ข้ามไปเนื้อหา

พาราด็อกซ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จักรพงศ์ สิริริน)
พาราด็อกซ์ (Paradox)
ข้อมูลพื้นฐาน
ที่เกิดไทย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
แนวเพลง
ช่วงปีพ.ศ. 2537 – ปัจจุบัน
ค่ายเพลง
  • อิสเทอร์นสกาย เร็คคอร์ดส (2539)
  • จีนี่ เรคคอร์ด (2543 – ปัจจุบัน)
  • ตาต้า เร็คคอร์ดส (อัลบั้มใต้ดิน)
สมาชิก
อดีตสมาชิกพรภัฏ ชีวีวัฒน์

พาราด็อกซ์ (อังกฤษ: Paradox) เป็นวงดนตรีร็อกชาวไทย เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2537 โดยกลุ่มนิสิตจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวงที่มีเอกลักษณ์ทางการแสดงสด โดยจะมีการแสดงประกอบการเล่นดนตรี เช่น พ่นไฟ, สาดน้ำ, โยนลูกโป่งใส่คนดู ซึ่งแสดงโดยฝ่ายในวงที่เรียกว่า "โจ๊กเกอร์-ว้ากเกอร์" รับเชิญหลายคน โดยโจ๊กเกอร์-ว้ากเกอร์หลักของทางวงคือ อ๊อฟและเก่ง ช่วยทำหน้าที่ร้องประสานเสียงบนเวที

สมาชิก

[แก้]
สมาชิกหลัก
สมาชิกเสริม
  • พรภัฏ ชีวีวัฒน์ (โน้ต) - กลอง (เฉพาะในอัลบั้ม Lunatic Planet)
  • ดำ (ไม่ทราบชื่อจริง) - กลอง (เฉพาะอัลบั้มใต้ดิน)

ประวัติ

[แก้]

จุดเริ่มต้น

[แก้]

พาราด็อกซ์ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2537 เดิมเคยมีชื่อวงว่า"หอยจ๊อ"โดยต้า - อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา (ร้องนำ/กีตาร์) นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความคิดที่จะตั้งวงดนตรีเพื่อร่วมกิจกรรมภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะนักศึกษาปีที่ 1 จึงได้ชวน สอง - จักรพงศ์ สิริริน เข้ามาร่วมวงในตำแหน่งมือเบส โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวงโมเดิร์นด็อก ซึ่งเป็นวงดนตรีแนวออลเทอร์นาทิฟที่มีชื่อเสียงอีกวงหนึ่ง ทั้งสองคนได้ร่วมกันแต่งเพลงแนวลูกทุ่งชื่อเพลง "โรงหนังเก่า" ขึ้นเป็นเพลงแรก โดยเริ่มแรกสองเป็นนักร้องนําก่อนต้าภายหลังได้เปลี่ยนไปเล่นในตําแหน่งเบส ต่อมาก็ได้ โน้ต - พรภัฏ ชีวีวัฒน์ นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ เข้ามาร่วมวงในตำแหน่งมือกลอง

อัลบัมแรก

[แก้]

1 ปีต่อมา สมาชิกทั้งหมดตัดสินใจผลิตอัลบัมเป็นของตัวเอง เพื่อออกขายในงานกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะ ต้าซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงมือกีตาร์จึงได้รับตำแหน่งนักร้องนำอีกตำแหน่ง และเนื่องจากประสบปัญหาในการจัดทำอัลบัม "หอยจ๊อ" จึงได้ตัดสินใจส่งเดโมเทปเพื่อเสนอแก่ค่ายเพลง

หลังจากที่ส่งเดโมเทปอัลบั้มหอยจ๊อไปยัง อิสเทอร์นสกาย เร็คคอร์ดส ซึ่งเป็นค่ายเพลงเล็ก ๆ พวกเขาก็ได้โอกาสออกอัลบัมแรก Lunatic Planet พร้อมเปลี่ยนชื่อวงเป็น "พาราด็อกซ์" (Paradox) ด้วยซาวนด์ดนตรีและเนื้อหาเพลงที่แปลก แตกต่างจากวงดนตรีอื่น ๆ ในสมัยนั้น ทำให้พาราด็อกซ์ได้รับความนิยมพอสมควร โดยมีเพลงดังอย่าง นักมายากล, ไก่ และ โรตีที่รัก โน้ตจึงได้ชักชวนให้ บิ๊ก - ขจัดภัย กาญจนาภา มาช่วยเล่นกีตาร์เสริม และได้กลายเป็นสมาชิกวงอย่างเป็นทางการ แต่ต่อมาไม่นาน อิสเทอร์นสกาย เร็คคอร์ดส ก็ได้ปิดตัวลง โน้ตซึ่งสำเร็จการศึกษาจึงตัดสินใจแต่งงาน และเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐ รวมถึงมีสมาชิกอีก 2 คนที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา พาราดอกซ์จึงว่างเว้นจากงานดนตรีไปกว่า 1 ปีเต็ม

หลังจากจากที่อิสเทอร์นสกาย เร็คคอร์ดส ได้ปิดตัวลง สมาชิกที่ยังเหลืออยู่จึงได้หันไปผลิตอัลบัม "แมลงวันสเปน" โดยจัดทำเป็นอัลบัมใต้ดิน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งชิ้นงานก่อนจบการศึกษา โดยบันทึกเสียงภายในห้องนอนของต้า โดยจัดทำออกมาเพียง 1,000 ม้วน ภายใต้ค่ายเพลงชื่อ ตาต้า เร็คคอร์ดส และอัลบัม Paradox & My Friends ซึ่งได้รวมเอาผลงานของเพื่อน ๆ ของสมาชิกในวงเอาไว้ด้วย

ก้าวสู่จีนี่เรคคอร์ดส

[แก้]

ต่อมาพาราด็อกซ์ได้มีโอกาสทำเพลงเพื่อรวมอยู่ในอัลบัม Intro 2000 ร่วมกับศิลปินอื่นในสังกัดจีนี่ เรคคอร์ด ซึ่งเป็นช่วงที่พาราด็อกซ์ยังขาดมือกลอง ในอัลบัมนี้จึงได้รุ่นน้องชื่อดำมาตีกลองแทนโน้ตให้ในเพลง "ท่ามกลาง" ไม่นานหลังจากอัลบัม Intro 2000 ทางพาราด็อกซ์ได้รับโอกาสให้ทำอัลบัมเต็มอีกครั้ง แต่เนื่องจากโน้ตยังอยู่ต่างประเทศ ต้าจึงชักชวน โจอี้ - เสรฐพร กฤดากร ณ อยุธยา ญาติผู้น้อง เข้ามาร่วมวงในตำแหน่งมือกลอง และยังได้ชวนเพื่อนที่มีส่วนร่วมในงานดนตรีของพวกเขามาตั้งแต่อัลบัม Lunatic Planet คือ เก่ง - นัทธา กมลรัตนกุล มาช่วยร้องคอรัส และเพิ่มสีสันในการแสดงสด และ อ๊อฟ - ชาญณรงค์ วังเย็น มาช่วยร้องประสานแบบโหด ๆ ทำให้เกิดวงพาราด็อกซ์ที่สมบูรณ์

ในที่สุดพาราด็อกซ์ก็ได้ปล่อยอัลบัมเต็มออกมาในชื่อชุด Summer โดยมี "น้องเปิ้ล" เป็นเพลงเปิดตัว และ "ฤดูร้อน" ซึ่งเป็นเพลงที่ทำให้ทุกคนรู้จักพาราด็อกซ์ในวงกว้าง รวมถึงเพลงที่นักศึกษาวิชาทหารรู้จักกันดีอย่าง ร.ด.Dance และภายในปีเดียวกันนั้น พาราด็อกซ์ก็ได้ออกอัลบัม แค้นผีนรก ซึ่งเป็นอัลบัมใต้ดินขึ้นมาอีก 1 ชุด ซึ่งถือเป็นอัลบัมใต้ดินชุดสุดท้ายของวง

ในยุคที่วงอิสระเป็นที่ยอมรับ หรือที่เรียกกันว่า ยุคอินดี้นั้น มีส่วนทำให้วงพาราด็อกซ์เป็นที่ยอมรับในตลาด จนเกิดอัลบัมพิเศษที่ชื่อ On The Beach ขึ้น โดยนำเพลงจากอัลบัม Summer และ Lunatic Planet มาร้องใหม่ และให้ศิลปินรับเชิญมาช่วยเรียบเรียงดนตรีในแบบอคูสติก พร้อม 2 เพลงใหม่คือเพลง ดาว และ สงสัย

ต่อมาพาราดอกซ์ได้ออกอัลบัม On The Rainbow ซึ่งแตกต่างจากอัลบัมก่อนหน้า เนื่องจากเพลงส่วนใหญ่ลดความแรงลงไปมาก แต่ทดแทนมาด้วยฝีมือที่พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น โดยเน้นการทำดนตรีและท่วงทำนองที่สวยงาม พร้อมบทเพลงที่ไพเราะอย่างเพลง รุ้ง และ เศษ หรือ กวีบทเก่า ที่นำบทเพลงของวงนูโว มาเรียบเรียงใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง

นับจากอัลบัม On The Rainbow นี้ บทบาทในการทำอัลบัมของเก่งและอ๊อฟจะลดลงไป แต่ทั้งสองคนก็ยังมีส่วนช่วยในการทำเพลงอยู่เบื้องหลัง และเป็นกำลังสำคัญในการแสดงคอนเสิร์ตของพาราด็อกซ์อยู่เสมอ ๆ

คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรก

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2546 แฟตเรดิโอ ได้จัดให้มีคอนเสิร์ตใหญ่ของพาราด็อกซ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน ที่อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ในชื่อ Fat Live 4 : The Paradox Circus ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างอบอุ่น พร้อมแขกรับเชิญพิเศษคือ ก้อย แซตเทอร์เดย์เซย์โกะ, เล็ก - สุรชัย กิจเกษมสิน, ผิง Club F และวงเอช และในปีเดียวกันพาราด็อกซ์ก็ได้ออกอัลบัม Freestyle ที่มีเพลงดังอย่าง Sexy, ทาส, บอลลูน พร้อมทั้งนำเพลงนักมายากล จากอัลบัม Lunatic Planet กลับมาทำใหม่อีกครั้ง

หลังจากอัลบัม Free Style เพียงไม่กี่เดือน พาราด็อกซ์ก็มีผลงานพิเศษที่ร่วมกับศิลปินอื่นอีกครั้งในชื่อ ลิทเทิล ร็อก โปรเจกต์ ซึ่งเป็นการนำเพลงของวงในตำนานอย่าง ไมโคร กลับมาทำใหม่ตามแบบฉบับของแต่ละวงในอัลบัมนี้ ซึ่งพาราด็อกซ์มีผลงานอยู่ 2 เพลงคือ มันก็ยังงง งง และ รักคุณเข้าแล้ว และได้มีคอนเสิร์ตที่ชื่อ Rock Size S ที่ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี

เมื่ออัลบัมเก่า ๆ ของพาราด็อกซ์เริ่มหายาก จึงมีการทำอัลบัม Hit Me ขึ้น ซึ่งเป็นผลงานรวมเพลงของพาราด็อกซ์ตั้งแต่อัลบัม Summer เป็นต้นมา และพาราด็อกซ์ก็ได้มีโอกาสทำเพลงประกอบภาพยนตร์ วัยอลวน4 โดยนำเพลงดังในอดีตอย่าง เธอที่รัก กลับมาเรียบเรียงใหม่ รวมถึงการนำเพลง Let's Go Rider Kick ซึ่งเป็นเพลงเปิดตัวของ ไอ้มดแดง V.1 มาเรียบเรียงใหม่เพื่อใช้สำหรับงาน ไอ้มดแดง Live Show In Bangkok

10 ปี พาราด็อกซ์

[แก้]

หลังจากเว้นช่วงจากการทำอัลบั้มเต็มไป 3 ปี พาราด็อกซ์ก็ได้กลับมาอีกครั้งกับอัลบัม X (10 Years After) ซึ่งเป็นผลงานที่ออกมาในช่วงครบรอบ 10 ปีของทางวง อัลบัมนี้มีการเพิ่มเพลงโบนัสถึง 12 เพลง รวมกับเพลงปกติอีก 10 เพลง เพลงทั้งหมดในอัลบัมนี้จึงมีถึง 22 เพลง เพลงที่เป็นที่รู้จักในอัลบัมนี้คือเพลง ผงาดง้ำค้ำโลก ซึ่งเป็นเพลงที่มีการนำคำต่าง ๆ มาพลิกแพลงจนกลายมาเป็นเพลงที่มีมุมมองที่แตกต่างจากเพลงทั่ว ๆ ไป, "ส่งรักส่งยิ้ม" ซึ่งมีเนื้อหาที่ชวนให้ทุกคนหันหน้าสร้างรอยยิ้มให้กัน พร้อมทั้งเพลงจังหวะสนุก ๆ แบบย้อนยุคอย่าง "คิด" และ "มองตา" ส่วนเพลงโบนัสจะประกอบด้วยเพลงแนวทดลองโดยสมาชิกวงแต่ละคน เช่น "Escape" "นั่งยาง" และมีการนำเพลงใต้ดินมาใส่ไว้ เช่น "โรงหนังเก่า" ซึ่งเป็นเพลงแรกที่ต้าและสองแต่งขึ้นมา

และในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 พาราด็อกซ์ก็ได้ออกอัลบัมพิเศษในชื่อว่า Paradox In Paradise ซึ่งเป็นการนำเพลงตั้งแต่อัลบัม On The Rainbow มาร้องใหม่ และเรียบเรียงดนตรีในแบบเบา ๆ โดยศิลปินรับเชิญอีกครั้ง พร้อมด้วยเพลงใหม่ที่ชื่อใครสักคน และเพลงสิงห์รถบรรทุก ซึ่งเป็นเพลงที่มีอยู่ในซีดีแบบ Special Edition เท่านั้น

เดือนเมษายนในปีเดียวกัน พาราด็อกซ์ได้มีผลงานเขียนออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกชื่อ บันทึกลึกลับ Paradox X ซึ่งต้าได้รวบรวมประสบการณ์ระหว่างการทำงานในอัลบัม X (10 Years After) มาเขียนลงหนังสือเพื่ออธิบายถึงที่มาของแต่ละเพลง รวมถึงขั้นตอนการทำงานเบื้องหลังต่าง ๆ ภายในอัลบัมนี้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 วงพาราด็อกซ์ได้ออกอัลบัมใหม่ที่มีชื่อว่า Parade โดยรวมเพลงที่เป็นเพลงยอดนิยมในอดีตมารวมไว้ในอัลบัม และเพลงที่ไม่ได้อยู่ในอัลบัมของพาราด็อกซ์มาก่อนอย่างเพลง กอดฉันไว้, เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ), เรดิโอ และ รสชาติแห่งความรัก

ในปี พ.ศ. 2554 วงพาราด็อกซ์ได้ปล่อยซิงเกิ้ลชื่อว่า หรรษาราตรี ออกมาเป็นซิงเกิ้ลแรกสำหรับอัลบัมที่จะออกในปี พ.ศ. 2555 และเพลงซักซี้ดนึง ประกอบภาพยนตร์เรื่อง ห่วยขั้นเทพ รวมถึงออกอัลบัมพิเศษชื่อ The Love Scene เป็นอัลบัมรวมเพลงประกอบภาพยนตร์ และล่าสุดได้ปล่อยซิงเกิ้ลเพลง คนบนฟ้า และ ปลายสายรุ้ง ซึ่งเป็นเพลงที่อยู่ในอัลบัม Day Dreamer ที่วางแผนในช่วงเดือนธันวาคม

ในปี พ.ศ. 2556 วงพาราด็อกซ์ได้ปล่อยเพลงแนวร็อกและอินดี้ออกมาใหม่ ได้แก่ ไม่มีเธอ (กล่องดวงใจ) ซึ่งออกในช่วงเดือนมิถุนายน และในเดือนพฤศจิกายน ได้ปล่อยเพลง หลุมศพปลาวาฬ ที่ให้ข้อคิดและความเพลิดเพลินไปกับเพลงที่มีคำหลายคำที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาปะปนกันอย่างสนุกสนาน

ผลงาน

[แก้]

ด้านล่างนี้แสดงผลเพียงผลงานอัลบัมสตูดิโอของพาราด็อกซ์ อัลบัมอื่น ๆ ดูบทความที่ รายชื่อผลงานของพาราด็อกซ์

อัลบัมสตูดิโอ

[แก้]
  • 16 ธันวาคม 2539 - Lunatic Planet
  • 1 พฤษภาคม 2543 - Summer (วางจำหน่ายใหม่ พ.ศ. 2556, พ.ศ. 2558, พ.ศ. 2562(แผ่นทอง ราคา 199 บาท) และรีมาสเตอร์ พ.ศ. 2562 ในรูปแบบซีดี Hi-res(ราคา 799 บาท) และแผ่นเสียง)
  • 1 พฤศจิกายน 2545 - On The Rainbow (วางจำหน่ายใหม่ พ.ศ. 2558)
  • 23 กันยายน 2546 - FreeStyle (วางจำหน่ายใหม่ พ.ศ. 2558, พ.ศ. 2559)
  • 28 กันยายน 2549 - X (10 years after)
  • 16 ธันวาคม 2554 - DayDreamer
  • 7 ตุลาคม 2560 - BEFORE SUNRISE AFTER SUNSET (แบบแยกขาย เพิ่มเพลง"ห้องดับจิต" กับ "วันใหม่")

อัลบัมใต้ดิน

[แก้]


ซีรีส์

[แก้]

•* 2559 - วงพาราด็อกซ์เป็นแขกรับเชิญซีรีส์เรื่อง Love song love series ตอน ฤดูร้อน ep.ที่6

ผลงานเขียน

[แก้]
หน้าปกหนังสือหนังสือบันทึกลึกลับ พาราด็อกซ์ เอกซ์)

บันทึกลึกลับ Paradox X

[แก้]
  • เขียนโดย อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา (ต้า) นักร้องนำ
  • วางจำหน่ายครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม–10 เมษายน พ.ศ. 2550 ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
  • เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 เมษายน 2550 ณ ร้านบีทูเอส สาขาเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า ในงานที่ชื่อว่า "10 ปีที่ผ่านมา และ 10 เพลง ที่ผ่านไป"[1]
  • ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 มีการเพิ่มรูปภาพในหน้า 108 มีการปรับเปลี่ยนการจัดวางหน้า เพิ่มข้อมูลที่ขาดหาย และแก้คำผิด
  • เนื้อหาว่าด้วยรายละเอียดต่าง ๆ ในการจัดทำอัลบัม X (Ten Years After) และ Paradox In Paradise เป็นการขยายปกซีดีให้กลายร่างมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม [2]
  • ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในหน้าคำนำว่าหนังสือเล่มนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ในการฟังดนตรี [2]การได้รับรู้การทำงานเบื้องหลังของแต่ละอัลบัมเป็นตัวเพิ่มอรรถรสในการฟังเพลง

ความฝันในแดนสนธยา

[แก้]
  • ชื่อภาษาอังกฤษเหมือนชื่ออัลบั้ม 6.2 Before Sunrise, After Sunset สำนักพิมพ์ Geek Book ในเครือโมโนกรุ๊ป
  • เขียนโดย ต้า - อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา นักร้องนำ
  • เปิดตัวครั้งแรกวันที่ 15 มีนาคม 2560
  • เนื้อหายังคงเป็นคู่มือการฟังเพลง และที่มาของ 22 เพลงใหม่ พร้อมบันทึกการทำงาน 10 ปี ในการจัดทำอัลบัม Before Sunrise, After Sunset[3]
  • แถมของสะสมชิ้นพิเศษ เป็นผ้าปิดปากสีดำ สกรีนโลโก้รูปหัวกะโหลกของวง PARADOX

รางวัล

[แก้]
  • รางวัลรถติดคนติด (เพลง ขอ จากอัลบัม Freestyle) : FAT AWARDS #2 (พ.ศ. 2547)[4]
  • รางวัลท่อนฮุคเฆี่ยนใจ (เพลง ขอ จากอัลบัม Freestyle) : FAT AWARDS #2 (พ.ศ. 2547)[4]
  • รางวัลศิลปินยอดนิยม : FAT AWARDS #5 (พ.ศ. 2550)[5]
  • รางวัลศิลปินยอดนิยม : FAT AWARDS 2010 (พ.ศ. 2554)[6]
  • รางวัลศิลปินกลุ่มแห่งปี : ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส์ ครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2554) จากอัลบั้ม DayDreamer
  • รางวัลศิลปินสามัคคีชุมชุน : bang award 2012
  • รางวัลเพลงยอดเยี่ยม สีสัน อวอร์ดส์ ครั้งที่ 24 (พ.ศ. 2555) จากเพลง "ลาลาลา"
  • รางวัลเพลงยอดเยี่ยม สีสัน อวอร์ดส์ ครั้งที่ 28 (พ.ศ. 2560) จากเพลง "รถไฟขบวนแห่งความฝัน" [7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ผู้จัดการรายสัปดาห์. เปลือย “พาราด็อกซ์”สัมผัสบั้นท้ายงานเพลง. เก็บถาวร 2018-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [19 สิงหาคม 2550]
  2. 2.0 2.1 อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา. บันทึกลึกลับ Paradox X. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : มาร์ส, 2550
  3. ความฝันในแดนสนธยา : Before Sunrise, After Sunset (บรรจุกล่อง : Set)
  4. 4.0 4.1 Siam Zone. ประกาศผลแล้ว รางวัลของคนดนตรี แฟต อวอร์ดส์ ครั้งที่ 2 16 เมษายน 2547
  5. Siam Zone. ประกาศผลแล้ว รางวัลของคนดนตรี แฟต อวอร์ดส ครั้งที่ 5 9 มีนาคม 2550
  6. you2play "ชัดเจนทุกรางวัล!! เป็นกลางทุกกระบวนการ กับ “Fat Awards 2010” เพลงดีที่คุณควรฟัง" เก็บถาวร 2011-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 16 กันยายน 2554
  7. Tatastudio เพจของพี่ต้า เผยความในใจหลังคว้าสีสันอวอร์ด ปี 2560

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]