ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าจันทรคุปตเมารยะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จันทรคุปตเมารยะ)
พระเจ้าจันทรคุปตเมารยะ
Mauryan Emperor
Indian postage stamp depicting Chandragupta Maurya
ครองราชย์พ.ศ. 221-พ.ศ. 245
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าธนนันทะ
รัชกาลถัดไปพระเจ้าพินทุสาร
ประสูติพ.ศ. 203
แคว้นมคธ
สวรรคตพ.ศ. 245 (พระชนมพรรษา 42 พรรษา)
พระอัครมเหสีบุตรีของเซลลูคัส I นิเคเตอร์ , พระนางทุรฮารา
พระราชบุตรพระเจ้าพินทุสาร
ราชวงศ์ราชวงศ์โมริยะ
พระราชมารดาพระนางมูรา
ศาสนาVedic Hindu, Jain

พระเจ้าจันทรคุปตะ (สันสกฤต: चन्द्रगुप्त) หรือ จันทคุตตะ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมารยะ ผู้รวบรวมแผ่นดินอินเดียให้เป็นปึกแผ่น พระราชบิดาของ พระเจ้าพินทุสาร และพระอัยกาของ พระเจ้าอโศกมหาราช

ภูมิหลังและพระราชประวัติ

[แก้]

ชาติกำเนิดของพระเจ้าจันทรคุปต์ยังไม่แน่ชัดมากนัก[1] ในตำนานพระพุทธศาสนากล่าวว่าพระองค์มีเชื้อสายเป็นกษัตริย์ที่กำพร้าตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากครอบครัวเกษตรกร[2] บ้างกล่าวว่าเป็นสามัญชน บุตรของผู้นำหมู่บ้าน นามสกุล “เมารยะ” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า Mora ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “นกยูง”[3]

การสร้างจักรวรรดิและปราบดาภิเษก

[แก้]
ภาพจำลองจักรวรรดิเมารยะ (cr: factsninfo)

จากตำรามหาวรรศะ กล่าวว่า พระเจ้าจันทรคุปต์ร่ำเรียนและฝึกฝนวิชาจากพราหมณาจารย์จาณักยะ[4] และเริ่มสร้างจักรวรรดิโดยเริ่มตั้งต้นที่เมืองตักศิลา ในช่วง พ.ศ. 212[5] พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่ทำสงครามขยายอาณาเขตยึดช่วงภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (เทือกเขาฮินดูกูฏ ในปัจจุบัน) ถอนกำลังทัพกลับกรีก และแต่งตั้งชาวกรีกมาเป็นเจ้าเมืองแทน จึงสบโอกาสให้พระเจ้าจันทรคุปต์เริ่มชิงดินแดนอินเดียกลับมา จากนั้นจึงทำการโค่นบัลลังก์พระเจ้ามหาปัทมนันทะและยึดเมืองปาฏลีบุตรในช่วง พ.ศ. 212[6] ต่อมาเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเสด็จสวรรคต พระเจ้าจันทรคุปต์จึงเริ่มทำสงครามรวบรวมแผ่นดินอินเดีย จนกลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

ช่วง พ.ศ. 212เซลลูคัส I นิเคเตอร์ เริ่มสร้างอาณาจักรของตัวเองโดยมีเมืองหลวงคือบาบิโลน และมีการทำสงครามยึดแผ่นดินช่วงฝั่งตะวันออกของเอเชีย (ปากีสถานในปัจจุบัน) ทำให้พระเจ้าจันทรคุปต์จำเป็นต้องทำสงครามชิงดินแดน ในการโจมตีครั้งแรก พระเจ้าจันทรคุปต์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ประกอบกับคำแนะนำของพราหมณาจารย์จาณักยะ ทำให้คิดกลศึก “ป่าล้อมเมือง” จากการได้ยินคำสอนของยาย – หลานคู่หนึ่งขณะกินขนมร้อนๆ ซึ่งกลศึกนี้ทำให้พระเจ้าจันทรคุปต์ได้รับชัยชนะ อินเดียได้ดินแดน เช่น อราโชเซีย (กันดาหา ประเทศอัฟกานิสถาน) เกโดรเซีย (บาโลชิสถาน ประเทศปากีสถาน) และ ปาโรปมิศานต์ (กันดาระ ประเทศปากีสถาน) เป็นต้น มีการทำสงครามกันหลายครั้ง พระเจ้าจันทรคุปต์ก็สามารถขยายอาณาเขตออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผลจากสงครามนั้น ทำให้เซลลูคัส I นิเคเตอร์ หวาดกลัวในแสนยานุภาพของพระเจ้าจันทรคุปต์ จึงมีการทำสนธิสัญญาสงบศึก และส่งพระราชธิดามาอภิเษกกับพระเจ้าจันทรคุปต์[7] หากแต่ไม่มีทายาทสืบสันตติวงศ์ พระเจ้าจันทรคุปต์จึงอภิเษกกับพระนางทุรฮารา ชายาอีกพระองค์ ซึ่งพระนางคือพระราชมารดาของพระเจ้าพินทุสารนั่นเอง

เศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรม

[แก้]

มีการสันนิษฐานว่าในสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ใช้ระบบการค้าแบบผูกขาด จากโบราณวัตถุต่างๆ พบว่ามีการเริ่มใช้ระบบชลประทาน การทำเหมืองแร่ มีการสร้างถนนสำหรับสัญจรทางการค้าไปยังต่างแคว้น[8] และการสร้างอนุสาวรีย์[9] แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ามีความรุ่งเรื่องทางศิลปะมากน้อยเพียงใด รวมถึงเรื่องการรับอิทธิพลทางศิลปะจากกรีกและเอเชียตะวันตกนั้นจริงหรือไม่[10]

บั้นปลายพระชนม์ชีพ

[แก้]

จากบันทึกของศาสนาเชน หลังจากสละราชบัลลังก์แก่พระเจ้าพินทุสาร ราชโอรสแล้ว พระเจ้าจันทรคุปต์ทรงออกผนวชและเสด็จสวรรคตในช่วง พ.ศ. 245[11]

การกล่าวถึงในยุคร่วมสมัย

[แก้]

“พระเจ้าจันทรคุปต์” ปรากฏในละครบังกลาเทศ ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ เช่น

ละครโทรทัศน์ จันทรคุปตเมารยะ (2011) รับบทโดย รุจิราช พาวาร์ และ อาชิส ชาร์มา[12]

ละครโทรทัศน์ จันทรคุปต์ ศึกรักชิงบัลลังก์ (2016) รับบทโดย ราจาต โทกัส[13]

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2544 สำนักงานไปรษณีย์อินเดีย ยังเคยผลิตดวงตราไปรษณียากรพระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าจันทรคุปต์อีกด้วย[14]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Mookerji 1988, pp. 5-16.
  2. Mookerji 1988, pp. 13-18.
  3. Mookerji 1988, pp. 13-14.
  4. Mookerji 1988, pp. 13-18.
  5. Mookerji 1988, pp. 22-27.
  6. Mookerji 1988, p. 6.
  7. Mookerji 1988, p. 36.
  8. F. R. Allchin & George Erdosy 1995, pp. 187-194.
  9. Thomas Harrison (2009). The Great Empires of the Ancient World. Getty Publications. pp. 234–235.
  10. Frederick Asher (2015). Rebecca M. Brown and Deborah S. Hutton, ed. A Companion to Asian Art and Architecture. John Wiley & Sons. pp. 421–423.
  11. Roy 2012, pp. 61-62.
  12. "Chandragupta Maurya comes to small screen". Zee News.
  13. "Real truth behind Chandragupta's birth, his first love Durdhara and journey to becoming the Mauryan King". 17 October 2016.
  14. Commemorative postage stamp on Chandragupta Maurya, Press Information Bureau, Govt. of India