ข้ามไปเนื้อหา

งูกินหาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

งูกินหาง เป็นการละเล่นพื้นเมืองเก่า เล่นกันทุกภาคของประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พบว่ามีการละเล่นงูกินหางกันแล้วในงานตรุษสงกรานต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2475 การเล่นงูกินหางเป็นการเล่นเลียนแบบชีวิตสัตว์   คือ เลียนแบบลักษณะท่าทางของงูที่มีลำตัวยาวเลื้อยคดไปคดมา นิยมเล่นในงานเทศกาล งานประจำปี และงานรื่นเริงต่างๆ ในสมัยก่อน งูกินหางส่วนมากสาวมอญไม่ค่อยได้เล่นเท่าไร เพราะไม่ค่อยสุภาพ คือฝ่ายผู้ชายกับฝ่ายผู้หญิงต้องมาจับมือถือแขนกัน ผู้ใหญ่ไม่นิยมที่จะมาเล่นสนิทสนมกัน ส่วนมากจะเป็นคนไทยเล่นกัน

วิธีการเล่น

[แก้]

- ผู้เล่นมีจำนวน 8-10 คน แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย

- ฝ่ายที่ 1 จะต้องเป็น “พ่องู” 1 คน ฝ่ายที่ 2 มี “แม่งู” 1 คน ที่เหลือเป็น “ลูกงู” ซึ่งผู้เล่นเป็นลูกงูจะต้องเกาะเอวผู้เล่นเป็นแม่งู

- จากนั้น พ่องูเริ่มถามว่า “แม่งูเอ๋ย” แม่งูและลูกงูก็ร้องตอบว่า “เอ๋ย” พอช่วงท้ายพ่องูถามว่า“กินหัว กินหาง” แม่งูตอบว่า “กินกลางตลอดตัว”

- พ่องูก็จะไล่จับลูกงูจากปลายแถว ฝ่ายแม่งูจะต้องกางมือเพื่อป้องกันลูก หากลูกงูตัวใดถูกพ่องูดึงจนหลุดออกจากแถวไป ก็จะต้องออกจากการเล่น

- ผู้เล่นที่เหลือก็เริ่มเล่นกันอีกจนกว่าลูกงูจะถูกจับจนหมด

เพลงประกอบการเล่น

[แก้]

พ่องู : “แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน”

แม่งู : “กินน้ำบ่อโศกโยกไปก็โยกมา” พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา

พ่องู : “แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน”

แม่งู : “กินน้ำบ่อหินบินไปบินมา” พร้อมแสดงอาการบินไปบินมา

พ่องู : “แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน”

แม่งู : “กินน้ำบ่อทรายย้ายไปย้ายมา” พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา

แม่งู:พ่องูเอ๋ย

พ่องู:เอ๋ย

แม่งู:กินหัวหรือกินหาง

พ่องู :กินกลางตลอดตัว