ข้ามไปเนื้อหา

ประชาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ความรู้คิด)

ประชาน[1] หรือ ปริชาน[2] หรือ การรับรู้[3] (อังกฤษ: Cognition) เป็น "การกระทำหรือกระบวนการทางสมองเพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจผ่านความคิด ประสบการณ์ และประสาทสัมผัส"[4] ซึ่งรวมกระบวนการต่าง ๆ รวมทั้ง

ให้สังเกตว่า ประชานของมนุษย์มีทั้งแบบ "ใต้สำนึก" และ "เหนือสำนึก" เป็นไปในเรื่องทั้ง "รูปธรรม" และ "นามธรรม" ทั้งแบบ "รู้เอง" (intuitive เช่นการรู้ภาษา) และแบบ "นึกคิด" (conceptual เช่นการรู้หลักภาษา) กระบวนการทางประชานทั้งใช้ความรู้ที่มีอยู่และสร้างความรู้ใหม่ ๆ

กระบวนการนี้มีการวิเคราะห์ศึกษาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ วิสัญญีวิทยา ประสาทวิทยาศาสตร์ จิตเวชศาสตร์ จิตวิทยา การศึกษา ปรัชญา มานุษยวิทยา ชีววิทยา ระบบวิทยา ตรรกศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์[5][ต้องการเลขหน้า] ซึ่งรวมกับการวิเคราะห์การศึกษาทางด้านอื่น ๆ จะสงเคราะห์ลงในสาขาประชานศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาอิสระ

ในจิตวิทยาและปรัชญา แนวคิดเกี่ยวกับประชานสัมพันธ์กับแนวคิดทางจิตใจและเชาวน์ปัญญา รวมทั้งสมรรถภาพของใจ (mental function) ความคิด/กระบวนการทางใจ และสภาวะของสิ่งที่มีเชาวน์ปัญญา (รวมทั้งมนุษย์ กลุ่มที่ร่วมมือกัน องค์กรมนุษย์ เครื่องกลที่มีอิสระอย่างสูง และปัญญาประดิษฐ์)[6] ดังนั้น คำจึงใช้ต่าง ๆ กันในแต่ละสาขา

ยกตัวอย่างเช่น ในจิตวิทยาและประชานศาสตร์ คำว่า cognition ปกติจะหมายถึงมุมมองเกี่ยวกับการประมวลข้อมูลทางจิตใจของบุคคล ในสาขาจิตวิทยาสังคม social cognition (ประชานทางสังคม) หมายถึงปฏิบัติการของมนุษย์ต่อข้อมูลเกี่ยวกับมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์เช่นเดียวกัน หรือแม้แต่ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์อื่น เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมต่าง ๆ รวมทั้งทัศนคติ การอธิบายเหตุของการกระทำหรือเหตุการณ์ (attribution) และพลวัตของกลุ่ม[7] ส่วนในจิตวิทยาปริชาน (cognitive psychology) และวิศวกรรมประชาน (cognitive engineering) คำว่า cognition ปกติหมายถึงการประมวลข้อมูลในใจหรือสมองของผู้เข้าร่วมหรือผู้ดำเนินการ[6] กระบวนการทางประชานในเรื่องโดยเฉพาะบางอย่างอาจหมายสิ่งถึงที่เป็นปัญญาประดิษฐ์[8]

ประชานเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการคิดและการให้เหตุผล ซึ่งต่างจากการศึกษาแบบพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ที่มุ่งเน้นพฤติกรรมที่สังเกตได้เท่านั้น โดยมิได้สนใจกับกระบวนการคิดหรือกิจกรรมทางเชาวน์ปัญญาของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาประชานพิจารณาว่าจำเป็นต้องศึกษา เป็นการให้ความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าภายนอก (ที่ได้จากประสาทสัมผัสต่าง ๆ) กับสิ่งเร้าภายในซึ่งก็คือ กระบวนการทางประชานที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้

คำว่า "ประชาน" บางครั้งใช้ผิด ๆ เพื่อหมายถึง สมรรถภาพทางประชาน (cognitive abilities) หรือ ทักษะทางประชาน (cognitive skills)

รากคำอังกฤษ

[แก้]

คำว่า cognition มาจากคำกริยาภาษาละติน "cognosco" ซึ่งแยกเป็น con แปลว่า 'ด้วย' และ gnōscō แปล 'รู้' ซึ่งก็มาจากคำกริยากรีกโบราณ γι (γ) νώσκω (gi (g) nόsko) แปลว่า "ฉันรู้ ฉันทราบ" รวมเป็นความหมาย "คิด" หรือ "รู้จัก"[9]

กำเนิดในโลกตะวันตก

[แก้]

Cognition เป็นคำที่กลับไปถึงคริสต์ทศวรรษที่ 15 โดยหมายถึง "ความคิดและความสำนึก" (thinking and awareness)[10] แม้จะเป็นเรื่องที่ได้ความสนใจตั้งแต่ก่อน 1,800 ปีก่อนเริ่มตั้งแต่อาริสโตเติล ผู้สนใจในการทำงานของจิตใจและอิทธิพลของมันต่อประสบการณ์ชีวิต อาริสโตเติลได้เล็งความสนใจไปในด้านความจำ การรับรู้ (perception) และจินตภาพ โดยเน้นความสำคัญว่า การศึกษาจะต้องมีมูลฐานจากหลักฐานเชิงประสบการณ์ คือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากสังเกตการณ์และการทดลองที่ทำอย่างรอบคอบ[11]

หลังจากนั้นเป็นศตวรรษ ๆ เมื่อจิตวิทยาได้กลายเป็นสาขาที่กำลังเจริญรุ่งเรืองในยุโรปและอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปหลายท่านรวมทั้งวิลเฮล์ม วันด์ท, เฮอร์แมนน์ เอ็บบิงก์เฮาส์, แมรี่ คอลกินส์, และวิลเลียม เจมส์ จึงได้ฝากผลงานไว้ในสาขานี้

บิดาของจิตวิทยาชาวเยอรมัน ศ. ดร. วิลเฮล์ม วันด์ท ได้เน้นวิธีการที่เขาเรียกว่า การพินิจภายใน (introspection) ซึ่งหมายถึงการตรวจสอบความรู้สึกของตัวเองในบุคคล ที่บุคคลจะต้องระมัดระวังอธิบายความรู้สึกของตัวเองอย่างเป็นกลาง ๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้สมควรพิจารณาว่าเป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์[12][13] แม้ผลงานของ ดร. วันด์ทจะไม่ใช่น้อย แต่นักจิตวิทยาปัจจุบันก็มักเห็นว่าวิธีการนี้เป็นอัตวิสัยมาก และดังนั้น จึงเลือกใช้วิธีการทดลองที่เป็นปรวิสัยมากกว่าเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับกระบวนการทางประชานของมนุษย์

ส่วนนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ดร. เฮอร์แมนน์ เอ็บบิงก์เฮาส์ ได้ทำการศึกษาโดยหลักในเรื่องหน้าที่และความจุของความจำ ดร. เอ็บบิงก์เฮาส์ได้พัฒนาการทดลองของตัวเอง คือสร้างคำมีพยางค์กว่า 2,000 พยางค์ ซึ่งไม่ใช่คำที่ใช้จริง ๆ แล้วตรวจสอบสมรรถภาพของตัวเองในการเรียนรู้คำหล่านั้น เขาตั้งใจเลือกคำที่ไม่ใช่คำจริง ๆ เพื่อควบคุมอิทธิพลทางประสบการณ์ที่มีอยู่แล้วว่า คำหนึ่ง ๆ หมายความว่าอะไร ซึ่งทำให้ระลึกถึงคำได้ง่ายกว่า[12][14] เขาตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับตัวแปรต่าง ๆ ที่มีผลต่อสมรรถภาพในการเรียนรู้และระลึกถึงคำที่เขาสร้างขึ้น ตัวแปรอย่างหนึ่งที่สรุปก็คือ ระยะเวลาระหว่างการให้ดูรายการคำกับการระลึกถึงคำนั้น เขาเป็นบุคคลแรกที่บันทึกและวาด "เส้นโค้งการเรียนรู้" และ "เส้นโค้งการลืม"[15] งานของเขามีอิทธิพลอย่างสูงต่อการศึกษาเรื่องตำแหน่งในลำดับและผลของมันต่อความจำ ดังที่จะกล่าวต่อไป

นักจิตวิทยาทรงอิทธิพลชาวอเมริกัน ดร. แมรี่ คอลกินส์ เล็งความสนใจไปที่ความจุความจำของมนุษย์ ทฤษฎีสามัญอย่างหนึ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์ความใหม่ (recency effect) สามารถสาวไปยังงานศึกษาที่เธอได้ทำ[16] เป็นปรากฏการณ์ที่บุคคลสามารถระลึกถึงรายการสุดท้าย ๆ ที่ให้ดูตามลำดับได้อย่างแม่นยำ (ดังจะกล่าวต่อไป) ทฤษฎีของเธอสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับข้อสรุปและการทดลองเกี่ยวกับความจำของ ดร. เอ็บบิงก์เฮาส์[17]

ส่วนนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ศ. ดร. นพ. วิลเลียม เจมส์ เป็นบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งตามประวัติประชานศาสตร์ เขาไม่ชอบใจวิธีการพินิจภายในของ ดร. วันด์ท และการใช้สิ่งเร้าเป็นคำที่ไม่ใช่คำของ ดร. เอ็บบิงก์เฮาส์ เขาจึงได้เล็งความสนใจไปที่ประสบการณ์เรียนรู้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ และความสำคัญของมันในการศึกษาเรื่องประชาน ผลงานหลักของเขาก็คือตำรา หลักจิตวิทยา (Principles of Psychology) ที่ตรวจสอบเรื่องเบื้องต้นหลายด้านของประชานศาสตร์รวมทั้งการรับรู้ (perception) ความจำ การหาเหตุผล และการใส่ใจ เป็นต้น[17]

เมื่อใจสร้างนัยทั่วไปเช่นแนวคิดเรื่อง "ต้นไม้" มันจะดึงความคล้ายคลึงกันมาจากตัวอย่างมากมาย ทำเป็นแนวคิดง่าย ๆ ที่ช่วยให้สามารถคิดในระดับที่สูงขึ้นคือเป็นนามธรรมได้

ในจิตวิทยา

[แก้]

กระบวนการทางจิตใจที่เรียกว่า "ประชาน" ได้อิทธิพลจากงานวิจัยที่ได้ใช้แนวคิดเช่นนี้อย่างสำเร็จผลในอดีต โดยน่าจะเริ่มตั้งแต่ทอมัส อไควนัส ผู้ได้แบ่งการศึกษาพฤติกรรมออกเป็นหมวดหมู่กว้าง ๆ สองอย่าง คือ cognitive (ว่าเรารู้สิ่งรอบตัวได้อย่างไร) และ affective (ว่าเรารู้เรื่องรอบตัวผ่านความรู้สึกและอารมณ์ได้อย่างไร)[ต้องการอ้างอิง] เพราะเหตุนั้น คำเช่นนี้มักจะใช้กับกระบวนต่าง ๆ รวมทั้ง ความจำ การสัมพันธ์แนวคิด (association of Ideas) การสร้างแนวคิด (concept formation) การรู้จำแบบ ภาษา การใส่ใจ การรับรู้ (perception) การกระทำ การแก้ปัญหา และจินตภาพ[18][19]

โดยประวัติแล้ว อารมณ์ (emotion) ไม่รวมว่าเป็นกระบวนการทางประชาน แต่การแบ่งเช่นนี้ทุกวันนี้มองว่าเป็นเรื่องสร้างขึ้น และงานวิจัยในปัจจุบันก็กำลังตรวจสอบอารมณ์โดยเป็นส่วนของจิตวิทยาปริชาน งานวิจัยยังรวมการสำนึกถึงกลยุทธ์และวิธีการรับรู้ของตนเองที่เรียกว่า metacognition พร้อมทั้ง metamemory งานวิจัยเชิงหลักฐานในเรื่องประชานมักจะทำในรูปแบบวิทยาศาสตร์เชิงปริมาณ ซึ่งรวมการสร้างแบบจำลองเพื่ออธิบายหรือพรรณนาถึงพฤติกรรมบางอย่าง

แม้อาจยังมีคนที่ปฏิเสธว่ากระบวนการทางประชานเกิดที่สมอง แต่ทฤษฎีทางประชานก็ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงสมองหรือกระบวนการทางชีววิทยาอื่น ๆ เพราะศาสตร์กล่าวถึงพฤติกรรมโดยเป็นการดำเนินไปของข้อมูลหรือการทำงาน โดยมีสาขาภายหลังบางอย่าง เช่น ประชานศาสตร์และประสาทจิตวิทยา ที่หมายจะเชื่อมช่องว่างนี้ คือใช้หลักทางประชานเพื่อให้เข้าใจว่าสมองทำหน้าที่ประมวลข้อมูลเช่นนี้ได้อย่างไร หรือระบบประมวลข้อมูลแท้ ๆ (เช่น คอมพิวเตอร์) สามารถเลียนแบบกระบวนการทางประชานได้อย่างไร (ดูบทความปัญญาประดิษฐ์)

สาขาจิตวิทยาที่ศึกษาการบาดเจ็บในสมองเพื่ออนุมานหน้าที่ทางประชานที่เป็นปกติเรียกว่า cognitive neuropsychology ความสัมพันธ์ของประชานกับความกดดันทางวิวัฒนาการ จะศึกษาผ่านกระบวนการทางประชานของสัตว์ และในทางกลับกัน มุมมองทางวิวัฒนาการก็สามารถชี้สมมติฐานเกี่ยวกับจิตวิทยาวิวัฒนาการ ในภาวะสมองเสื่อม กระบวนการทางประชานจะเสียหายอย่างรุนแรง

เป็นกระบวนการทางสังคม

[แก้]

สังคมมนุษย์เป็นสิ่งแวดล้อมที่เด็กเกิดใหม่จะต้องเรียนรู้การเข้าสังคมและพัฒนากระบวนการทางประชาน ยกตัวอย่างเช่น การรับรู้ใบหน้า (face perception) ในเด็กทารกจะเริ่มเกิดตั้งแต่อายุ 2 เดือน เด็กเล็ก ๆ ที่สนามเด็กเล่นหรือสระว่ายน้ำจะพัฒนาการรู้จำทางสังคมโดยเห็นรูปหน้าต่าง ๆ แล้วสัมพันธ์ประสบการณ์กับใบหน้าเหล่านั้น ระบบการศึกษามีหน้าที่โดยเฉพาะในสังคมเพื่อพัฒนาระบบประชาน คือจะมีการเลือกว่าอะไรจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางสังคมของเด็ก แล้วสร้างกิจกรรมที่ให้ประสบการณ์

การรู้ภาษาเป็นตัวอย่างของ emergent behavior (พฤติกรรมอุบัติ) ที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมย่อย ๆ ทำให้เกิดการรู้ภาษาที่ดูว่าไม่น่าจะเกิดจากพฤติกรรมย่อย ๆ เหล่านั้น จากมุมมองใหญ่ ๆ กระบวนการทางประชานพิจารณาว่าสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการใช้ชีวิตและการอยู่ในกฎเกณฑ์ของสังคมมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น การเลือกรูปแบบใหญ่ ๆ ของคุณครูจะมีอิทธิพลต่อการเลือกแบบน้อย ๆ ของนักเรียน

ทฤษฎีพัฒนาการทางประชานของเพียเจต์

[แก้]

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่นักสังคมวิทยาและจิตวิทยาได้ศึกษาเรื่องพัฒนาการทางประชาน หรือกระบวนการความคิด หรือกระบวนการทางใจ ฌ็อง เพียเจต์ (Jean Piaget) เป็นบุคคลสำคัญและทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ เขาเชื่อว่ามนุษย์พิเศษเทียบกับสัตว์อื่นเพราะมีสมรรถภาพในการ "คิดหาเหตุผลทางสัญลักษณ์ที่เป็นนามธรรม" ในปัจจุบันนี้ เขาเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ศึกษาในเรื่องพัฒนาการทางประชานของเด็ก เขาได้ศึกษาพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของลูก 3 คนของตน แล้วสร้างทฤษฎีที่อธิบายระยะพัฒนาการของเด็ก[20]

ระยะพัฒนาการของเด็กโดยฌ็อง เพียเจต์[21]
ระยะ อายุหรือช่วง รายละเอียด
Sensorimotor ทารก (0-2 ขวบ) มีเชาวน์ปัญญา มีการเคลื่อนไหวแต่ยังไม่ใช้สัญลักษณ์ ความรู้กำลังพัฒนาขึ้นแต่ยังจำกัด ความรู้จะเกิดอาศัยประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ การไปเองได้จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ทักษะทางภาษาบางอย่างจะพัฒนาในช่วงท้ายของระยะนี้ จุดหมาย (ของพัฒนาการทางประชาน) ก็เพื่อเข้าใจว่า วัตถุมีอยู่อย่างคงที่ เข้าใจเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับเหตุผล กาลเวลา และปริภูมิ
Pre-operational เด็กหัดเดินและต้นวัยเด็ก (2-7 ขวบ) มีการใช้สัญลักษณ์และภาษา มีพัฒนาการทางความจำและจินตนาการ มีความคิดที่กลับไม่ได้ (nonreversible) และไม่สมเหตุผล สามารถแก้ปัญหาแบบรู้เอง (intuitive) เริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ เริ่มเข้าใจการนับ การคิดเอาตัวเองเป็นศูนย์จะเป็นหลัก
Concrete operational เด็กประถมและต้นวัยรุ่น (7-12 ขวบ) รูปแบบเชาวน์ปัญญาที่สมเหตุผลและเป็นระบบ สมรรถภาพในการจัดการสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นรูปธรรม ความคิดกลับได้และสามารถคิดในฐานะของผู้อื่น เข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับความคงที่ของมวล ความยาว น้ำหนัก และปริมาตร การคิดแบบใช้งานได้ (operational thinking) จะครอบงำความคิดแบบกลับไม่ได้และมีตัวเองเป็นศูนย์
Formal operational วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ (12 ปีขึ้น) การใช้สัญลักษณ์สัมพันธ์กับแนวคิดทางนามธรรมที่สมเหตุผล ความคิดจะยืดหยุ่นได้ มีสมรรถภาพในการคิดแบบนามธรรมและการทดสอบสมมติฐานทางความคิด สามารถพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้ในการหาเหตุผลและการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน

การทดลองสามัญ

[แก้]

ตำแหน่งตามลำดับ (Serial position)

[แก้]

การทดลองแบบ "ตำแหน่งตามลำดับ (serial position)" หมายจะทดสอบทฤษฎีความจำที่อ้างว่า เมื่อให้ข้อมูลตามลำดับ เรามักจะจำข้อมูลที่ต้นลำดับได้ ซึ่งเรียกว่า ปรากฏการณ์ต้นลำดับ (primacy effect) และจะจำข้อมูลที่ท้ายลำดับได้ ซึ่งเรียกว่า ปรากฏการณ์ความใหม่ (recency effect) ด้วยเหตุนั้น ข้อมูลที่กลางลำดับจึงมักจะลืม หรือไม่สามารถระลึกได้ง่ายเท่า

งานศึกษาแนวนี้ได้ชี้ว่า ปรากฏการณ์ใหม่สุดมีกำลังกว่าปรากฏการณ์ต้นลำดับ เพราะข้อมูลที่เรียนรู้ล่าสุดยังอยู่ในความจำใช้งาน (working memory) เมื่อให้ระลึก ข้อมูลที่เรียนรู้ตั้งแต่ต้นก็ยังต้องผ่านกระบวนการระลึกถึง เป็นการทดลองที่มุ่งตรวจกระบวนการความจำของมนุษย์[22]

การจำคำได้ดีกว่า (Word superiority)

[แก้]

การทดลองนี้แสดงคำ หรืออักษรหนึ่งเดี่ยว ๆ เป็นช่วงระยะสั้น ๆ แก่ผู้ร่วมการทดลอง เช่นเป็นระยะ 40 มิลลิวินาที แล้วให้ระลึกถึงอักษรที่อยู่ในตำแหน่งโดยเฉพาะในคำ ทฤษฎีพยากรณ์ว่า ผู้ร่วมการทดลองควรจะสามารถระลึกถึงอักษรที่ปรากฏในคำได้ถูกต้องกว่าอักษรที่ปรากฏโดด ๆ งานทดลองนี้พุ่งความสนใจไปที่การพูดและการรู้ภาษาของมนุษย์[23]

Brown-Peterson

[แก้]

การทดลองบราวน์-ปีเตอร์สัน จะให้ผู้ร่วมการทดลองดู trigram (อาจเป็นหน่วยเสียง พยางค์ อักษร คำ) ต่อกัน 3 หน่วยชุดหนึ่งที่ใช้ในการทดลอง แล้วก็จะให้งานที่สองเพื่อเบนความสนใจ คือให้กำหนดว่า คำต่าง ๆ ตามลำดับเป็นคำจริง ๆ หรือไม่ใช่คำ (เนื่องจากการสะกดผิดเป็นต้น) หลังจากนั้น ก็จะให้ระลึกถึง trigram ที่แสดงให้ดูก่อนงานเบนความสนใจ โดยทฤษฎีแล้ว งานที่สองยิ่งยาวเท่าไร ก็จะระลึกถึง trigram ยากขึ้นเท่านั้น การทดลองนี้ทดสอบความจำระยะสั้นของมนุษย์[24]

ช่วงความจำ (Memory span)

[แก้]

ในการทดลองช่วงความจำ (memory span) ผู้ร่วมการทดลองจะได้ฟังลำดับสิ่งเร้าชนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคำ ตัวเลข หรือตัวอักษร บางครั้งที่ฟังดูคล้ายกัน และบางครั้งที่ฟังดูต่างกัน หลังจากนั้น ก็จะให้ระลึกถึงลำดับสิ่งเร้าที่ได้ตามลำดับ ในรูปแบบหนึ่งของการทดลอง ถ้าสามารถระลึกรายการได้ถูกต้อง ก็จะให้ฟังรายการที่ยาวขึ้น 1 หน่วย ถ้าระลึกผิด ก็จะลดลง 1 หน่วย ทฤษฎีก็คือว่า มนุษย์มีช่วงความจำสำหรับเลข 7 เบอร์ สำหรับอักษร 7 อักษรที่มีเสียงต่างกัน และคำ 7 คำสั้น ๆ โดยช่วงความจำจะน้อยกว่าถ้าอักษรมีเสียงคล้ายกัน หรือเป็นคำยาว ๆ[25]

การหาด้วยตา (Visual search)

[แก้]

ในรูปแบบหนึ่งของการหาด้วยตา (visual search) ผู้ร่วมการทดลองจะเห็นหน้าต่างคอมพิวเตอร์ที่แสดงรูปวงกลมและสี่เหลี่ยมจตุรัสกระจายไปทั่ว และจะต้องกำหนดว่ามีวงกลมสีเขียวอยู่ในหน้าต่างหรือไม่

ในรูปแบบ "feature" (เด่น) ผู้ร่วมการทดลองจะเห็นหน้าต่างที่มีเหลี่ยมจตุรัสหรือวงกลมสีน้ำเงิน (ซึ่งเป็นตัวเบนความสนใจ) กับวงกลมสีเขียวหรือไม่มีเลย ส่วนในรูปแบบ conjunctive (เชื่อม) ผู้ร่วมการทดลองจะเห็นหน้าต่างที่มีวงกลมสีน้ำเงินหรือเหลี่ยมจตุรัสสีเขียว กับวงกลมสีเขียวหรือไม่มีเลย ในรูปแบบทั้งสอง จะถามผู้ร่วมการทดลองว่ามีวงกลมสีเขียว (เป้าหมาย) ในหน้าต่างหรือไม่

สิ่งที่คาดหวังก็คือ ในรูปแบบเด่น เวลาการตอบสนอง ซึ่งก็คือเวลาที่ใช้เพื่อกำหนดว่ามีเป้าหมายหรือไม่ จะไม่เปลี่ยนเพิ่มตามจำนวนตัวเบนความสนใจที่เพิ่มขึ้น ส่วนในรูปแบบเชื่อม การหาเป้าหมายจะใช้เวลานานกว่าเมื่อไม่มีเป้าหมาย

ทฤษฎีก็คือ ในแบบเด่น การหาว่ามีเป้าหมายหรือไม่จะง่ายเพราะสีของเป้าหมายจะต่างจากสีของตัวเบนความสนใจ ส่วนในแบบเชื่อม เมื่อไร้เป้าหมาย เวลาการตอบสนองจะเพิ่มเพราะต้องดูรูปแต่ละรูปเพื่อกำหนดว่าเป็นเป้าหมายหรือไม่ เพราะตัวเบนความสนใจบางรูปมีสีเดียวกันกับเป้าหมาย แต่ถ้ามีเป้าหมายก็จะใช้เวลาน้อยกว่า เพราะเมื่อพบเป้าหมายก็จะไม่ต้องดูรูปที่เหลือ[26]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "Cognition", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (ปรัชญา) ประชาน
  2. "Cognition", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (ภาษาศาสตร์) ปริชาน
  3. "Cognition", Lexitron พจนานุกรมไทย<=>อังกฤษ รุ่น 2.6, หน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2546, การรับรู้
  4. "cognition - definition of cognition in English from the Oxford dictionary". www.oxforddictionaries.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-08. สืบค้นเมื่อ 2016-02-04. the mental action or process of acquiring knowledge and understanding through thought, experience, and the senses
  5. Von Eckardt, Barbara (1996). What is cognitive science?. Massachusetts: MIT Press. ISBN 9780262720236.
  6. 6.0 6.1 Blomberg, O. (2011). "Concepts of cognition for cognitive engineering". International Journal of Aviation Psychology. 21 (1): 85–104. doi:10.1080/10508414.2011.537561.
  7. Sternberg, R. J.; Sternberg, K. (2009). Cognitive psychology. Belmont, CA: Wadsworth, Cengage Learning.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  8. Boundless. Anatomy and Physiology. Boundless, 2013. p. 975.
  9. Franchi, Stefano; Bianchini, Francesco. "On The Historical Dynamics Of Cognitive Science: A View From The Periphery". The Search for a Theory of Cognition: Early Mechanisms and New Ideas. Rodopi, 2011. p. XIV.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  10. Cognition: Theory and Practice by Russell Revlin
  11. Matlin, Margaret (2009). Cognition. Hoboken, NJ: John Wiley & Sons, Inc. p. 4.
  12. 12.0 12.1 Fuchs, A. H.; Milar, K.J. (2003). "Psychology as a science". Handbook of psychology. 1 (The history of psychology): 1–26. doi:10.1002/0471264385.wei0101.
  13. Zangwill, O. L. (2004). The Oxford companion to the mind. New York: Oxford University Press. pp. 951–952.
  14. Zangwill, O.L. (2004). The Oxford companion to the mind. New York: Oxford University Press. p. 276.
  15. Brink, TL (2008). Psychology: A Student Friendly Approach. Unit 7: Memory, p. 126.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  16. Madigan, S.; O'Hara, R. (1992). "Short-term memory at the turn of the century: Mary Whiton Calkin's memory research". American Psychologist. 47 (2): 170–174. doi:10.1037/0003-066X.47.2.170.
  17. 17.0 17.1 Matlin, Margaret (2009). Cognition. Hoboken, NJ: John Wiley & Sons, Inc. p. 5.
  18. Coren, Ward & Enns (1999). Sensation & Perception (5th ed.). p. 9.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  19. Best, John B (1999). Cognitive Psychology (5th ed.). pp. 15–17.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  20. Cherry, Kendra. "Jean Piaget Biography". The New York Times Company. สืบค้นเมื่อ 2012-09-18.
  21. Parke, R. D; Gauvain, M. (2009). Child psychology: A contemporary viewpoint (7th ed.). Boston, MA: McGraw-Hill.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  22. Surprenant, A (2001). "Distinctiveness and serial position effects in total sequences". Perception and Psychophysics. 63 (4): 737–745. doi:10.3758/BF03194434. PMID 11436742.
  23. Krueger, L. (1992). "The word-superiority effect and phonological recoding". Memory & Cognition. 20 (6): 685–694. doi:10.3758/BF03202718.
  24. Nairne, J.; Whiteman, H.; Kelley, M. (1999). "Short-term forgetting of order under conditions of reduced interference". Quarterly Journal of Experimental Psychology A: Human Experimental Psychology. 52: 241–251. doi:10.1080/713755806.
  25. May, C.; Hasher, L.; Kane, M. (1999). "The role of interference in memory span". Memory & Cognition. 27 (5): 759–767. doi:10.3758/BF03198529. PMID 10540805.
  26. Wolfe, J.; Cave, K.; Franzel, S. (1989). "Guided search: An alternative to the feature integration model for visual search". Journal of Experimental Psychology: Human Perception and Performance. 15 (3): 419–433. doi:10.1037/0096-1523.15.3.419.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Coren, Stanley; Lawrence M. Ward; James T. Enns (1999). Sensation and Perception. Harcourt Brace. p. 9. ISBN 0-470-00226-3.
  • Lycan, W.G., (ed.). (1999). Mind and Cognition: An Anthology, 2nd Edition. Malden, Mass: Blackwell Publishers, Inc.
  • Stanovich, Keith (2009). What Intelligence Tests Miss: The Psychology of Rational Thought. New Haven (CT): Yale University Press. ISBN 978-0-300-12385-2.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]