ข้ามไปเนื้อหา

ครอบจักรวาล (พืช)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ครอบจักรวาล
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Malvales
วงศ์: Malvaceae
สกุล: Abutilon
สปีชีส์: A.  hirtum
ชื่อทวินาม
Abutilon hirtum
(Link) Sweet[1]
ชื่อพ้อง[2] [3]
รายการ
  • Abutilon graveolens (Roxb. ex Hornem.) Wight & Arn.
  • Abutilon graveolens var. hirtum (Lam.) Mast.
  • Abutilon graveolens var. queenslandicum Domin
  • Abutilon heterotrichum Hochst. ex Mattei
  • Abutilon hirtum var. heterotrichum (Hochst. ex Mattei) Cufod
  • Abutilon indicum var. hirtum (Lam.) Griseb.
  • Abutilon indicum var. yuanmouense K.M.Feng
  • Abutilon kotschyi Hochst. ex Webb
  • Abutilon lugardii Hochr. & Schinz
  • Napaea incurva Moench
  • Sida graveolens Roxb. ex Hornem.
  • Sida hirta Lam.
ภาพประกอบ ของ A. hirtum

ครอบจักรวาล (ชื่อวิทยาศาสตร์: Abutilon hirtum) เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กในวงศ์ชบา มีถิ่นกำเนิดและแพร่กระจายในในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน มักใช้เป็นพืชสมุนไพร ถูกระบุุว่าเป็นวัชพืชต่างถิ่นรุกรานในหมู่เกาะเขตร้อนบางแห่ง ครอบจักรวาล มักสับสนกับ ครอบฟันสี (A. indicum) ที่อยู่ในสกุลเดียวกันและมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

ครอบจักรวาล (A. hirtum) เป็นไม้ยืนต้นหรีือไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 2.5 เมตร ลำต้น ก้านใบ และก้านดอก มีความหนืดเหนียวและมีขนนุ่ม ขนยาว 2-5 มม.[4]

ใบ รูปหัวใจ ค่อนข้างกลมปลายแหลม ยาว 5–7 ซม. ก้านใบยาวถึง 8 ซม. ขอบใบจักคล้ายซี่ฟันหยาบ ๆ (dentate) ด้านล่างมีขนมากกว่าด้านบน [5]

ดอก เดี่ยว ออกตามซอกใบ สามารถเติบโตกลายเป็นปลายยอดใบได้ รูปดอกค่อนข้างกลมหรือค่อนไปทางห้าเหลี่ยม ก้านดอกยาว 2-3.5 ซม. เป็นติ่งช่วงปลายก้าน กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 12-27 มม. กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองหรือออกส้ม กลีบดอกหมุนเกลียวและทับซ้อนกันเล็กน้อยเมื่อบานเต็มที่กลีบยาว 18-20 มม. กลางดอก (โคนกลีบดอก) เป็นสีแดงเข้ม หรือ สีแดงม่วง ก้านเกสรยาว 7 มม. ก้านชูอับเรณูสั้น 4 มม. อับเรณูสีเหลืองมี 20-25 เส้น [6][7]

ผล ทรงกลมแป้นหัวตัด เป็นรูปเฟือง มีฟัน 20–22 ซีก ผลยาว 12-14 มม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2 ซม. แต่ละซีก (mericarp) ปลายค่อนข้างมน ในส่วนขอบบนของผลหักเป็นมุมฉากและอาจมีส่วนยื่นออกมาเล็กน้อย มีขนหนาแน่นรอบผล ยาว 1 มม. เมล็ดยาว 2.4-2.8 มม. เมื่อผลแห้งซีกของผลปริออกเห็นเมล็ดด้านในบรรจุ 3 เมล็ดในแต่ละซีก [6][7]

ครอบจักรวาล (A. hirtum ) มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกับ ครอบฟันสี (A. indicum) แต่ครอบจักรวาลมีลักษณะเด่น คือ ขอบใบจักคล้ายซี่ฟันหยาบ ๆ ตลอดขอบใบ ก้านใบสั้นกว่า ก้านดอกยาวกว่า กลางดอก (โคนกลีบดอก) เป็นสีแดงเข้ม

อนุกรมวิธานและการตั้งชื่อ

[แก้]

ครอบจักรวาล (Abutilon hirtum) ได้รับการตั้งชื่อจากตัวอย่างที่มาจากประเทศอินเดียในปีพ. ศ. 2369 ชื่อ Abutilon มีต้นกำเนิดที่เป็นไปได้หลายทาง ได้แก่ กรีก เอเชียใต้ หรืออาหรับ ส่วนใหญ่เชื่อว่ามีที่มาจาก abu (บิดาของ) ในภาษาอาหรับ และ tula หรือ thula ในภาษาเปอร์เซีย (แปลว่า แมงลัก - mallow หรือ ชบา - Malva) ส่วน hirtum เป็นการอ้างอิงถึงเส้นขน [6]

ครอบจักรวาล หรือ ครอบจักรวาฬ จัดอยู่ในวงศ์ชบา Malvaceae ชื่ออื่น: Indian mallow, Florida Keys Indian mallow, Indian abutilon

การแพร่กระจายและถิ่นกำเนิด

[แก้]

พบในแอฟริกา เอเชียเขตร้อน และออสเตรเลีย เป็นวัชพืชที่ขึ้นได้ทั้งในป่าไม้ พุ่มไม้ ทุ่งหญ้าสะวันนา ทุ่งหญ้ารกทึบ ริมถนน ริมรั้ว มักอยู่ใกล้แหล่งน้ำและสถานที่ชุ่มชื้นอื่น ๆ [6] เติบโตได้ดีในดินเหนียวและดินที่เป็นด่าง ยังสามารถเติบโตได้ในที่ราบลุ่มไปจนถึงที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,800 เมตร [4]

นิเวศวิทยา

[แก้]

ครอบจักรวาล (A. hirtum) ไม้พุ่มที่เป็นทั้งสมุนไพร และเป็นวัชพืชทั่วไปที่ได้รับการระบุว่าเป็นวัชพืชต่างถิ่นรุกรานใน คิวบา เฟรนช์โปลินีเซีย และนิวแคลิโดเนีย แต่ยังไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคามในระดับสูง ครอบจักรวาลมีแนวโน้มว่าจะได้รับการแนะนำในบางประเทศเพื่อใช้เป็นยาแผนโบราณ เส้นใยเพื่ออุตสาหกรรม และเป็นไม้ประดับ ปัจจุบันไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับระดับการรุกรานหรือผลกระทบของสิ่งมีชีวิตที่เป็นทางการ ครอบจักรวาลเป็นวัชพืชทางการเกษตรที่ร้ายแรงในประเทศกานา ไทย ไนจีเรีย และซูดาน และเป็นวัชพืชทั่วไปในอินเดีย [6]

การใช้ประโยชน์

[แก้]

ครอบจักรวาล ใช้ในการแพทย์แผนโบราณเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาอาการท้องร่วง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และรักษาบาดแผล สารสกัดจากใบของครอบจักรวาล แสดงฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านมของมนุษย์ [6] ใช้เพื่อทำให้การคลอดบุตรง่ายขึ้นและเพื่อขับไล่รก [4]

ใบ ใช้บ่มหนองฝีให้แตกเร็ว [4] [5] ยังอาจใช้เป็นอาหารแพะ อูฐ [6]

ต้น ใช้บำรุงโลหิตและขับลม [5]

ราก ใช้แก้เป็นลม แก้ระดูขาวในสตรี [5]

เส้นใยเปลือกไม้ถูกรายงานว่าใช้สำหรับเสื้อผ้าและการทำเชือก [6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Abutilon indicum". Pacific Island Ecosystems at Risk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-26. สืบค้นเมื่อ 2008-06-18.
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ WCSP
  3. http://www.theplantlist.org/tpl/record/kew-2610681
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-02. สืบค้นเมื่อ 2020-11-04.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 https://landgreenday.blogspot.com/2019/07/blog-post_18.html
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 https://www.cabi.org/isc/datasheet/119788#tosummaryOfInvasiveness
  7. 7.0 7.1 http://www.dnp.go.th/botany/Herbarium/Archives/PlantGeneraOfThailand/abutilon.html