กำแพงเจ็ดชั้น
กำแพงเจ็ดชั้น | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Rosids |
อันดับ: | Celastrales |
วงศ์: | Celastraceae |
สกุล: | Salacia |
สปีชีส์: | S. chinensis |
ชื่อทวินาม | |
Salacia chinensis |
กำแพงเจ็ดชั้น (ชื่อวิทยาศาสตร์: Salacia chinensis) เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ในวงศ์ Celastraceae ชื่ออื่น ๆ ตะลุ่มนก (ราชบุรี) ตาไก้ (พิษณุโลก) น้ำนอง มะต่อมไก่ (เหนือ) หลุมนก (ใต้) ขอบกระด้ง พรองนก (อ่างทอง) ขาวไก่ เครือตากวาง ตากวาง ตาไก่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กระดุมนก (ประจวบคีรีขันธ์) เปลือกลำต้นเรียบสีเทานวลหรือสีน้ำตาลอมขาว เปลือกล่อนงาย เนื้อไม้มีวงปีสีน้ำตาลแดงเข้มจำนวนหลายชั้นเห็นชัดเจน เรียงซ้อนกันเป็นชั้น 7-9 ชั้น ใบเดี่ยว ผิวใบเรียบเป็นมัน แผ่นใบห่อเข้าเล็กน้อย ดอกเดี่ยว ออกตามง่ามใบหรือซอกกิ่ง สีเขียวอมเหลือง เนื้อผลสีขาว[1]
กำแพงเจ็ดชั้นเป็นพืชที่นำไปใช้เป็นพืชสมุนไพรอย่างแพร่หลาย โดยทั่วไปใช้ ต้น ต้มน้ำดื่ม หรือดองสุรา แก้ปวดเมื่อย บำรุงโลหิต ฟอกโลหิต แก้โลหิตเป็นพิษหรือเป็นส่วนผสมของยาระบาย รักษาโรคตับอักเสบ แก้หืด แก้เบาหวาน ราก ใช้ต้มหรือดองสุราดื่ม ขับโลหิตระดู บำรุงโลหิต แก้ลมอัมพฤกษ์ รักษาโรคตา บำรุงน้ำเหลือง ใบ แก้มุตกิด ขับระดู ดอก แก้บิดมูกเลือด แก่นและราก ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบาย แก้เส้นเอ็นอักเสบ ทางจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ เนื้อไม้ ต้มน้ำดื่ม แก้โรคไต แก้ท้องผูก ยาระบาย แก้ลมตีขึ้น ลำต้นผสมกับยาอื่นใช้แก้ปวดเมื่อย ยาระบาย แก้ริดสีดวงทวาร ขับปัสสาวะ ทางจังหวัดนครราชสีมาใช้ ลำต้น บำรุงโลหิต โดยใช้ลำต้นต้มน้ำดื่มวันละ 1-2 ช้อนชา ก่อนอาหารเช้า-เย็น ชาวกัมพูชาใช้ เถา ต้มน้ำดื่ม แก้โรคเบาหวาน[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 หน้า 14
- ↑ กำแพงเจ็ดชั้น-ฐานข้อมูลเครื่องยา