คณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ประเทศไทย
การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ (อังกฤษ: Thailand Mathematical Olympiad: TMO) เป็นหนึ่งในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติของประเทศไทย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ประวัติ
[แก้]การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติจัดครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2547 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดิมเรียกว่า การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ (Thai Mathematical Olympiad หรือ TMO) เป็นการแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างผู้แทนจากศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ โดยจำลองรูปแบบการแข่งขันมาจากแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Mathematical Olympiad: IMO) [1]
กติกาและรูปแบบการแข่งขัน
[แก้]การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติจัดการสอบแข่งขันเป็นแบบอัตนัย โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 วิชาหลัก ได้แก่ ทฤษฎีจำนวน พีชคณิต เรขาคณิต และคอมบินาทอริก ในปัจจุบัน การสอบแบ่งเป็น 2 วัน มีข้อสอบวันละ 5 ข้อ ใช้เวลา 4 ชั่วโมง 30 นาที สำหรับการออกข้อสอบ คณะกรรมการจากศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศส่งข้อสอบพร้อมเฉลยให้กรรมการกลางของมูลนิธิ สอวน. เพื่อคัดเลือก ปรับแก้ข้อสอบ และออกเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อสอบได้มาตรฐานสากล อาจารย์ของแต่ละศูนย์มีโอกาสได้ร่วมพิจารณาและตรวจข้อสอบ
ผลการแข่งขันจัดเป็นระดับเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานที่ตกลงกันระหว่างคณะกรรมการกลางกับอาจารย์จากทุกศูนย์ นักเรียนที่มีคะแนนอันดับที่ 1- 25 จะได้รับการคัดเลือกส่งเข้าร่วมการแข่งขันในโครงการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ต่อไป[2]
การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา
[แก้]การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก สอวน. ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2547 มีการสอบ 2 วัน วันแรกประกอบด้วยข้อสอบ 21 ข้อ เป็นโจทย์ที่มีแนวคิดสั้น ให้เติมคำตอบ ข้อละ 1 คะแนน และวันที่สองประกอบด้วยข้อสอบ 6 ข้อ ข้อละ 7 คะแนน ให้แสดงวิธีทำอย่างละเอียด ทั้งสองวันให้เวลา 3 ชั่วโมง รางวัลแบ่งออกเป็นระดับดีเลิศ (อันดับที่ 1), ดีเยี่ยม (เหรียญทอง), ดีมาก (เหรียญเงิน), และดี (เหรียญทองแดง) ในปีถัดมา การแข่งขันครั้งที่ 2 มีการจัดสอบรูปแบบเดิม แต่เพิ่มเวลาวันที่สองเป็น 4 ชั่วโมง ในการจัดแข่งขันครั้งที่ 3 และ 4 การสอบวันแรกประกอบด้วยข้อสอบ 18 ข้อ ลดลงจากครั้งที่ 1 และ 2
การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก สอวน. ครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2551 ได้เปลี่ยนรูปแบบการสอบวันแรกเล็กน้อย ประกอบด้วยข้อสอบ 10 ข้อ ข้อละ 2 คะแนน แต่ให้แสดงวิธีทำ รูปแบบการแข่งขันครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 เหมือนกับการแข่งขันครั้งที่ 5
การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก สอวน. ได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ในการแข่งขันครั้งที่ 6 ที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นเจ้าภาพ การแข่งขันครั้งที่ 6 มีความสำคัญที่เป็นช่องทางเดียวในการผ่านเข้าค่ายโอลิมปิก สสวท. รอบตุลาคม โดยทั่วไปจนถึงปัจจุบัน นักเรียนที่ได้รับรางวัลเหรียญทองและเหรียญเงินโดยประมาณ จะผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมค่ายโอลิมปิก สสวท. ที่ผ่านมาจนถึงการแข่งขันครั้งที่ 5 นักเรียนที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก สอวน. จะต้องเข้าสอบคณิตศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย สสวท. (Thailand Mathematical Olympiad: ThMO) รอบ 2 รวมกับนักเรียน 50 คนที่ผ่านการสอบคณิตศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย สสวท. รอบที่ 1 เพื่อคัดเลือกนักเรียนราว 25 คน การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก สสวท. แบ่งเป็นเหรียญทอง 4 เหรียญ, เหรียญเงิน 8 เหรียญ, และเหรียญทองแดง 13 เหรียญโดยประมาณ ให้เหรียญรางวัลน้อยกว่าการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก สอวน.
เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน ก่อนการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 6 ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ไม่ได้เข้าค่าย สอวน. เดือนตุลาคม เข้าสอบคณิตศาสตร์ สอวน. รอบพิเศษ เพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าค่าย สอวน. เดือนมีนาคมต่อไป ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 นักเรียนทุกคนที่ประสงค์เข้าค่าย สสวท. ล้วนต้องผ่านการอบรมจากค่าย สอวน. (ยกเว้นผู้แทนโอลิมปิกระหว่างประเทศวิชาอื่นที่ประสงค์เปลี่ยนสาขาการแข่งขัน) และเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ผู้ที่เข้าร่วมค่าย สสวท. เดือนตุลาคม แต่ไม่ผ่านเข้าค่าย สสวท. รอบสุดท้าย 15-20 คน (เดือนธันวาคม, มีนาคม, และเมษายน) หรือเรียกโดยลำลองว่าค่ายฟอสซิลคณิตศาสตร์ จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมการสอบคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ สอวน. (อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 1x มีการบังคับไม่ให้นักเรียนเข้าสอบคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติที่มาจากค่าย สสวท. มากกว่า 1 ครั้ง มิเช่นนั้นจะต้องไปเข้าค่าย สอวน. ตั้งแต่ต้นใหม่)
การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8 ในปี พ.ศ. 2554 ได้เปลี่ยนรูปแบบการจัดสอบ โดยทั้ง 2 วัน ให้เวลาสอบวันละ 4 ชั่วโมง มีข้อสอบวันละ 6 ข้อ ข้อละ 7 คะแนนให้แสดงวิธีทำอย่างละเอียด การแข่งขันครั้งที่ 9 ได้ใช้การแข่งขันรูปแบบเดียวกัน แต่เพิ่มเวลาเป็นวันละ 4.5 ชั่วโมง และมีการเปลี่ยนแปลงการจัดสอบโดยนักเรียนที่ไม่ผ่านค่าย สสวท. เดือนตุลาคม ในปีก่อนหน้า จะไม่ถูกนับไปในเกณฑ์รางวัลและไม่ได้รางวัล นักเรียนกลุ่มนี้ต้องทำคะแนนให้ได้ระดับเหรียญทองจึงจะมีสิทธิ์กลับมาเข้าร่วมค่าย สสวท. เดือนตุลาคม การแข่งขันครั้งที่ 10 ได้ใช้รูปแบบข้อสอบเดียวกับการแข่งขันครั้งที่ 9 การแข่งขันครั้งที่ 11 ได้ลดจำนวนข้อสอบลงเป็นวันละ 4 ข้อ ข้อละ 7 คะแนน ให้เวลาวันละ 4 ชั่วโมง
การแข่งขันครั้งที่ 12 ในปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนรูปแบบการสอบเป็นวันละ 5 ข้อ ข้อละ 7 คะแนน ให้เวลาวันละ 4.5 ชั่วโมง ในปี พ.ศ. 2561 ศูนย์ สอวน. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (ซึ่งแต่เดิมส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันได้ 3 ทีม ทีมละ 6 คน ตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 1 ต่างจากศูนย์อื่นที่ส่งได้เพียง 1 ทีม) ได้แตกออกเป็น 3 ศูนย์ ได้แก่ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, และศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งได้ศูนย์ละ 1 ทีมสำหรับการแข่งขันครั้งที่ 16 พ.ศ. 2562
การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติที่ผ่านมา
[แก้]ผู้ชนะการแข่งขัน 3 อันดับแรก
[แก้]ครั้งการแข่งขัน | อันดับ 1 | อันดับ 2 | อันดับ 3 |
---|---|---|---|
20 | ภัทรพล ใจเย็น, ธฤษณุธัช กริ่มใจ | สิรวุฒิ อัศวรุจิกุล | |
19 [4] | ชยุต วงศ์วิชยาภรณ์, กรชวัลร์ ตันติวิเศษศักดิ์ | นพรุจ แซ่ด่าน | |
18 [5] | สิรวิชญ์ พิพิธธนาบรรพ์ | อติกันต์ หวลเจริญทนต์ | ธราดล จิตซื่อ |
17 [6] | พัฒนแสง พินิจพิชิตกุล | วริทธิ์ วิริยประสิทธิ์ชัย | แพรวพรรณ ลี่ดำรงวัฒนากุล |
16 | ปารพิม อัตตาหกุล, กรพลกฤต วีระอาชากุล | ศรัณยู ทองจรัส, ณัฐดนัย จารุทิกร | |
15 | อริสรา จิรชัยกิตติ | ก้องภพ ปิยะกมลานนท์ | รัชชานนท์ เพชรชู |
14 | วศิน มีเสนา | พร้อม เกิดโภคทรัพย์ | ณัฐดนัย ธรรมเป็นจิตต์, นรบดี วัชรปรีชานนท์ |
13 | ปพณ ละเภท | ศุภกฤต คชสาร | อานุภาพ ช่วยเจริญสุข |
12 | ฉัทชนัน สุริยาอมรานนท์ | นญ กังวานธีรวัฒน์, จิรายุส จินาพงษ์ | |
11 | วรัชญ์ วีระนนท์ชัย | วิณ สุพันธุ์วณิช | พสิษฐ์ จินดานุวัฒน์ |
10 | ปวัตน์ แก้วฤทธิ์ | พันธกานต์ อุไพศิลป์สถาพร | |
9 | จักรกฤษณ์ นันทศรี | จักรวาล ก้องกิตต์ไพศาล | |
8 | พัฒรัฐ ช่างประหยัด | ชยานนท์ ขัตติยาภิรักษ์ | พชร เศวตมาลย์ |
7 | วีรชัย นีรนาทวงศ์ | ธนัท โกมลสิริภักดี | ณัฐนิชา เทพพรพิทักษ์ |
6 | เจษฎา โพดาพล | ณัฐ โสธนะพันธุ์ | นิพิฐ เจริญงาม |
5 | นิปุณ ปิติมานะอารี | วีรชัย นีรนาทวงศ์ | กิตติธัช ตันติธนวัฒน์ |
4 | ธีรวัจน์ พุทธิศักดิ์แสง | วีรภัทร พัฒนศรี | สิระ ศิลธรรม |
3 | |||
2 | สรธัญ จิระกาล | พชรพล สุเทพารักษ์ | ปพน เกียรติสกุลเดชา |
1 | ภานุพงศ์ ภาสุภัทร | ภควัต ผลิตนนท์เกียรติ | ธนวิต แซ่ซือ |
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ
- ↑ ธรรมนูญคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ
- ↑ "The 17 th Thailand Mathematical Olympiad". มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - โรงเรียนโยธินบูรณะ. สืบค้นเมื่อ 2019-06-19.
- ↑ "TMO 19". www.facebook.com.
- ↑ พิธีปิด การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 18 (TMO18), สืบค้นเมื่อ 2021-11-30
- ↑ "The 17th Thailand Mathematical Olympiad". sites.google.com. สืบค้นเมื่อ 2020-12-11.