latin 757) ที่ตั้งตามชื่อชั้นหนังสือที่เขียนภาพวิจิตร และอื่นๆ หรือถ้าไม่ทราบว่าเป็นจิตรกรผู้ใดก็อาจจะบรรยายว่า “ไม่ทราบนามครูบา” (Unknown Master)
รายนามจิตรกรชั้นครู
[แก้]รายนามข้างล่างเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจิตรกรที่ถือกันว่าเป็นจิตรกรชั้นครู:
- จอตโต ดี บอนโดเน (อิตาลี, ค.ศ. 1267-ค.ศ. 1337)
- เลโอนาร์โด ดา วินชี (อิตาลี, ค.ศ. 1452-ค.ศ. 1519)
- อัลเบรชท์ ดือเรอร์ (เยอรมัน, ค.ศ. 1471-ค.ศ. 1528)
- ไมเคิล แอนเจโล (อิตาลี, ค.ศ. 1475-ค.ศ. 1564)
- ทิเชียน (อิตาลี, c.1477-ค.ศ. 1576)
- ซานโดร บอตติเชลลี (อิตาลี, ค.ศ. 1445-ค.ศ. 1510)
- ราฟาเอล (อิตาลี, ค.ศ. 1483-ค.ศ. 1520)
- ฮันส์ โฮลไบน์ (ผู้ลูก) (เยอรมัน, ค.ศ. 1497-ค.ศ. 1543)
- จาโคโป ทินโทเรตโต (อิตาลี, ค.ศ. 1518-ค.ศ. 1594)
- เปียเตอร์ บรูเกล (ผู้พ่อ) (เฟล็มมิช, c.1525-ค.ศ. 1569)
- เพาโล เวโรเนเซ (อิตาลี, c.1528-ค.ศ. 1588)
- เอลเกรโก (สเปนเชื้อสายกรีก, 1541-ค.ศ. 1614)
- ฟรันส์ ฮาลส์ (ดัตช์, ค.ศ. 1580-ค.ศ. 1666)
- คาราวัจโจ (อิตาลี, ค.ศ. 1573-ค.ศ. 1610)
- ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ (เฟล็มมิช, ค.ศ. 1577-ค.ศ. 1640)
- นิโคลาส์ ปูแซน (ฝรั่งเศส, ค.ศ. 1594-ค.ศ. 1665)
- เดียโก เบลัซเกซ (สเปน, ค.ศ. 1599-ค.ศ. 1660)
- แรมบรังด์ (ดัตช์, ค.ศ. 1606-ค.ศ. 1669)
- โยฮันส์ เวร์เมร์ (ดัตช์, ค.ศ. 1632-ค.ศ. 1675)
- จัมบัตติสตา ปิตโตนี (ค.ศ. 1687-ค.ศ. 1767)
- จิโอวานนิ บัตติสตา ติเอโปโล (อิตาลี, ค.ศ. 1691-ค.ศ. 1770)
- โจชัว เรย์โนลด์ส (อังกฤษ, ค.ศ. 1723-ค.ศ. 1792)
- ฟรันซิสโก โกยา (สเปน, ค.ศ. 1746-ค.ศ. 1828)