ข้ามไปเนื้อหา

งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน

พิกัด: 42°21′13″N 71°03′09″W / 42.3536°N 71.0524°W / 42.3536; -71.0524 (Boston Tea Party)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

42°21′13″N 71°03′09″W / 42.3536°N 71.0524°W / 42.3536; -71.0524 (Boston Tea Party)

งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน
ส่วนหนึ่งของ การปฏิวัติอเมริกา
ภาพ งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน โดย ดับลิว. ดี คูเปอร์
วันที่16 ธันวาคม ค.ศ.1773
สถานที่บอสตัน, รัฐแมสซาชูเซตส์
สาเหตุพระราชบัญญัติชา
เป้าหมายเพื่อประท้วงรัฐสภาอังกฤษเรื่องภาษีของชา "ไม่จ่ายภาษีถ้าไม่มีผู้แทน"
วิธีการโยนหีบชาทิ้งลงในท่าเรือบอสตัน
ผลพระราชบัญญัติเหลือทน
คู่ขัดแย้ง
ผู้นำ

งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (อังกฤษ: Boston Tea Party) เป็นการประท้วงทางการเมืองของกลุ่มซันส์ออฟลิเบอร์ตี (Sons of Liberty) ในบอสตันเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1773 เพื่อต่อต้านพระราชบัญญัติชา ลงวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1773 ของรัฐสภาบริเตนใหญ่ ผู้ประท้วง ซึ่งบางคนแต่งกายเป็นชาวอเมริกันพื้นเมือง ทำลายการลำเลียงชาทั้งหมดที่บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) จัดส่งมา โดยขึ้นเรือและโยนหีบชาลงทะเลที่ท่าบอสตัน รัฐบาลบริเตนโต้ตอบอย่างรุนแรง จนสถานการณ์บานปลายกลายเป็นการปฏิวัติอเมริกา งานเลี้ยงน้ำชานี้จึงเป็นเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ในหน้าประวัติศาสตร์อเมริกา และนับแต่นั้นก็มีผู้ประท้วงทางการเมืองหลายรายอ้างตนเป็นผู้สืบทอดเชิงประวัติศาสตร์ของการประท้วงที่บอสตัน เช่น กลุ่มขบวนการงานเลี้ยงน้ำชา (Tea Party movement)

งานเลี้ยงน้ำชาดังกล่าวเป็นความสุกงอมของขบวนการต่อต้านพระราชบัญญัติชาที่เกิดขึ้นทั่วดินแดนอเมริกาของบริเตน ชาวอาณานิคมต่อต้านพระราชบัญญัตินี้ เพราะเชื่อว่า ขัดต่อสิทธิของพวกเขาในฐานะชาวอังกฤษ ที่จะ "ไม่จ่ายภาษีถ้าไม่มีผู้แทน" กล่าวคือ จะยอมจ่ายภาษีให้แก่ผู้แทนที่พวกตนเลือกตั้งมาเท่านั้น ไม่ใช่แก่รัฐสภาบริเตนที่พวกตนไม่มีผู้แทนอยู่เลย เหล่าผู้ประท้วงประสบความสำเร็จในการขัดขวางไม่ให้ขนถ่ายชาภาษีจากบริเตนเข้าสู่อาณานิคมสามแห่ง แต่ในอาณานิคมบอสตัน ธอมัส ฮัตชิงสัน (Thomas Hutchinson) ผู้ว่าการซึ่งเตรียมพร้อมรบอยู่แล้ว ได้สั่งห้ามส่งชากลับคืนไปยังบริเตน

ใน ค.ศ. 1774 รัฐสภาบริเตนตอบสนองด้วยการตรากฎหมายที่เรียก "พระราชบัญญัติเหลือทน" (Intolerable Acts) หรือ "พระราชบัญญัติบีบคั้น" (Coercive Acts) ซึ่งให้การปกครองตนเองในแมสซาชูเซตส์สิ้นสุดลง และเลิกการค้าในบอสตัน นอกเหนือไปจากบทบัญญัติอื่น ๆ พลเมืองทั่วทั้งสิบสามอาณานิคมตอบโต้พระราชบัญญัติดังกล่าวโดยประท้วงหนักขึ้น และเรียกประชุมใหญ่ประจำทวีปครั้งที่หนึ่ง (First Continental Congress) ซึ่งมีมติให้ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์บริเตนให้ทรงยกเลิกพระราชบัญญัติและไกล่เกลี่ยการต่อต้านพระราชบัญญัติเหล่านั้น ทว่า วิกฤติการณ์ยากจะยุติ นำไปสู่สงครามปฏิวัติอเมริกาใน ค.ศ. 1775

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]