คลองหลอด
คลองหลอด เป็นคลองขุดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2326 เมื่อครั้งย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาอยู่ฝั่งพระนคร เชื่อมคลองคูเมืองเดิมออกไปบรรจบกับคลองรอบกรุง มี 2 คลอง เรียกกันตามลักษณะของคลองว่า "คลองหลอด"
- คลองหลอดวัดราชนัดดา เริ่มจากคลองคูเมืองเดิมตรงระหว่างโรงแรมรัตนโกสินทร์กับวัดบุรณศิริมาตยาราม ผ่านถนนตะนาว วัดมหรรณพาราม ถนนดินสอ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วัดราชนัดดาราม และถนนมหาไชย ไปบรรจบกับคลองรอบกรุงตรงบริเวณวัดราชนัดดาราม คลองนี้เดิมเรียกชื่อ "คลองหลอด" ไม่มีชื่อเฉพาะ แต่ต่อมาเรียกกันตามจุดที่ผ่าน เช่นเรียกว่า "คลองบุรณศิริฯ" "คลองวัดมหรรณพ์" "คลองวัดราชนัดดา" และ "คลองวัดเทพธิดา"
- คลองหลอดวัดราชบพิธ เริ่มจากคลองคูเมืองเดิมตรงวัดราชบพิธ ผ่านถนนราชบพิธ ถนนดินสอ ถนนมหาไชย บรรจบคลองรอบกรุง ตอนเหนือสะพานดำรงสถิต คลองนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "คลองสะพานถ่าน" แต่เรียกเป็นทางการว่า "คลองวัดราชบพิธ"
ประวัติ
[แก้]คลองหลอดทั้ง 2 คลอง "หลอดวัดราชนัดดา" และ "หลอดวัดราชบพิธ" ขุดตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ให้ขุดคลองรอบกรุง แล้วโปรดฯ ให้ขุด "คลองหลอด" ขึ้น 2 คลอง
คลองหลอดเป็นคลองสำหรับชักน้ำระหว่างคลองคูเมืองเดิม (คูเมืองธนบุรีฟากตะวันออก) กับคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่ คลองตอนบนขุดตั้งแต่ข้างวัดบุรณศิริ (เมื่อขุดคลองเจ้าพระยาสุธรรมมนตรียังไม่สร้างวัดบุรณศิริ ต่อขุดคลองแล้วจึงสร้างวัดใกล้ ๆ คลอง) คลองหลอดสายนี้ตรงลิ่วไปออกข้างวัดเทพธิดา (เมื่อขุดยังไม่ได้สร้างวัดเทพธิดาเช่นกัน ต่อเมื่อสร้างวัดเทพธิดาและวัดราชนัดดาในรัชกาลที่ 3 คลอดหลอดสายนี้จึงอยู่ระหว่างวัดเทพธิดา และวัดราชนัดดาบ้าง) แล้วจึงออกคลองรอบกรุง
ส่วนคลองหลอดตอนล่างสุดตั้งแต่ข้างวัดราชบพิธ (เมื่อขุดยังไม่สร้างวัดราชบพิธเช่นกัน วัดราชบพิธเพิ่งจะสร้างในรัชกาลที่ 5 เวลาขุดคลองแถบนั้นยังเป็นบ้านเรือนขุนนาง และอาจเป็นที่ว่าง ๆ เป็นสวนเป็นป่าละเมาะบ้าง) ขุดตรงลิ่วไปออกคลองรอบกรุง ข้าง ๆ สวนรมณียนาถในปัจจุบัน และเพราะมีท่าซื้อขายถ่านอยู่ท่าหนึ่ง สะพานข้ามคลองแถบนั้น จึงเรียกกันว่าสะพานถ่าน ต่อมาเป็นชุมชนของผู้หญิง ซึ่งสมัยโน้นเรียกกันว่า โสเภณี เป็นที่รู้จักกันในหมู่บุรุษสมัยกระโน้น)
คลองหลอดทั้ง 2 คลองตั้งแต่สมัยแรกขุดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นคลองกว้างขวาง จึงใช้เป็นคลองสัญจรไปมา นอกจากชักน้ำ
เมื่อปี พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เรียกชื่อคลองทั้งสองนี้ว่า "คลองหลอดวัดราชนัดดาราม" และ "คลองหลอดวัดราชบพิธ"
อ้างอิง
[แก้]- http://dds.bma.go.th/Csd/canal_h7.htm เก็บถาวร 2005-05-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- คลองหลอด เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ คลองหลอด
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์