ข้ามไปเนื้อหา

งั่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งั่ง (ซ้าย) และเป๋อ (ขวา) ซึ่งเป็นเครื่องรางลักษณะเดียวกัน

งั่ง หรือ พระอีหง่าง ในภาษาไทยถิ่นอีสานและภาษาลาว เป็นเครื่องรางชนิดหนึ่งของของเขมร ได้รับการยอมรับนับถือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทางตอนใต้ของประเทศลาว โดยมีความเชื่อว่าหากพกพาหรือบูชา จะช่วยในเรื่องเมตตามหานิยม ค้าขายดี มีเสน่ห์ให้เพศตรงข้ามรัก และอยู่ยงคงกระพัน[1] ปัจจุบันถือเป็นเครื่องรางยอดนิยม มีมูลค่าตั้งแต่ไม่กี่บาทไปจนถึงหลักแสน[2]

ความเชื่อเรื่องงั่งมีความเป็นมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา[1] มีคติชนอธิบายที่มาของงั่งไว้ว่า มีชายผู้หนึ่งผิดหวังในความรักจึงจะออกบวช แต่ขณะกระทำพิธีอุปสมบทอยู่นั้น หญิงคนรักกลับมาขอคืนดี เขาจึงเปลี่ยนใจไม่บวชอีก แต่หลังจากนั้นก็เกิดอัศจรรย์ เพราะมีสาวใหญ่สาวน้อยมาลุ่มหลงติดพันไม่ขาดสาย จึงเรียกว่า งั่ง เพราะแทนที่เขาจะบวชเรียน แต่กลับไปลุ่มหลงกับกามตัณหาแทน หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผู้มีวิชาเชิงไสยศาสตร์ได้นำเรื่องราวนี้ไปทำเครื่องรางแทน โดยให้มีรูปลักษณ์แบบเดียวกับพระเครื่อง[3] บ้างก็ว่าเป็นรูปลักษณ์ของพระทุศีล[2] แต่พระครูธรรมวงศา เจ้าอาวาสวัดจอมเพชร แขวงจำปาสัก ประเทศลาว อธิบายว่า งั่ง ในภาษาลาว ใช้นำหน้าชื่อบุคคลที่มีอำนาจวิเศษอย่างเทพเจ้าหรือตัวละครในวรรณกรรม เช่น งั่งสีโห งั่งสังข์ทอง หรืองั่งสินไซ[4] และจากการวิจัยของทำนอง วงศ์พุทธ และคณะ (2559) อธิบายว่า ทั้งปลัดขิก พ่องัด และงั่ง เป็นเครื่องรางกลุ่มเดียวกันที่มีความหมายสื่อถึงพระศิวะ ซึ่งตกทอดจากความเชื่อในศาสนาพราหมณ์[4]

โดยมากงั่งจะมีลักษณะเป็นรูปบุคคลนั่งสมาธิ มีลักษณะคล้ายพระเครื่อง ร่างกายท่อนบนเปลือย ปลายเกศเอียงขวา หน้าตาดุดัน ปากแสยะยิ้ม ค่อนไปทางอัปลักษณ์ มีตาสีแดงซึ่งทำจากพลอยเทียม หรือหินสีแดง เป็นอาทิ[1][2] โดยมีเครื่องรางที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ พ่องัด ซึ่งมีท่านั่งชันเข่าใช้มือกำอวัยวะเพศชาย หากเป็นเพศหญิงเรียกว่า เป๋อ ซึ่งเปลือยกายนั่งถ่างขาเผยให้เห็นโยนี[5] และอีกชนิดเรียกว่าอิ่น เป็นรูปเพศชายกับเพศหญิงสวมกอดกันด้วยความรักใคร่[6]

ด้วยความที่งั่งได้รับการบูชาเพราะเชื่อว่าเสริมเสน่ห์และเป็นของต่ำ จึงต้องห้อยไว้ที่เอวใกล้ของสงวน ต้องบูชาด้วยประจำเดือนของสตรี[3] และเชื่อกันว่าผู้เลี้ยงงั่งไม่อาบน้ำหรือทำตัวสกปรกก็จะยิ่งเสริมอิทธิฤทธิ์แก่งั่ง เพราะงั่งชอบเกลือกกลั้วกับของสกปรก[1] โดยจะมีพิธีเลี้ยงใหญ่ในวันที่ 15 เมษายน หรือวันสงกรานต์ ด้วยการจัดอาหารสำรับใหญ่ ประกอบไปด้วยไก่ต้ม ไข่ต้ม ข้าว น้ำ และเหล้าขาว[1] ส่วนวิธีพิสูจน์ว่าเป็นงั่งจริงหรือปลอม กล่าวกันว่าให้วางงั่งคว่ำไปกับพื้น แล้วให้ผู้หญิงกระโดดข้าม หรือใช้ผ้าถุงของผู้หญิง งั่งจะพลิกตัวขึ้นมาจ้องคนทำ[1][2] และเล่ากันอีกว่า หากงั่งหายไป ให้ไปหาในชุดชั้นในหรือกางเกงในสตรี ถือเป็นเรื่องปกติ[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 เด็กชายผักอีเลิด (3 พฤศจิกายน 2565). ""งั่ง" เครื่องรางสายเสน่ห์ฤทธิ์เหลือร้าย และที่มาของคำด่า "ไอ้งั่ง"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ (3 พฤศจิกายน 2565). "เครื่องราง งั่งตาแดง แรงฤทธิ์โลกีย์?". สนุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 ทำนอง วงศ์พุทธ และคณะ (มกราคม–มิถุนายน 2559). ความเชื่อร่วมเรื่องเครื่องรางของขลังในเมืองชายแดน ไทย-ลาว-กัมพูชา. วารสารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 12 : 1 (2016). p. 316.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 ทำนอง วงศ์พุทธ และคณะ (มกราคม–มิถุนายน 2559). ความเชื่อร่วมเรื่องเครื่องรางของขลังในเมืองชายแดน ไทย-ลาว-กัมพูชา. วารสารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 12 : 1 (2016). p. 317.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  5. ทำนอง วงศ์พุทธ และคณะ (มกราคม–มิถุนายน 2559). ความเชื่อร่วมเรื่องเครื่องรางของขลังในเมืองชายแดน ไทย-ลาว-กัมพูชา. วารสารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 12 : 1 (2016). p. 315.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  6. ทำนอง วงศ์พุทธ และคณะ (มกราคม–มิถุนายน 2559). ความเชื่อร่วมเรื่องเครื่องรางของขลังในเมืองชายแดน ไทย-ลาว-กัมพูชา. วารสารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 12 : 1 (2016). p. 318.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)