ข้ามไปเนื้อหา

ขบวนการอาเจะฮ์เสรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขบวนการอาเจะฮ์เสรี
Gerakan Aceh Merdeka
มีส่วนร่วมในสถานการณ์ความไม่สงบในอาเจะฮ์

ธง

ตรา
ปฏิบัติการ4 ธันวาคม ค.ศ. 1976 – ค.ศ. 2005
แนวคิดชาตินิยมอาเจะฮ์
แบ่งแยกดินแดน
ลัทธิอิสลาม
ผู้นำฮะซัน ดิ ตีโร
พื้นที่ปฏิบัติการเมือง ภูเขา และป่าในจังหวัดอาเจะฮ์

ขบวนการอาเจะฮ์เสรี (อินโดนีเซีย: Gerakan Aceh Merdeka; GAM; อาเจะฮ์: Geurakan Acèh Meurdèka / Gěrakan Aceh Měrdeka)[1] หรือ กัม หรือ แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะฮ์สุมาตรา (อังกฤษ: Aceh Sumatra National Liberation Front) เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เรียกร้องเอกราชในบริเวณอาเจะฮ์ที่อยู่ในเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย การต่อสู้ด้วยความรุนแรงขององค์กรยุติลงหลังจากการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลอินโดนีเซีย เมื่อ พ.ศ. 2548 ปัจจุบันรัฐบาลอินโดยนีเซียเรียกกลุ่มนี้ว่า ขบวนการก่อกวนความปลอดภัยในอาเจะฮ์ (Aceh Security Disturbance Movement)

ภูมิหลัง

[แก้]

ต้นกำเนิดของการต่อสู้ของขบวนการไม่ได้มาจากแรงบันดาลใจทางศาสนาเพียงอย่างเดียวแต่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ร่วมด้วย อาเจะฮ์ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของเนเธอร์แลนด์.[2]เช่นเดียวกับอาณานิคมอื่นๆในอินโดนีเซียที่ประกาศเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2492 อาเจะฮ์เลือกรวมเข้ากับสาธารณรัฐอินโดนีเซียเมื่อ พ.ศ. 2502 โดยทางรัฐบาลกลางยอมให้อาเจะฮ์คงเอกลักษณ์ของตนเองที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม รวมทั้งการใช้กฎหมายอิสลาม การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของซูฮาร์โต ทำให้ ฮะซัน ดี ติโร ซึ่งสืบเชื้อสายาจากสุลต่านองค์สุดท้ายของอาเจะฮ์ก่อตั้งขบวนการอาเจะฮ์เสรี เมื่อ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2519.[3] และประกาศเอกราชของอาเจะฮ์ โดยประกาศว่าอาเจะฮ์ถูกปกครองในฐานะอาณานิคมของชวา

สงครามกองโจร

[แก้]

ในช่วงแรก สงครามกองโจรของขบวนการอาเจะฮ์เสรีไม่ประสบความสำเร็จและถูกรัฐบาลควบคุมได้ใน พ.ศ. 2520[4] ต่อมา กลุ่มได้มีการปรับองค์กรใหม่เมื่อราว พ.ศ. 2523 โดยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากลิเบียและอิหร่าน แต่เนื่องจากกิจกรรมของกลุ่มไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง การดำเนินงานของกลุ่มเป็นเหตุให้รัฐบาลซูฮาร์โตส่งทหารเข้ามาปราบปรามอย่างรุนแรงจนเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเจะฮ์

ใน พ.ศ. 2539 รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศว่ากิจกรรมของขบวนการอาเจะฮ์เสรีในอาเจะฮ์สิ้นสุดลงแล้วแต่การปราบปรามอย่างรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป พ.ศ. 2542 มีการประกาศถอนกำลังทหารออกจากอาเจะฮ์แต่ปรากฏว่ายังมีกองทหารราว 35,000 คนในอาเจะฮ์ในสมัยรัฐบาลของนางเมกาวตี ซูการ์โนบุตรีเมื่อ พ.ศ. 2545 คาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งนี้ถึง 15,000 คน

การเจรจาสันติภาพ

[แก้]

ผู้นำของขบวนการอาเจะฮ์เสรีที่สำคัญรวมทั้ง ฮะซัน ดี ติโร ได้ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่สวีเดน กลุ่มนี้เริ่มเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลเมื่อราว พ.ศ. 2533 โดยการประสานงานของรัฐบาลสวีเดน ใน พ.ศ. 2542 ขบวนการอาเจะฮ์เสรี แตกแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มดั้งเดิม (มีอีกชื่อหนึ่งว่าแนวร่วมปลดปล่อยชาติอาเจะฮ์แห่งสุมาตรา) และกลุ่มสภาแห่งรัฐขบวนการอาเจะฮ์เสรี ในช่วง พ.ศ. 2545 – 2547 ขบวนการถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างหนัก ผู้นำคนสำคัญ เช่น อับดุลลอหฺ ไซเฟอีย์ ถูกสังหาร เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2545

ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนืองจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ทำให้ขบวนการอาเจะฮ์เสรีประกาศสงบศึกเมื่อ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2547 และยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอินโดนีเซีย หลังจากนั้นได้มีการประชุมเจรจาสันติภาพระหว่างกันเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 [5]ที่ประเทศฟินแลนด์และมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548 โดยรัฐบาลอินโดนีเซียยอมถอนกำลังทหารและตำรวจที่ไม่ใช่ของท้องถิ่นออกไปภายในสิ้นปี พ.ศ. 2548 และนิรโทษกรรมให้สมาชิกขบวนการอาเจะฮ์เสรีราว 500 คนที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และปล่อยสมาชิกอีกราว 1,400 คนที่ถูกฝ่ายรัฐบาลคุมขัง ยอมให้มีการตั้งพรรคการเมืองท้องถิ่นขึ้นในอาเจะฮ์ ต่อมา 27 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ผู้นำของขบวนการอาเจะฮ์เสรีประกาศยกเลิกกองกำลังติดอาวุธ โดยประกาศจะเข้าร่วมกิจกรรมในสังคมเพื่อสร้างสันติภาพ

ในการเลือกตั้งเมื่อ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ขบวนการอาเจะฮ์เสรีแตกออกเป็นสองส่วน และต่างส่งผู้สมัครของตนเองลงรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ อิรวันดี ยูซุฟที่เคยเป็นผู้เจรจาของขบวนการอาเจะฮ์เสรีได้รับการเลือกตั้ง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Ricklefs, M.C. (2008). History of Modern Indonesia Since c. 1200. Stanford University Press. p. 364.
  2. Ross, M L 2003 Resources and Rebellion in Aceh Indonesia, UCLA United States
  3. Rabasa, A & Haseman, J 2002, The Military and Democracy in Indonesia: Challenges, Politics, and Power, Rand Corporation United States.
  4. Schulze,K , 2003 The Free Aceh Movement (GAM): Anatomy of a Separatist Organization, East West Centre, Washington
  5. Billon, P, Waizenegger,Peace in the wake of disaster? Secessionist conflicts and the 2004 Indian Ocean tsunamiBlackwell Publishing A

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]